“ปธ.-รองปธ.สภากทม.” แถลงผลงาน 2 ปี หลังหมดวาระ สะท้อนปัญหาลงพื้นที่ผ่าน 109 ญัตติ ตั้งคณะกก.-จับมือ หลายฝ่ายแก้ปัญหาปชช. / เปิดประชุมเลือกประธาน ชุดใหม่ 6 มิ.ย. โผสก.ใหม่ทั้ง 3 คน ปธ.ไม่ติดถือเป็นมิติใหม่ภาพคนรุ่นใหม่ชวนคนติดตามมากขึ้น
วันที่ 5 มิ.ย. 2567 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง นายอำนาจ ปานเผือก รองประธาน สภาฯ คนที่สอง และ นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภาฯ แถลงผลงานในวาระการดำรงตำแหน่ง ครบรอบ 2 ปี ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง
นายวิรัตน์ กล่าวว่า สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ชุดปัจจุบัน เป็นชุดที่ 13 เริ่มทำหน้าที่ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี วันที่ 5 มิ.ย. 2567 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร(สภากทม.) ได้ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อสะท้อนปัญหาจากการลงพื้นที่ของ สก. จากนั้นจึงรวบรวมนำมาเป็นกระทู้ ญัตติ เพื่อนำมาอภิปรายให้ฝ่ายบริหารกทม. รับทราบ และเร่งแก้ปัญหา โดยได้ประชุมสภาจำนวน 40 ครั้ง มีกระทู้ถามของ สก. 53 กระทู้ เรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว 54 เรื่อง เรื่องที่ผู้ว่าฯกทม.เสนอ 32 เรื่อง และมี สก.เสนอญัตติด้วยกันทั้งหมด 109 เรื่อง และเสนอญัตติด้วยวาจา ทั้งหมด 23 ญัตติ นอกจากนี้ยังได้เปิดให้ประชาชน ร่วมรับฟังการประชุมสภาฯด้วย
“สภากทม.ชุดนี้มาจากการเลือกตั้งพร้อมกับฝ่ายบริหารผู้ว่าฯกทม. เรามาจากความหวังของประชาชน ก็พยายามทำนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ในส่วนของสภากทม.มี นโยบายหลัก 5 เรื่อง ที่ผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ให้ได้ เราสก.ทั้ง 50 เขตทำงานหนักกันมากลงพื้นที่ ติดตามคณะกรรมการด้านต่างๆ เพื่อแก้ไข ปัญหาให้พี่น้องประชาชน และฝากไปถึงสภาผู้แทนราษฎรในการผลักดันพ.ร.บ.กฎหมายแม่ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการออกกฎหมายลูกได้ เช่นเรื่องรถ EV ซึ่งเราทำไม่ได้ ในอีก 2 ปี ที่เหลือสภากทม.ก็จะพยายามผลักดันเข้มข้นขึ้น และทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน” นายวิรัตน์กล่าว
นายวิรัตน์ ยังกล่าวถึงการทำงานของสภากทม. อีกว่า ได้จัดตั้งคณะกรรมการ จำนวน 12 คณะ เพื่อร่วมติดตาม ตรวจสอบการทำงานครบทุกมิติ รวมถึงยังมีคณะกรรมการวิสามัญ ที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องต่างๆ จำนวน 24 คณะ ขณะเดียวกันสภากทม.ได้จัดให้มีการเยี่ยมชมสภากทม. เพื่อเปิดโอกาสให้คนทำงานได้สะท้อนปัญหา อุปสรรคของการปฏิบัติหน้าที่ให้ สก.ได้รับทราบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาแนวทางการแก้ไข เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้มีประสิทธิภาพจำนวน 4 ครั้ง
อีกทั้ง สภากทม.ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงาน ภายในและภายนอก ต่อเนื่องถึงจังหวัดปริมณฑล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต่อยอดการทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคที่มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การประปานครหลวง (กปน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) การรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง ขณะเดียวกันยังประสานให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) เข้ารับฟังความคิดเห็นของ สก. เพื่อนำ มาเป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และความต้องการของประชาชน รวมถึงเชิญจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เข้าชี้แจงผลการศึกษาและนำเสนอแนวทางการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จาก สก.ที่มีต่อแนวความคิดการจัดทำ (ร่าง) แผนขั้นตอนการดำเนินงาน (Road Map) เพื่อให้เกิดการทำงานที่ครอบคลุม รอบด้าน ตลอดจน การบริหารงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดปริมณฑล ซึ่งมีพื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพฯ โดยจัดประชุมกับ 2 จังหวัด ปริมณฑล คือ จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และร่วมกันหารือ เรื่องการจัดการน้ำท่วม น้ำทะเล กัดเซาะชายฝั่ง และการจัดการขยะ
ในส่วนของภารกิจด้านการต่างประเทศ สภากทม.ได้เดินหน้าสานสัมพันธ์ กระชับมิตร สภาบ้านพี่เมืองน้องอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันสภากทม.ได้ทำข้อตกลง ความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเมืองต่างๆ ทั้งหมด 9 ประเทศ 17 เมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหารจัดการเมือง การท่องเที่ยว การขนส่งสาธารณะ การศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารงานของสภากทม.
ทั้งนี้ ประธานสภากทม.ชุดนี้ครบวาระ 2 ปี ในวันที่ 5 มิ.ย. 2567 ซึ่งจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อเลือกประธานสภากรุงเทพมหานคร รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง คนที่สอง ชุดใหม่ ในวันที่ 6 มิ.ย. 2567 เวลา 10.00 น. โดยมี รายงานข่าวว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง คือ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขต ลาดกระบัง ประธานสภากรุงเทพมหานคร นายวิพุธ ศรีวะอุไร สก. เขตบางรัก รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง และ นายฉัตรชัย หมอดี สก. เขตบางนา รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่สอง ซึ่งทั้ง 3 คน เป็น สก.สมัยแรก ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย ในเรื่องนี้
นายวิรัตน์ เปิดเผยว่า “มุมมองส่วนตัว สก.ทุกท่านมีประสบการณ์อย่าไปดูว่าเพิ่งมาเป็น สก.ใหม่ แต่ไปดูประสบการณ์ย้อนหลังซึ่งแต่ละท่านผ่านงานบริหารมาแล้ว เป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพ การเป็นประธานต้องมาทำงานบริหารองค์กร ทั้ง 3 ท่านเคยได้บริหารมาแล้วก็นำมาใช้กับตำแหน่งนี้ ได้ สภากทม.เรา อยู่ในมุมมืดมา 9 ปี มายุคนี้ก็เห็นว่า 3 ท่านเป็นคนรุ่นใหม่มี FC สื่อออนไลน์ เป็นภาพลักษณ์ที่ดี ในการประชาสัมพันธ์สภากทม. ถือเป็น มิติใหม่ในการติดตามสภากทม.มากขึ้น ใครเข้ามาบริหารก็คือมาทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน”
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 6 มิ.ย. 2567