Search
Close this search box.
เล็งปั้นสวนลำสลิดทอง ซอยอยู่วิทยา 7 เตรียมพัฒนาสวนบึงน้ำใส ถนนเชื่อมสัมพันธ์ ซอย 11 ชมคัดแยกขยะสำนักงานขนส่งพื้นที่ 4 เขตหนองจอก

5 มิ.ย. 67) เวลา 12.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตหนองจอก ประกอบด้วย

สำรวจสวน 15 นาที สวนลำสลิดทอง ซอยอยู่วิทยา 7 ถนนอยู่วิทยา และพัฒนาสวน 15 นาที สวนบึงน้ำใส ถนนเชื่อมสัมพันธ์ ซอย 11 ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตหนองจอก และประชาชนในพื้นที่ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้บริเวณสวนลำสลิดทอง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตลอดจนเพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว ประกอบด้วย ต้นเหลืองปรีดียาธร ต้นทองอุไร ต้นบานบุรี ต้นสะเดา เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) คือสวนไม้มงคล 76 จังหวัด พื้นที่ 12 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) ได้แก่ 1.สวนเลียบวารีภิรมย์ ถนนเลียบวารี 21 พื้นที่ 7 ไร่ โดยใช้พื้นที่ 5 ไร่ จัดทำสวนหย่อมสำหรับเดินวิ่งออกกำลังกาย ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะ แปลงปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ส่วนพื้นที่อีก 2 ไร่ อยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่ใช้สอยต่อไป 2.สวนน้ำพระยาปลา ถนนประชาสำราญ พื้นที่ 8 ไร่ ดำเนินการแล้วเสร็จ 3.สวนไผ่คลองลำแขก ถนนเลียบคลองลำแขก พื้นที่ 5 ไร่ อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ จัดทำสวน ปลูกสร้างศาลา จัดทำทางเดิน ห้องน้ำ ลานจอดรถ 4.สวนโคกบ่อยาวบึงแตงโม ถนนมิตรไมตรี พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา จัดทำเป็นสวนหย่อมสำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ตัดแต่งต้นไม้ ขุดปรับพื้นที่ให้เป็นบ่อน้ำ จัดทำทางเดินวิ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างปลูกสร้างอาคารและจัดสวน 5.สวนบึงน้ำใส ถนนเชื่อมสัมพันธ์ ซอย 11 พื้นที่ 7 ไร่ อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่และออกแบบสวน 6.สวนเลียบคลองลำไทร ถนนลำไทร พื้นที่ 1 ไร่ อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่และออกแบบสวน 7.สวนฉลองกรุง ถนนฉลองกรุง พื้นที่ 4 ไร่ อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่และออกแบบสวน 8.สวนลำสลิดทอง ซอยอยู่วิทยา 7 ถนนอยู่วิทยา อยู่ระหว่างออกแบบสวน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการหรือทำกิจกรรมได้อย่างแท้จริง

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 ถนนร่วมพัฒนา พื้นที่ 9 ไร่ มีข้าราชการและบุคลากร 95 คน ประชาชนผู้มาใช้บริการ 1,800 คน/วัน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรและประชาชนคัดแยกขยะเศษอาหาร บริเวณจุดทิ้งขยะในโรงอาหารของสำนักงาน ตั้งวางถังรองรับขยะเศษอาหาร และนำไปรวบรวมบริเวณถังพักขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ภายในอาคาร เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดจะคัดแยกขยะจากจุดทิ้งขยะแยกประเภทแต่ละชั้นที่ตนเองรับผิดชอบ เมื่อได้จำนวนมากจะนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ของเจ้าหน้าที่นั้น ๆ ส่วนภายนอกอาคาร เจ้าที่รักษาความสะอาด จัดเก็บขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว เมื่อได้จำนวนมากจะนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ แก้วพลาสติกบางส่วนจะนำไปเป็นภาชนะเพาะเลี้ยงต้นกล้า เช่น ต้นมะละกอ ต้นกะเพรา ต้นพริก หรือเพาะชำต้นไม้ ส่วนโรงอาหาร ผู้ประกอบการร้านค้า ตั้งวางถังคัดแยกขยะ ติดป้ายประชาสัมพันธ์ประเภทขยะเพื่อให้บุคลากรและประชาชนได้คัดแยกขยะให้ถูกที่ 3.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังรองรับขยะทั่วไป และกำหนดจุดทิ้งขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บขยะ 1 ครั้ง/สัปดาห์ 4.ขยะอันตราย มีพื้นที่จัดเก็บโดยแยกใส่ถุงดำ และแยกใส่ถังขยะอันตราย สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 400 กิโลกรัม/เดือน

ในการนี้มี นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหนองจอก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200