Search
Close this search box.
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ แชร์ประสบการณ์ตรงสายบริหารงานเขต แนะว่าที่ ผอ.เขต สร้างแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง

(5 มิ.ย. 67) เวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายหลักสูตรเตรียมผู้อำนวยการเขต รุ่น 1 ประจำปี พ.ศ. 2567 โครงการพัฒนาศักยภาพของนักบริหารและเตรียมความพร้อมการเป็นผู้นำในการปฏิบัติภารกิจของเมืองในอนาคต โดยมี ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ประเภทอำนวยการ ระดับต้น และผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ร่วมโครงการ ณ อาคาร 3 ชั้น 2 ศูนย์การเรียนรู้มหานคร สถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในการทำงาน ในฐานะที่เคยเป็นผู้อำนวยการเขต รวมถึงภารกิจงานของสำนักเทศกิจ ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบ คือการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า หาบเร่-แผงลอย การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ความสำเร็จในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าเกิดขึ้นได้จาก 3 บุคคลในสำนักงานเขต คือ ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้ค้าในพื้นที่ ซึ่งมีความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญในการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้า พร้อมให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนและตั้งวางแผงค้า เช่น ตลาดปลาสวยงาม ถนนกำแพงเพชร 4 เขตจตุจักร หน้าวัดแขก ถนนสีลม เขตบางรัก หน้าตลาดห้วยขวาง เขตดินแดง หน้าโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน ถนนหลังสวน เขตปทุมวัน การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ไม่ได้เป็นการยกเลิกทำการค้าหรือไม่ให้ขายของ แต่เป็นการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น ประชาชนและผู้ค้าสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

จากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558 (มาตรา 69) กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการเขต อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ตำแหน่งผู้อำนวยการเขตเปรียบเสมือนการก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่มากขึ้น ซึ่งคำว่าอำนาจแบ่งได้เป็น 3 อย่าง ได้แก่ 1.อำนาจและบารมี คือได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ 2.อำนาจและประเพณี คือได้รับการถ่ายทอดต่อกันมา 3.อำนาจตามกฎหมาย คือเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย

“อำนาจหน้าที่เป็นของที่ได้มาไม่ยาก แต่การใช้อำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องเหมาะสมนั้น นับว่ายากยิ่งกว่า อำนาจหน้าที่ที่แท้จริงแล้ว จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการตอบรับและเกิดความร่วมมือจากผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นสำคัญ” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว

จากนั้น รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวถึงสมรรถนะประจำผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 7 ข้อ ดังนี้ 1.เห็นคุณค่าในตัวคน ให้คุณค่ากับผู้ปฏิบัติงาน มุ่งผนึกกำลังและความสามารถ เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวทั้งความคิดและความรู้สึก 2.สร้างสรรค์ความร่วมมือ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเครือข่าย ความร่วมมือในองค์กร โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นพื้นฐาน 3.คิดไปข้างหน้า คาดการณ์ไปในกาลข้างหน้า พร้อมกับสร้างสรรค์วิธีการทำงานขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 4.กล้าตัดสินใจ ตัดสินใจด้วยความเด็ดขาดทันต่อสถานการณ์ อาศัยการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน รวมถึงพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้น 5.เปลี่ยนแปลงทันการณ์ สร้างและบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงในองค์กรให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในระดับมหภาค 6.ใช้นวัตกรรมทำงาน นำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน ลดปัญหา และลดความซ้ำซ้อน และ 7.คิดต่างอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เกิดความคิดแปลกใหม่ มีความแตกต่าง สร้างโอกาสให้ตนเองและผู้ปฏิบัติงานได้มีประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากความถนัดเดิมและงานประจำ

“ตำแหน่งผู้อำนวยการเขต เราไม่ได้มองกันที่อายุเพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาเคยมีข้อครหาว่าผู้อำนวยการเขตที่มีอายุมากแล้ว เหลือเวลาอีก 1 ปี จะเกษียณอายุราชการ ไม่หมาะสมที่จะมาเป็นผู้อำนวยการเขต ระยะเวลาแค่ 1 ปี จะทำอะไรได้ ขอให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ผู้อำนวยการเขตจะต้องมีความคิด บวกกับความตั้งใจ คือมีความคิดริเริ่มในการพัฒนางาน มีความตั้งใจในการทำงาน เมื่อสะสมกับประสบการณ์ที่ผ่านมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวตน สร้างแบบอย่างที่ดีให้กับข้าราชการและบุคลากรรุ่นหลัง” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200