คอลัมน์ คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง: ป้าย ‘กรุงเทพฯ . BANGKOK’ กับอัตลักษณ์นครา

กล้า สมุทวณิช

ใครที่เป็นคนจัดสวนหรือตู้ปลาเลี้ยงไม้น้ำคงจะนึกภาพกันออกว่า ไม้ประดับบางต้นหรือปลาบางตัวนั้น หากแยกมันออกมาไว้เดี่ยวๆ แล้ว มันจะดูหาความงามได้ยาก หากเป็นต้นไม้ก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นเพียงวัชพืชหรือสาหร่ายตะไคร่น้ำ ถ้าเป็นปลาก็เหมือนปลาซิวตัวกระจ้อยที่ไม่รู้จะนำมาใส่ไว้ในตู้ปลาใบใหญ่ทำไม

หากเมื่อไม้ประดับหรือไม้น้ำต้นเดียวกันนั้นได้ลงไปจัดอยู่ในสวนหรือปลูกในตู้ไม้น้ำร่วมกับต้นอื่นๆ หรือปลาจิ๋วตัวนั้นได้ไปรวมฝูงกับปลาตัวอื่นๆ ในตู้ที่ตกแต่งจัดวางไว้อย่างละเอียดแยบคายโดยศิลปินหรือนักออกแบบแล้วต่างหาก เราถึงจะได้เห็นถึงความงดงามลงตัวว่าทำไมมันจึงควรเป็นองค์ประกอบอันสำคัญของสวนหรือตู้ปลานั้น

นี่คือความรู้สึกที่นึกได้เมื่อเห็นป้าย “กรุงเทพฯ . BANGKOK” สีเขียวตัวอักษรขาว ซึ่งติดตั้งไว้ที่แยกปทุมวัน ช่วงสกายวอล์กหน้า MBK ที่ถูกสวดยิบจวกยับกันในสื่อตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งภายหลังจากนั้น เมื่อทีมงานออกมาชี้แจงแสดงให้เห็นว่า สติ๊กเกอร์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบที่จะแสดงซึ่ง CI (Corporate Identity) หรือ อัตลักษณ์องค์กร ที่ในที่นี้คืออัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานครในฐานะขององค์กรท้องถิ่นที่บริหารจัดการนครหลวงของประเทศนี้

จากภาพกราฟิกที่ได้รับการเปิดเผย CI ดังกล่าว จะถูกนำไปใช้กับทุกบริการสาธารณะและสาธารณูปโภคของ กทม. ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์บริการประชาชน ป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ถังขยะ รถยนต์ไปจนของเล็กๆ น้อยๆ อย่างดินสอ ปากกา ถ้วยแก้ว จาน ชาม รวมถึงการใช้เป็นแม่แบบ (Template) ของงานประชาสัมพันธ์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ มีการออกแบบสีหลัก (คือสีเขียว) และสีรอง และแบบอักษร (Font) ซึ่งทั้งหมดสามารถอธิบายเบื้องหลังการออกแบบได้อย่างมีหลักการที่ย้อนกลับไปถึงรากเหง้าของการก่อตั้งมหานครนี้ในฐานะขององค์กรจัดการเมืองสมัยใหม่

ที่เอาจริงๆ การย้อนกลับไปสู่รากเหง้านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ชวนถูกอกถูกใจชาวอนุรักษนิยมเสียด้วยซ้ำ

หาก “ความผิดพลาด” ที่น่าเห็นใจของเรื่องป้าย “กรุงเทพฯ . BANGKOK” ได้แก่การที่มันถูกนำมาติดไว้อย่างโดดเดี่ยว เพราะป้ายเก่าที่มีคำว่า BANGKOK ซึ่งเข้าใจว่าติดตั้งไว้ตั้งแต่ครั้งที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. และภายหลังได้กลายเป็นจุดเช็กอินถ่ายภาพไปโดยบังเอิญนั้นมีสีซีดและสภาพที่เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา และล่าสุด คำว่า KOK ได้หลุดหายไปด้วยลมพายุฝนในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า เหลือแต่คำว่า BANG ให้น่าขบขัน

เป็นช่องให้เพจและสื่อออนไลน์ที่มีท่าทีไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับ กทม.อยู่แล้วได้ที ออกมากระทุ้งทวงถามพร้อมกระแนะกระแหนเสียดสีทีมผู้บริหาร กทม. ชุดปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องเดิมๆ ที่พวกเขาเคยแซะเสียด เพราะคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่า ไม่ว่าอย่างไร กทม. ในฐานะของผู้ดูแลพื้นที่ก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดความเสื่อมโทรมแบบนี้ในจุดที่เป็นจุดสนใจรวมสายตาของนักท่องเที่ยว

นั่นทำให้ป้าย “กรุงเทพฯ . BANGKOK” ที่ออกแบบภายใต้แนวคิดของ CI ข้างต้น จึงถูกจัดทำและนำมาติดตั้งอย่างรีบเร่งเพื่อทดแทนของเดิมโดยที่ยังไม่มีงานอื่นจากการออกแบบภายใต้แนวคิด CI ใหม่ของ กทม. ได้นำเสนอมาก่อนหน้าเลย

สภาพจึงไม่ต่างจากการเอาเฟิร์นรากดำหนึ่งกอ ไปปลูกไว้ในตู้ปลาที่เพิ่งจะล้างเสร็จใหม่ๆ และยังอาจจะเหลือสิ่งประดับตกแต่งตู้เก่าๆ อยู่ด้วย ผู้ที่ได้ไปเห็นในสภาพนั้นก็คงจะนึกว่า ไปเอาต้นไม้ใบยาวกะยึกกะยือนี่มาปลูกในตู้ทำไม

แต่หากตู้ปลาดังกล่าวได้รับการถอดรื้อแทนที่ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ทั้งไม้น้ำและปลาตามที่ได้ออกแบบไว้จนสมบูรณ์เป็นตู้ไม้น้ำแล้วต่างหาก เฟิร์นรากดำกอนั้นจึงจะได้แสดงความสวยงามของมันร่วมกับต้นไม้และปลาตัวอื่นๆ ในตู้ ที่สอดรับประกอบเป็นภาพเดียวกัน

เชื่อในลักษณะเดียวกันว่า หาก กทม.ได้ค่อยๆ ทยอยตกแต่งพื้นที่ รถยนต์ อาคาร และบริการสาธารณะต่างๆ ของ กทม. ด้วย CI แบบใหม่ตามที่ได้ออกแบบไว้เป็นขั้นเป็นตอนตามแผนแล้ว ป้าย “กรุงเทพฯ . BANGKOK” ก็จะไม่ได้ดูแปลกแยกสะดุดตาจนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขนาดนั้น

เรื่องนี้หากเป็นเกมหมากรุกหรือหมากล้อม การนำป้าย “กรุงเทพฯ . BANGKOK” มาติดไว้ก่อนที่จะได้ปรับเปลี่ยนการนำเสนอไปตามที่ออกแบบหรือวางแผนไว้นั้น เป็นการเดินหมากตาที่รู้ว่าเดินหรือวางไปแล้วน่าจะผิดพลาดหรือเสียหาย แต่เป็นหมากจำเป็นที่จะต้องเดินหรือเล่นในจุดนั้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แล้วค่อยหาทางลดความเสียหายเอาภายหลัง

ซึ่งในการลดความเสียหายของหมากตานี้ ทางฝ่ายผู้บริหารของ กทม. ก็ออกมารับมือได้ดี ตั้งแต่ผู้ว่าฯกทม. อาจารย์ชัชชาติออกมาเดินสอบถาม Feedback กับประชาชนด้วยตนเอง รวมถึง กทม. ก็เปิดให้ดาวน์โหลดแบบอักษร Sao Chingcha (เสาชิงช้า) ไปใช้ในงานออกแบบได้ฟรีๆ แถมเมื่อปรากฏว่าป้ายดังกล่าวถูกนำไปตัดต่อล้อเลียนกันเป็นไวรัล คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. ก็ถือคติ “เล่นตัวเองเจ็บน้อยกว่า” ด้วยการสร้างเว็บแอพพลิเคชั่นให้ผู้คนไปสร้างป้ายแบบเดียวกับของ กทม. ด้วยข้อความตามใจชอบอย่างสนุกสนานกันไป

ถึงกระนั้น เมื่อป้ายรวมถึงงานออกแบบ CI ของ กทม.ทั้งหมดนั้นเป็นงานสาธารณะของหน่วยงานรัฐ มันก็ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้จากประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ประกอบกับความงามก็เป็นเรื่องปัจเจกของมนุษย์แต่ละคน แม้จะมีทฤษฎีที่พอจะนำมาใช้อธิบายได้บ้าง แต่ความสวยหรือไม่ก็ขึ้นกับสายตาคนมอง และเราก็อาจจะต้องยอมรับว่าป้ายของ กทม.นี้ มีคนส่วนมากอันเป็นนัยสำคัญมองว่ามันไม่สวยอยู่จริงๆ นั่นแหละ เพราะถ้ามองป้ายดังกล่าวอย่างมองแยกเป็นงานชิ้นเดี่ยวๆ เมื่อเทียบกับป้ายเดิมก็อาจจะต้องยอมรับว่ามันดูหม่นกดลงด้วยโทนสีเมื่อเทียบกับฉากทัศน์โดยรอบ นั่นเพราะในการออกแบบ งานพื้นหลังสีเข้มนั้น ออกแบบให้สวยได้ยากกว่าพื้นหลังสีขาวที่ “ปลอดภัยไว้ก่อน” มากกว่า

อย่างไรก็ตาม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ กทม.ในเรื่องนี้ ก็มีทั้งแบบที่ “เป็นธรรมชาติ” และ “ไม่เป็นธรรมชาติ” โดย “แบบที่เป็นธรรมชาติ” นั้นก็ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์แบบ “ไม่เป็นธรรมชาติ” นั้น ผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่สนใจการเมืองน่าจะพอนึกกันออกว่า หลังจากที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. อย่างถล่มทลายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ก็ปรากฏว่ามี “เพจ” หรือ “สื่อออนไลน์” ที่มีเนื้อหาบางประเภทเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างผิดปกติ บางเพจถึงกับมีการซื้อโฆษณาขึ้นเพื่อให้ขึ้นมาปรากฏเห็นกับผู้ที่ไม่เคยติดตามหรือเกี่ยวข้อง ได้แก่ เพจและสื่อที่มีเนื้อหาประเภท ทวงคืนทางเท้า ต่อต้านหาบเร่แผงลอย หรือชื่นชมความงามของกรุงเทพมหานคร

เพจและสื่อกลุ่มนี้มีทั้งที่มีบทบาทเข้มข้นอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หรือเพจที่ไม่มีความเคลื่อนไหวมานาน แล้วอยู่ดีๆ ก็เหมือนคนทำจะตื่นขึ้นมาทำเพจใหม่หลังจากที่มีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯกทม.

ความตลกอันชี้เจตนาอย่างหนึ่งของเพจเหล่านี้ก็คือ แม้ว่าหลายเพจก่อนหน้านี้จะมีบทบาทที่ชัดเจนอยู่แล้วในการเรียกร้องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของถนนหนทางและฟุตปาธทางเดิน แต่ก่อนหน้านี้ เพจเหล่านั้นก็มักพุ่งเป้าไปที่ “ผู้คน” ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เช่นหาบเร่แผงลอยที่ตั้งพื้นที่ค้าขายจนกีดขวางทางเดินและก่อให้เกิดความสกปรก คนเดินถนนที่มักง่ายทิ้งขยะเรี่ยราด หน่วยงานต่างๆ ที่มาซ่อมสร้างถนนหนทางแต่เก็บงานไม่เรียบร้อย หากแต่หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่า เป้าหมายของการโจมตีของเพจเหล่านั้น และที่ถือกำเนิดขึ้นมาใหม่หรือเพิ่งกลับมาเคลื่อนไหว ก็มุ่งเป้าไปที่เดียวคือ ผู้ว่าฯกทม.และทีมงาน ราวกับเพิ่งนึกได้ว่า เรื่องนี้ กทม.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ

เพราะส่วนหนึ่ง ชัยชนะแบบถล่มทลายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบัน ระดับที่รวมคะแนนผู้สมัครอื่นเข้าแล้วยังไม่อาจเอาชนะได้นั้น เป็นการเปิดบาดแผลแรกของกลุ่มอำนาจนิยมจารีตนิยม และผู้คนที่ยึดมั่นศรัทธากับระบอบแนวคิดดังกล่าวให้พวกเขารู้ว่าพวกของตนนั้นเป็นเสียงข้างน้อยเพียงไรในสังคมประเทศที่พวกเขาอยู่อาศัย พร้อมกับบอกฝ่ายอำนาจเบื้องหลังให้รู้ว่า ถ้าตัดสินกันด้วยการเลือกตั้ง พวกเขานั้นคงชิงอำนาจกลับมาได้ยากยิ่ง

ก่อนจะตามด้วยแผลใหญ่ที่สุด คือชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย อย่างที่ได้เห็นกันในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ผลงานที่ผ่านมาของ กทม. ก็อาจจะกล่าวได้ว่า สำหรับวิญญูชนแล้ว ถือว่าหาที่ติได้ยาก ทั้งยังเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนเห็นได้ที่สุดเร็วๆ นี้ คือนับแต่ย่างเข้าหน้าฝน ปรากฏว่ากรุงเทพฯถูกพายุฝนถล่มอย่างหนักในช่วงเช้าเย็นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3-4 ครั้ง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีรายงานว่ามีน้ำท่วมขังรอระบายอย่างรุนแรงต่อเนื่องยาวนานในพื้นที่ใดให้เห็นได้ (คือถ้ามีสักจุดละก็พวกเพจหรือสื่อที่ได้กล่าวไปข้างต้นคงถ่ายภาพแชร์ภาพมาประจานกันแบบไม่ต้องไปตามหาดูให้ยาก) ซึ่งผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองหลวงนี้มาเมื่อสัก 2-3 ปีก่อน หรือพูดแบบไม่เกรงใจคือ สมัยผู้ว่าฯ สองคนก่อนหน้านี้คงจะนึกออกว่าฝนตกขนาดนี้ถนนสายหลักคงกลายเป็นคลองไปหมดแล้วไม่น่าจะเหลือ

นอกจากนี้ผลงานอื่นๆ ของ กทม. ที่วิญญูชนที่มีจิตใจเป็นธรรมก็น่าจะเห็นได้ว่า เมืองหลวงของเรากำลังจะดีขึ้นทีละเล็กละน้อย เช่น “สวน 15 นาที” สวนสาธารณะขนาดเล็กที่ผู้คนเดินเท้าจากบ้านไปถึงได้ภายในเวลาประมาณ 15 นาที โครงการ “ไม่เทรวม” ที่เป็นการริเริ่มการแยกขยะแบบที่เราได้เห็นในอารยประเทศ การปรับปรุงโรงเรียนและคลินิกในสังกัด กทม. จนบางที่ทันสมัยน่าส่งลูกไปเรียนหรือใช้บริการไม่แตกต่างจากเอกชน และโครงการอื่นๆ ที่คน กทม. ผู้ใช้บริการจริงๆ จะเห็นตรงกันว่า มันมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นให้เห็น

ผลงานทั้งหมดนี้ก็ทำให้เพจและสื่อที่ “ไม่เป็นธรรมชาติ” เหลือทำได้แค่งอแงร้องหาแต่การพายเรือเล่นในคลองโอ่งอ่าง หรือไปเที่ยวเล่นในสวนกลางคลองสาทรที่ต้องฝ่ารถข้ามถนนไปอยู่นั่นแล้ว ส่วนที่เรียกร้องทางเท้าใหม่ก็เริ่มเงียบลง เพราะ กทม.ก็ได้เริ่มปรับปรุงทางเท้าและนำสายไฟลงใต้ดินในถนนสำคัญๆ แล้วหลายที่

เงียบหงอยเฮฮากันเองครื้นเครงในพื้นที่จำกัดอยู่นาน พอมีเรื่องที่พอจะเป็นกระแสหลักและมีแนวร่วมให้เฮฮากับคนส่วนมากได้หน่อยก็คงพอชุบชูใจให้คนกลุ่มนี้เขาบ้าง นึกซะว่าเป็นการคืนกำไร และผลัดกันแพ้ให้เขาชนะบ้างนานๆ ที

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 5 มิ.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200