พรประไพ เสือเขียว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงโอกาสการครบรอบ 2 ปีของการทำงาน ภายใต้ชื่องาน ‘2 ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับเมืองน่าอยู่’ พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า เดิมกรุงเทพฯ เป็นเมืองเที่ยวสนุก แต่ประสิทธิภาพต่ำ ทำให้คนเหนื่อยกับการใช้ชีวิตและการเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย ดังนั้นสิ่งที่ได้ทำตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้การทำงานและการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนเหนื่อยน้อยลง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น
Traffy Fondue คือ หนึ่งในตัวอย่างที่ได้ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยตัดขั้นตอนจากที่ต้องใช้เอกสารมากมายเปลี่ยนมาเป็นการออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่ง 2 ปีที่เปิดให้ประชาชนร้องเรียนความเดือดร้อนผ่าน Traffy Fondue ได้ลงมือแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 465,291 เรื่อง จากที่มีการร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 588,842 เรื่อง คิดเป็น 78% อยู่ระหว่างแก้ไข 58,456 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 40,655 เรื่อง และติดตาม 11,545 เรื่อง เฉลี่ยระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมา ลดลง 97% จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เหลือเพียง 2 วัน
“Traffy Fondue เกิดขึ้นมาแล้ว 4 ปี แต่ที่ผ่านมาไม่มีคนมาใช้บริการ เราเข้ามาแก้ปัญหาให้เร็วขึ้นจากใช้เวลา 2 เดือน สองปีที่ผ่านไปทำให้การแก้ปัญหาเร็วขึ้นจาก 2 เดือนเป็น 2 วัน จากเรื่องร้องเรียนที่ค้างอยู่ 5.9 แสนเรื่องไม่ใช่จุดอ่อน เพราะกรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,600 ตร.กม. ต้องใช้เวลา แต่ลึกลงไปกว่านั้น Traffy Fondue คือความไว้วางใจของประชาชน ขณะเดียวได้เข้ามาเปลี่ยน มายด์เซตวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่”
เมืองที่ดีทั่วโลกคือเมืองที่เดินดี กรุงเทพฯไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสาธารณะได้ ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง คือการปรับปรุงทางเท้าใหม่ที่ผ่านมา 2 ปีได้ปรับปรุงทางเท้าไปแล้ว 785 กม. และภายในระยะเวลา 4 ปีจะปรับปรุงทางเท้าระยะทาง 1,600 กม. ได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังได้ปรับพื้นทางเข้าออกอาคารให้เรียบเสมอทางเท้า ลดความสูงของทางเท้าเหลือ 10 ซม. และ 18 ซม. และติดเบรลล์บล็อกแนวตรงสำหรับคนพิการและผู้สูงวัยได้ใช้ง่าย เดินง่ายขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแอลอีดี 8.5 แสนดวง พร้อมกันนี้ยังใช้ระบบ IOT (Internet of Think) ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าจุดไหนไฟเสียเพื่อง่ายต่อการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดยระบบ IOT ที่ติดกับหลอดไฟสามารถเชื่อมโยงข้อมูลตรวจสอบได้ว่ามีพื้นที่น้ำท่วม และค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐาน พร้อมกันนี้ยังจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังในถนนสายต่าง ๆ รวมระยะทาง 627 กม.
สำหรับปัญหาการแก้ปัญหาน้ำท่วมในปี 65 พบจุดสำคัญที่ต้องแก้ไข 737 จุด ขณะนี้แก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขได้ทันในปี 67 อีก 190 จุด ตัวอย่างบริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งมีระดับน้ำท่วมสูงถึง 40 ซม. เมื่อเกิดฝนตกหนักแต่ระดับน้ำก็ลดลงเร็ว กทม.เข้าไปแก้ปัญหาใน 8 จุด โดยส่วนที่ทำเสร็จแล้ว ได้แก่ การทำท่อเชื่อมเร่งระบายน้ำ ก่อสร้างบ่อ สูบน้ำ และลอกท่อระบายน้ำถึงคลอง น้ำแก้ว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมรับมือน้ำท่วม โดยล้างท่อระบายน้ำไปแล้ว 4,200 กม.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 31 พ.ค. 2567 (กรอบบ่าย)