Search
Close this search box.
มีนบุรีพาชมคัดแยกขยะชุมชนหมู่ 6 พัฒนา ราษฎร์อุทิศ 43 เช็กซ้ำค่าฝุ่นไซต์ก่อสร้างที่ทำการศาลมีนบุรีย่านสุวินทวงศ์ ติดตามงบฯ ปรับปรุงซอยราษฎร์อุทิศ 8 สำรวจ Hawker Center หน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง รามคำแหง 190

 

(27 พ.ค. 67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตมีนบุรี ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนหมู่ 6 พัฒนา ซอยราษฎร์อุทิศ 43 ถนนราษฎร์อุทิศ พื้นที่ 145 ไร่ ประขากร 591 คน บ้านเรือน 141 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ชุมชนมีการคัดแยกขยะอินทรีย์ในครัวเรือนและนำมาทำปุ๋ย โดยปีงบประมาณ 2567 ได้จัดซื้อถัง Green Cone แจกให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ และเขตฯ จัดวิทยากรมาอบรมให้ความรู้ในการใช้ถัง Green Cone เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการคัดแยกเศษอาหารมาทำปุ๋ยในครัวเรือน 2.ขยะรีไซเคิล ชุมชนมีการอบรมให้ความรู้กับคนในชุมชนในการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยวิทยากรของเขตฯ แนะนำการคัดแยกขยะรีไซเคิล และช่องทางการนำไปขายเพื่อเป็นรายได้ในครอบครัว 3.ขยะทั่วไป ชุมชนมีการจัดตั้งถังขยะทั่วไปโดยการคัดแยกขยะที่ไม่สามารถไปใช้ประโยชน์ได้ และรวบรวมนำไปทิ้งที่จุดพักขยะรอรถขยะมาเก็บต่อไป 4.ขยะอันตราย ชุมชนมีจุดทิ้งขยะอันตราย ประชาชนในชุมชนคัดแยกขยะอันตรายจากขยะทั่วไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บได้สะดวก 5.ขยะติดเชื้อ ชุมชนจะมีการให้ความรู้กับประชาชนในชุมชน เพื่อคัดแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไปและใส่ถุงแดงหรือติดป้ายขยะติดเชื้อชัดเจน เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะต่อไป สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 23,049 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 12,670 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 6,228 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3,114 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 830 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 208 กิโลกรัม/เดือน

ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของเขตฯ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงซอยราษฎร์อุทิศ 8 จากถนนราษฎร์อุทิศ ถึงคลองแยกคลองตะโหนด ระยะเวลาดำเนินการ 200 วัน คืบหน้าแล้ว 30% และโครงการปรับปรุงพื้น ค.ส.ล.หน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน คืบหน้าแล้ว 20% ซึ่งบริเวณหน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง เป็นจุดที่เขตฯ จะจัดทำเป็น Hawker Center ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้รับจ้างให้ดำเนินโครงการดังกล่าวทั้ง 2 โครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการจัดทำ Hawker Center ภายหลังปรับปรุงพื้นที่หน้าหมู่บ้านแล้วเสร็จ ให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมว่าจะจัดทำเป็นพื้นที่ทำการค้าในรูปแบบใดต่อไป

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลแพ่งมีนบุรีและศาลอาญามีนบุรี พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ ถนนสุวินทวงศ์ 36 ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งวันนี้เป็นการติดตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยผู้รับจ้างได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 จัดทำจุดล้างทำความสะอาดรถและล้อรถก่อนออกจากโครงการ เทพื้นคอนกรีตทางเข้าออกโครงการและล้างทำความสะอาดทุกวัน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 5 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 9 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 9 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เน้นย้ำสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจวัดควันดำรถยนต์ตามรอบที่กำหนด

สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณหมู่บ้านรินทร์ทอง ซอยรามคำแหง 190 สามารถรองรับผู้ค้าได้ 90 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 96 ราย ได้แก่ 1.ถนนราษฎร์อุทิศ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. 2.ถนนสามวา ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. 3.ถนนสีหบุรานุกิจ ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 4.ถนนสุวินทวงศ์ ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 5.ถนนหทัยราษฎร์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนรามคำแหง ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ ผู้ค้า 3 ราย โดยดำเนินการยกเลิกทั้งหมดแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดทำสวน 15 นาที ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนใหม่) เปิดใช้งานแล้ว จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนมีนบุรีภิรมย์ ถนนสีหบุรานุกิจ บริเวณหลังโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน โดยถมดินปรับสภาพพื้นที่ ปลูกต้นไม้ ปูหญ้า ทำทางเดินและลู่วิ่งออกกำลังกาย จัดวางม้านั่งสำหรับนั่งเล่นพักผ่อน จัดทำจุดถ่ายภาพเช็กอิน โดยจุดเด่นของสวนคือ เสาชิงช้าจำลอง ซึ่งตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางสวน 2.สวนธนาคารต้นไม้มีนบุรี พื้นที่ 1 ไร่ สำหรับสวน 15 นาที (สวนใหม่) อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนถนนรามคำแหง พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ปรับพื้นที่เพื่อปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จัดทำทางเดิน บ่อน้ำ 2.สวนถนนบึงขวาง ซอย 13 พื้นที่ 12 ไร่ ปรับพื้นที่ ทำคันดิน ทำร่องน้ำ ปลูกต้นไม้ยืนต้น 3.สวนซอยสามวา 3 พื้นที่ 2 งาน

ในการนี้มี นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200