Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567

กทม. ตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการธนาคารโรงเรียน กำชับดำเนินการด้วยความโปร่งใส

นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีประธานคณะกรรมการบริหารชุมชนหมู่บ้านเสรี อ่อนนุช และสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ส่งหนังสือร้องเรียนถึงผู้บริหาร กทม. ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมครูคนหนึ่งในโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งอาจมีการกระทำที่ไม่โปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมธนาคารโรงเรียนว่า สำนักงานเขตประเวศได้สืบหาข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน พยานเอกสาร และสอบถามบุคคล โดยทำหนังสือขอเอกสารสำคัญเพิ่มเติมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรับการตอบกลับ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นต่อไป

นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ. ได้ประสานขอทราบความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า สำนักงานเขตประเวศและโรงเรียนได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 67 โดยรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร ได้ประสานขอข้อมูลทั้งจากผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย บุคลากรในโรงเรียน และธนาคารที่รับฝากเงินนักเรียนตามโครงการธนาคารโรงเรียน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงและตอบข้อร้องเรียนมายังสำนักงานเขตฯ แต่ยังขาดเอกสารบางอย่าง ในส่วนของธนาคารได้รับการประสานทางโทรศัพท์ว่า ได้รับจดหมายของสำนักงานเขตฯ ที่ประสงค์ขอทราบข้อเท็จจริงและจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว โดยจะตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้สำนักงานเขตฯ ทราบ แต่ปัจจุบันสำนักงานเขตฯ ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับจากธนาคาร อย่างไรก็ตาม สนศ. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การดำเนินโครงการธนาคารโรงเรียนดังกล่าว เป็นการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างธนาคารกับสถาบันการศึกษา จำนวน 3 ฉบับ โดยผู้อำนวยการภาคและผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการศึกษาเป็นผู้ลงลายมือชื่อ โดยต้นฉบับมอบให้สถาบันการศึกษา คู่ฉบับเก็บไว้เป็นหลักฐานที่ธนาคารภาค สำเนาคู่ฉบับส่งฝ่ายพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมของธนาคาร โดยธนาคารภาคจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตั้งระบบงานธนาคารโรงเรียน เตรียมการเปิดธนาคารโรงเรียน พร้อมจัดอบรมการปฏิบัติงานและระบบงานคอมพิวเตอร์ให้เจ้าหน้าที่ธนาคารโรงเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาและพนักงานสาขาพี่เลี้ยง โดยให้สถาบันการศึกษาเปิดบัญชีเงินฝากโครงการธนาคารโรงเรียนบนระบบงาน CBS โดยใช้ชื่อบัญชี “ธนาคารโรงเรียน (ระบุชื่อสถานศึกษา)” และกำหนดรหัสโครงการเป็น “ธนาคารโรงเรียน” ส่วนการรับฝากเงิน การถอนเงิน การกำหนดอัตราดอกเบี้ย การตรวจสอบ การปฏิบัติงานโครงการธนาคารโรงเรียน การยุบเลิกธนาคารโรงเรียน หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานเป็นไปตามคำสั่งของธนาคาร เรื่อง การดำเนินงานโครงการธนาคารโรงเรียน

ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงตามที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงการฝากเงินของนักเรียนในโรงเรียน มี 3 รูปแบบ ดังนี้ (1) นักเรียนระดับชั้นอนุบาล ฝากเงินกับครูประจำชั้นในห้องเรียนแต่ละวัน โดยครูประจำชั้นบันทึกลงในสมุดบันทึกการออมของแต่ละห้อง และนำฝากธนาคารออมสินโรงเรียนเดือนละ 1-2 ครั้ง (กลางเดือนและสิ้นเดือน) (2) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ฝากเองตามเวลาที่ห้องธนาคาร และ (3) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 เขียนฝากกับครูประจำชั้นที่ห้องเรียนและนำใส่กล่องฝากเงินประจำวันแต่ละห้องเรียนวันต่อวัน สามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม การฝากเงินรูปแบบที่ 1-3 เป็นวิธีการที่ขาดความรอบคอบ ไม่สามารถตรวจสอบได้ เสี่ยงต่อการทุจริตของบุคลากรและครูในโรงเรียนสังกัด กทม. หรือการถูกร้องเรียน เนื่องจากวัยของนักเรียน ภาระงาน หรือภาระหนี้สินของครู และระยะเวลาการฝากแต่ละครั้ง อาจทำให้การบันทึกรายการและการรวบรวมเงินฝากธนาคารเกิดความผิดพลาด ตกหล่น คลาดเคลื่อนสูง หรือล่อใจให้เกิดการกระทำความผิดได้

สำหรับแนวทางการควบคุมดูแลโครงการธนาคารโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษาอาจกำหนดแนวทางในบันทึกความร่วมมือระหว่างธนาคารและโรงเรียนใหม่ โดยให้นักเรียนนำเงินมาฝากกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยตรง ส่วนโรงเรียนเป็นเพียงผู้ติดต่อประสานงานกับธนาคารให้จัดเจ้าหน้าที่มาบริการรับฝากเงินในโรงเรียนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน และแจ้งกำหนดวันเวลาที่แน่นอนให้นักเรียนทราบ เมื่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารรับฝาก หรือถอนเงิน ให้บันทึกรายการในสมุดเงินฝากของนักเรียนทุกครั้ง รวมทั้งมีมาตรการควบคุมและกำชับมิให้ครู หรือบุคลากรในโรงเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับฝากเงินของนักเรียนไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

 

 

กทม. สั่งเคลื่อนย้ายถังก๊าซ-ห้ามใช้อาคารที่เกิดเหตุถังออกซิเจนระเบิดในซอยเพชรเกษม 77/8
     
นางมณีวรรณ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตหนองแขม กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุถังออกซิเจนระเบิดบริเวณซอยเพชรเกษม 77/8 ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า สถานที่เกิดเหตุคือ อาคารเลขที่ 464 หมู่บ้านเพชรเกษม 1 ลักษณะอาคารเป็นอาคารทาวน์เฮาส์ จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิต 1 คน เป็นเพศชาย อายุ 30 ปี โดยผู้เสียชีวิตเป็นลูกจ้างรายวัน มีหน้าที่ขับรถยนต์ส่งก๊าซ สถานที่เกิดเหตุเป็นสำนักงานจำหน่ายก๊าซ ประเภทออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์และอะเซทิลีน ซึ่งมีโรงงานที่รับบรรจุก๊าซที่บริษัทนำไปบรรจุอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นสถานที่รับออเดอร์ให้พนักงานนำถังไปบรรจุก๊าซที่โรงงาน แล้วนำไปส่งยังสถานที่ต่าง ๆ ตามที่มีการสั่งเข้ามา จากการตรวจสอบประกอบคำให้การของเจ้าของบ้าน พบถังเปล่า จำนวน 71 ถัง บางส่วนมีสภาพเก่า และด้านในถังมีสนิม บางส่วนมีสภาพใหม่ แต่ไม่มีการบรรจุก๊าซไว้ด้านใน ส่วนกรณีที่เกิดการระเบิดเป็นถังที่ตั้งวางอยู่หลังรถกระบะ ซึ่งจอดอยู่หน้าบ้าน มีถังเปล่าที่เก็บมาจากลูกค้า เตรียมนำกลับเข้าโรงงานที่คาดว่า น่าจะมีก๊าซตกค้างอยู่ เมื่อคนงานได้เคลื่อนย้ายอาจกระแทก จนทำให้เกิดการระเบิดดังกล่าว ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ถังที่ระเบิดเป็นถังที่ใช้สำหรับบรรจุก๊าซอะเซทิลีน ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้เคลื่อนย้ายถังก๊าซทั้งหมดออกจากอาคารที่เกิดเหตุ เพื่อความปลอดภัยให้กับประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง และจากการตรวจติดตามผลวันที่ 24 พ.ค. 67 พบว่า ผู้ประกอบการได้ขนย้ายถังก๊าซชนิดต่าง ๆ ทั้งหมดออกจากอาคารที่เกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว 

ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้ออกคำสั่งให้บรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือห้ามใช้อาคารกรณีฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียงและที่สัญจรผ่านไปมา เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารต่อไป รวมทั้งอยู่ระหว่างแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับเจ้าของสถานประกอบกิจการในข้อหาประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการผลิต สะสม บรรจุ หรือขนส่งก๊าซ ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561 ออกตามความใน พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังได้สำรวจอาคารที่ได้รับความเสียหายจากเหตุดังกล่าว พบว่า มีจำนวนทั้งหมด 7 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายของอาคาร เพื่อจะได้ชดเชยค่าเสียหายตามระเบียบทางราชการต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบ ติดตาม กำกับดูแลการประกอบกิจการของสถานประกอบการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ช่วยตรวจสอบ และสอดส่องดูแลผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การประชุมกรรมการชุมชน ช่องทางไลน์เครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงช่องทางการสื่อสารของสำนักงานเขต เพื่อแจ้งเบาะแสการลักลอบการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันของภาคประชาชนกับสำนักงานเขตฯ ตลอดจนประสานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อร่วมตรวจสอบแนะนำสถานประกอบกิจการการผลิต สะสม บรรจุ หรือขนส่งก๊าซในพื้นที่เขตอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
 
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองแขม ร่วมกับสำนักงานเขตหนองแขมได้ปิดกั้นพื้นที่และเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง และเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา เจ้าของบ้านได้เคลื่อนย้ายถังบรรจุก๊าซก๊าซอะเซทิลีน อ๊อกซิเจน และก๊าชคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ รวม 219 ถัง ออกจากบ้านที่เกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สปภ. ได้กำชับให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่งเตรียมความพร้อมยานพาหนะและอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อป้องกันและระงับเหตุอันตราย หรือเหตุอุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์

 

 

 

เขตสายไหมซ่อมแซมแก้ไขผิวจราจรซอยพหลโยธิน 52 และ 27 กำชับผู้รับจ้างเร่งก่อสร้างบ่อพักระบายน้ำให้แล้วเสร็จ

นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตสายไหม กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและแก้ไขผิวจราจรชำรุดและมีบ่อพักระบายน้ำตั้งวางกีดขวางการจราจรบริเวณซอยพหลโยธิน 52 และ 27 (ซอยทิมเรืองเวช) ว่า สำนักงานเขตสายไหมได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณซอยพหลโยธิน 52 และ 27 (ซอยทิมเรืองเวช) พร้อมแก้ไขผิวจราจรชำรุด โดยลงยางแอสฟัลท์บดอัดให้แน่น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะเดียวกันได้ประสานผู้รับจ้างให้เร่งดำเนินการก่อสร้างบ่อพักระบายน้ำในบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้น ได้ประสานขอใช้เส้นทางลัดออกสู่ถนนพหลโยธิน 52 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายรถและจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงระหว่างการเชื่อมท่อระบายน้ำบริเวณดังกล่าว

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200