‘บิ๊กเต่า’ขยายผลแก๊งรีด 9 ล้านสนามกอล์ฟ แลกแก้แบบ โครงการถนนเลียบวารี ให้ประกัน 3 ราย ยกเว้นนายช่างโยธานอนคุก
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. เปิดเผยกรณีจับกุมนายภีมพงษ์ หิรัญพฤกษ์ อายุ 46 ปี นายช่างโยธาชำนาญงาน กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักงานโยธา กทม. ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ จ.40/2567 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม ข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นเพื่อแสวงผลประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งมีการเรียกรับสินบน จำนวน 9 ล้านบาท เพื่อแลกกับการช่วยแก้ไขแบบแนวเขตโครงการถนนเลียบวารี ไม่ให้เข้าไปในเขตสนามกอล์ฟวินด์เซอร์ปาร์ค แอนด์ กอล์ฟคลับ เขตหนองจอก พร้อมพวกอีก 3 คน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ว่า หลังสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปปป. อนุญาตให้ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย น.ส.อรนุช เดชดาด อายุ 38 ปี นายปองพล ถาวรวงศ์ อายุ 52 ปี และ น.ส.ลินดา กำลังเลิศ อายุ 43 ปี คงเหลือเพียงแค่นายภีมพงษ์ ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีเพียงรายเดียวที่ไม่อนุญาตให้ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน เนื่องจากดุลพินิจของพนักงานสอบสวนมองว่าเจ้าตัวมีพฤติกรรมไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งคาดว่าหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนในชั้นสอบสวนแล้วจะเร่งนำตัวส่งฝากขังยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้จะสามารถจับกุมผู้ต้องหาคนสำคัญอย่างนายภีมพงษ์และพวกรวม 4 รายแล้ว แต่จากแนวทางสืบสวนเชื่อว่าขบวนการดังกล่าวไม่ได้มีเพียงเท่านี้ พร้อมกับเชื่อว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีตำแหน่งสูงกว่านายภีมพงษ์ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอีกราย เพราะลำพังแค่นายภีมพงษ์คนเดียวนั้นคงไม่น่าจะสามารถดำเนินการได้ถึงเพียงนี้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดีพอมีหลักฐานความเชื่อมโยงอยู่บ้าง แต่ต้องขอเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมกระทำผิดหรือรับผลประโยชน์จากการทุจริตเหล่านี้ด้วยหรือไม่
นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) มีการเซ็นหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกับนายภีมพงษ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ส่วนวันนี้มีการเซ็นหนังสือให้พักราชการไว้ก่อน ทั้งนี้ ได้เร่งให้มีการสอบสวนวินัยไม่ให้เกินกรอบระยะเวลา 120 วัน เนื่องจากมีหลักฐานของทางตำรวจ จะทำให้การสอบวินัยมีความรวดเร็วขึ้น
นางวันทนีย์กล่าวว่า กทม.ให้ความร่วมมือส่งข้อมูลหลักฐานให้กับทาง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต่อมาเมื่อมีการดำเนินคดี กทม.จึงดำเนินการทางวินัย
“กรณีเกิดเรื่องมานานแล้ว มีการเรียกรับเงินหลายช่วง โดยปรากฏชัดเมื่อกลางปี 2566 ผอ.สนย.ยืนยันว่าแนวเขตโครงการถนนเลียบวารี ไม่ได้เข้าเขตสนามกอล์ฟอยู่แล้ว ไม่สามารถทำได้ตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง เลยนำเรื่องนี้ไปร้องทาง ป.ป.ช. และมีการประสานกันภายในจนมั่นใจ ทางตำรวจได้ไปสืบสวนต่อ จนความชัดเจนขึ้นกำหนดวันดีเดย์เข้าจับกุม แต่ดูเหมือนว่าผู้ต้องหาจะรู้ตัวก่อน จึงมีการขายรถปอร์เช่ มีการเก็บของที่สำนักงาน แต่สุดท้ายไม่ทันตำรวจ จนได้หมายจากศาลเข้าจับกุมตามที่ปรากฏในข่าว” นางวันทนีย์กล่าว
นางวันทนีย์กล่าวว่า ส่วนที่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ขอให้ทางตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้สืบสวนต่อ รวมถึงการขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนกับขบวนการ “แก๊ง 1%” ด้วย ซึ่งอาจจะไม่ได้มีแค่ที่สนามกอล์ฟ แต่เชื่อมไปยังการประมูลงานโครงการต่างๆ ของ กทม.ด้วย ส่วนอีก 6 กรณีการทุจริต ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ ตอนนี้ทาง กทม.ได้ส่งหลักฐานให้ทาง บก.ปปป. ป.ป.ท. ป.ป.ช. และ ปปง.ไปสืบสวนต่อ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีของนายภีมพงษ์ แต่เป็นหน่วยงานอื่นๆ ของ กทม. อย่างไรก็ตามกรณีของนายภีมพงษ์ เป็นการคิกออฟปราบปรามทุจริตอย่างจริงจังของ กทม.
ต่อมา พนักงานสอบสวนควบคุมนายภีมพงษ์ฝากขังต่อศาลครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจะหลบหนี และยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ต่อมาญาตินายภีมพงษ์ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฝากขัง
ศาลพิเคราะห์เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงคดีมีอัตราโทษ ประกอบพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกัน ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 22 พ.ค. 2567