(21 พ.ค.67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า เนื่องจากเรามีการดำเนินงานและมีความก้าวหน้าไปบางส่วนแล้ว จึงเรียกประชุมคณะกรรมการในวันนี้ฯ และจะเป็นการแสดงให้เห็นการวางแผนปฏิบัติราชการและการวางแผนการใช้งบประมาณจากนี้ไปของกรุงเทพมหานครเรื่องความปลอดภัยที่จะบูรณาการไปกับความปลอดภัยในมิติอื่น ๆ ด้วย โดยใช้คณะกรรมการฯ ชุดนี้วางแผนและขับเคลื่อนร่วมกัน เนื่องจากถ้าหากใช้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะไม่มีมิติเรื่องอาชญากรรมมากเท่าไร ซึ่งถือว่าเป็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและการจัดระเบียบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงมีเรื่องสุขภาพบางส่วนด้วย อีกทั้งจะเห็นพัฒนาการของข้อมูลในส่วนความเสี่ยงเชิงแผนที่ สุดท้ายคือเรื่องแผนปฏิบัติการ 9 ภัย เป็นความต้องการของกรุงเทพมหานครตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กทม. จัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ภัย ซึ่งกทม. ไม่ได้มีเพียง 5 ภัย เราจึงวิเคราะห์จากข้อมูลเพิ่มอีก 4 ภัยเข้าไป โดยกำหนดส่งแผนฯ วันที่ 30 มิ.ย.67 ไปที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นท้องถิ่นแรกที่ดำเนินการแล้วเสร็จ
จากนั้นที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนฯ 4 ด้าน ดังนี้
1. ด้านกายภาพและทรัพยากรปฏิบัติการ ได้จำแนกบัญชีข้อมูลยานพาหนะในการดับเพลิงและกู้ภัย มีแผนการบำรุงรักษายานพาหนะและอุปกรณ์ในการดับเพลิงและกู้ภัย ทั้งการบำรุงรักษาตามวาระ 1 ครั้ง/ปีงบประมาณ การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน และการบำรุงรักษาเมื่อเกิดเหตุ (Brake Down) ในส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหากรณียานพาหนะและอุปกรณ์ในการดับเพลิงและกู้ภัยมีไม่เพียงพอ จะใช้หลักการ 3- 4 สถานี Buddy คือ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ของสถานีดับเพลิงและกู้ภัยแห่งใด สถานีดับเพลิงฯ ที่เป็นสถานี Buddy มีหน้าที่สนับสนุนปฏิบัติการเผชิญเหตุ ด้านแผนงานก่อสร้างและปรับปรุงสถานีดับเพลิง ในปี 2567 ดำเนินการ 4 แห่ง สถานีดับเพลิงก่อสร้างใหม่ ได้แก่ คลองสามวา หลักสี่ สถานีฯ ทุบสร้างใหม่ ได้แก่ บรรทัดทอง และ ก่อสร้างอาคารที่พัก เฉลิมพระเกียรติ (สร้างใหม่แล้วเสร็จ) ในปี 68 อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณ 8 แห่ง นอกจากนี้มีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อวางแผนก่อสร้างสถานีดับเพลิงฯ แห่งใหม่ โดยประมวลจากการทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ความถี่ของการเกิดเหตุ และสรุปข้อมูลลงในแผนที่
2. ด้านโครงสร้างระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการอัตรากำลังเครือข่ายสาธารณภัย จัดทำระบบฐานข้อมูลโดยจัดทำระบบฐานข้อมูลและบริหารจัดการอาสาสมัครพร้อมระบบคัดกรองการปฏิบัติงานในสถานที่เกิดเหตุ ศึกษาแนวทางการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพอาสาสมัคร จัดทำทะเบียนอาสาสมัคร โดยกำหนดแนวทางจัดทำทะเบียนฐานข้อมูลอาสาสมัครโดยจำแนกข้อมูลอาสาสมัครในแต่ละประเภท ตามความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อให้ตรวจสอบและจัดระบบได้ และจัดทำแนวทางวางแผนพัฒนาสมรรถนะบุคลากร จัดทำแบบ E-Learning เพื่อประหยัดงบประมาณ จัดทำแนวทางวางแผนพัฒนาสมรรถนะของอาสาสมัครที่มาลงทะเบียนในระบบ QR Code ที่ได้สร้างขึ้น จัดทำแนวทางปฏิบัติงานของอาสาสมัคร และการควบคุมการเวลามาปฏิบัติงาน
3. ด้านมาตรการลดความเสี่ยง การเตรียมพร้อมและฟื้นฟูเยียวยา ดำเนินการประเมินและจัดระดับความเสี่ยงด้านอัคคีภัย แนะนำ ให้ความรู้เรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเบื้องต้นครบ 351 ชุมชน (100% ของชุมชนชานเมือง) ดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยง 256 ชุมชนที่รถดับเพลิงเข้าไม่ถึง โดยการจัดหาอุปกรณ์ที่สำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมลดความเสี่ยง ตรวจสอบความปลอดภัยอาคารขนาดใหญ่ โรงแรม และโรงงานสถานประกอบการ จัดทำแผนเผชิญเหตุและฝึกซ้อมเผชิญเหตุชุมชน 2,008 ชุมชน ของกทม. ประจำปี 2567 ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ ของเขต โดยมีเป้าหมายดำเนินการปีนี้รวม 340 ชุมชน ดำเนินการฝึกซ้อมแล้ว 68 ชุมชน ทั้งนี้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ได้กำหนดจัดการฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ปี 67 และอบรมการบัญชาการเหตุการณ์ ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ในส่วนการจัดสรรถังดับเพลิงแก่ชุมชน ปี 67 จำนวน 27,611 ถัง ส่งของงวดที่ 1 พ.ค.67 จำนวน 9,204 ถัง จัดสรรแก่ชุมชน มิ.ย. 67 ส่งของงวดที่ 2 มิ.ย. 67 จำนวน 9,204 ถัง จัดสรรแก่ชุมชน ก.ค.67 ส่งของงวดที่ 3 ก.ค.67 จำนวน 9,203 ถัง จัดสรรแก่ชุมชน ส.ค.67 ทั้งนี้ถังดับเพลิงอีก 9,979 ถัง ที่ถูกจัดสรรงบประมาณในปี 2566 เนื่องจากไม่สามารถจัดหาได้ทันตามกำหนดจึงต้องจัดสรรเหลื่อมปี โดยจะจัดสรรแก่ชุมชนในเดือน ส.ค.67 รวมทั้งหมดที่จะจัดสรรให้แก่ชุมชนจำนวน 37,590 ถัง ด้านการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร (9 แผน 9 ภัย) ประกอบด้วย การคมนาคม อัคคีภัย สารเคมีและวัตถุอันตราย วาตภัย แผ่นดินไหวและอาคารถล่ม อุทกภัย ภัยแล้ง มลพิษทางอากาศ โรคระบาดและโรคติดต่อ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยจะนำร่างแผนเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเดือน มิ.ย.67 ต่อไป
4. ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สำนักการจราจรและขนส่ง อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีจราจรและความปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร (Command Center : Intelligent Operation Center : IOC) ระบบบูรณาการเชื่อมโยงกล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานครทั้งหมด โดยใช้โปรแกรมเดียว (Single Software) การเชื่อมโยงข้อมูลด้านจราจร การระบายน้ำ การวางผังและพัฒนาเมือง ระบบบูรณาการบริหารสถานการณ์ (Single Command) หรือ IOC นำระบบการประมวลผลภาพด้วย AI มาใช้งานบางส่วน รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ทั้งข้อมูล และระบบกล้อง CCTV คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2568
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนเสียงดังจากสถานประกอบการในพื้นที่ถนนข้าวสาร นอกจากการชี้แจงให้ความรู้แก่สถานประกอบการแล้ว สำนักงานเขตพระนครได้เฝ้าระวังสถานการณ์เสียงดังโดยติดตั้งเครื่องวัดเสียงบริเวณถนนข้าวสาร 5 จุด ดังนี้ 1. วัดชนะสงครามหน้าคณะ 2 2. หน้าร้านแมคโดนัลด์ 3. หน้าร้านเรนโบว์ (ถ.ข้าวสารฝั่งถนนตะนาว) และอีก 2 เครื่องในชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน
ในส่วนมาตรการป้องกันเหตุรำคาญทางเสียงจากสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะคล้ายสถานบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับอนุญาตให้ขยายเวลาปิดให้บริการถึงเวลา 04.00 น. ดำเนินงานผ่านมาตรการทางกฎหมาย และมาตรการเฝ้าระวังเสียงรบกวนจากสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะคล้ายสถานบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครพื้นที่นำร่อง คือ ถนนข้าวสาร เขตพระนคร
ด้านความก้าวหน้าของระบบฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) ขณะนี้ภัยและจุดเสี่ยงต่าง ๆ ที่แสดงอยู่บนแผนที่ดิจิทัลในอนาคตจะบูรณาการและรวมข้อมูล เพื่อสามารถดูความเสี่ยงภัยในแต่ละประเภทได้ในหน้าเดียวกัน
ในการนี้ นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
————–