Flag
Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567
กทม. เดินหน้ารับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน 160 โครงการ
 
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายการรับมือสภาวะโลกร้อนของ กทม. ว่า สสล. ได้ปรับปรุงและจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 ฉบับใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก แนวทางการปรับตัวทั้งในระดับประเทศ และความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 19 จากกรณีปกติ หรือ 10.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 โดยมีมาตรการและโครงการภายใต้แผนแม่บทฯ ทั้งสิ้น 160 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 46 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 29 ซึ่งมีมาตรการ/โครงการสำคัญ เช่น การพัฒนาระบบรถเวียน (Shuttle Bus) เพื่อรับส่งผู้โดยสารสู่ระบบราง การปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางจักรยานให้เหมาะแก่การสัญจร การติดตั้ง Solar Rooftop อาคารสังกัด กทม. การเปลี่ยนไฟถนนเป็น LED การส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด การก่อสร้างเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน การใช้รถเก็บขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างโรงบำบัดนำเสีย ตลอดจนการนำร่องการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียชนิดท่อแยก การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่สาธารณะ เช่น โครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำและการจัดหาพื้นที่หน่วงน้ำและกักเก็บน้ำ (แก้มลิง) เป็นต้น
      นอกจากนั้น กทม. ยังมีแนวทางส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนและดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างการมีส่วนร่วม เช่น โครงการเสริมสร้างการรับรู้ของเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นโครงการประกวดคลิปสั้นของเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนและการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมถึงขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กทม. เยาวชน มหาวิทยาลัย และองค์กรต่าง ๆ โครงการส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะตามประเภทแหล่งกำเนิด จำนวน 22 กลุ่มเป้าหมาย โดยสำรวจข้อมูลองค์กร หน่วยงาน ชุมชนในพื้นที่ 50 เขต รณรงค์ส่งเสริมการรับรู้ การเข้าใจและมีส่วนร่วมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดต้นทาง และโครงการไม่เทรวม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขยะเศษอาหารและขยะทั่วไป เพื่อให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถส่งไปรีไซเคิลทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดปริมาณขยะที่จะเข้าสู่หลุมฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด กทม. ปรับเปลี่ยนรถในหน่วยงานจากพลังงานเชื้อเพลิงเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดปัญหามลภาวะและสนับสนุนการแก้ไขสภาวะโลกร้อน กทม. ได้มีแนวทางและมาตรการที่จะปรับเปลี่ยนรถราชการเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ โครงการพัฒนาต้นแบบรถไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ของหน่วยงาน กทม. โดยระยะเริ่มต้นจะศึกษาความคุ้มค่าและเปรียบเทียบการทำงานกับรถยนต์สันดาปก่อนการดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและขยายผลการดำเนินการกับรถของ กทม. ในระยะต่อไป รวมทั้งได้ดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนรถเก็บขนมูลฝอยเป็นระบบพลังงานไฟฟ้าด้วย
      สำหรับความคืบหน้าการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว และการเพิ่มสวนสาธารณะของ กทม. ได้พัฒนาพื้นที่สีเขียว ส่วนสวนสาธารณะ ปัจจุบันมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของ สสล. 57 สวน รวมสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย. 67) รวมทั้งได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีขนาดพื้นที่เหมาะสมตามรูปแบบของชุมชน เช่น การพัฒนาสวน 15 นาที ให้มีพื้นที่ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ เหมาะสมกับการใช้งาน การดูแล การเดินทาง และระบบนิเวศโดยรอบ ซึ่งนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ปัจจุบันมียอดจองปลูกต้นไม้จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน 1,641,310 ต้น ดำเนินการปลูกแล้ว 903,204 ต้น พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ โดยสวน 15 นาที ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 117 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ค. 67) เป้าหมายในอนาตจะขยายให้ครบ 500 แห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเสนอพื้นที่เพื่อพัฒนาสวน 15 นาที ร่วมกับ กทม. ได้ และสามารถติดตามการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ผ่าน Website : การดำเนินงานปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง Facebook : สำนักสิ่งแวดล้อม TikTok : สำนักสิ่งแวดล้อม และ Website : สำนักสิ่งแวดล้อม หากมีข้อเสนอแนะสามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน Traffy Fondue เพื่อ กทม. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
กทม. – กรมอุทยานฯ – ชุมชนเทียนทะเล 22 ร่วมแก้ปัญหาลิงแสมอย่างยั่งยืน
 
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าแก้ไขปัญหาลิงแสมในพื้นที่เขตบางขุนเทียนว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบางขุนเทียน ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้แทนภาคประชาชนจากชุมชนเทียนทะเล 22 แก้ไขปัญหาลิงแสมโดยทำหมัน เพื่อควบคุมประชากรลิงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในพื้นที่ซอยเทียนทะเล 22 มีจำนวนลิงแสมประมาณ 100 ตัว ได้รับการทำหมันแล้ว 95 ตัว สังเกตได้จากไม่มีลูกลิงเกาะอกแม่ลิงเพิ่มขึ้น เนื่องจากลิงเป็นสัตว์ที่มีกระบวนการคิดและเรียนรู้ได้จากสภาพแวดล้อม ส่วนลิงที่มีนิสัยดุร้ายมากขึ้นอาจเกิดจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่กระตุ้นความสนใจ เช่น หลอดไฟที่สามารถถอดได้ การยั่วยุทำร้ายร่างกายลิง เป็นต้น สำนักงานเขตฯ จึงได้จัดทำประชาคมร่วมกับประชาชนในพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อคิดเห็น เพื่อหาแนวทางอยู่ร่วมกับลิงแสมได้อย่างยั่งยืน โดยจัดทำ “คู่มือเกร็ดความรู้เรื่องลิง สำนักงานเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร” เพื่อสร้างความเข้าใจพฤติกรรมของลิง เรียนรู้วิธีการอยู่อาศัยร่วมกัน ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทยานฯ ชมรมคนรักลิง ผู้แทนซอยเทียนทะเล 22 และผู้แทนซอยแสมดำ 17 ร่วมกันแก้ปัญหาลิงแสมในเขตบางขุนเทียนอย่างยั่งยืน โดยแบ่งขั้นตอนการแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะ คือ สั้น กลาง และยาว ดังนี้ ระยะสั้น ได้จัดให้มีสถานที่ให้อาหาร เพื่อลดการก่อกวนประชาชนจากการหาอาหารของลิงแสม รวมทั้ง ได้ประสานความร่วมมือภาคประชาชนและตลาดในพื้นที่จัดโซนนิ่งจุดให้อาหารลิงและสนับสนุนอาหารลิงจำพวกผัก ผลไม้ ที่เหลือจากการค้าขายในแต่ละวัน ตลอดจนเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกลิงทำร้าย สามารถขอรับการเยียวยาได้จากกรมอุทยานฯ หรือสายด่วน 1362 และการรักษาพยาบาล สามารถรักษาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ หรือตามสิทธิการรักษาของประชาชน 
ส่วนใน ระยะกลาง ดำเนินการร่วมกับกรมอุทยานฯ ทำหมันควบคุมประชากรลิงและทำประวัติอย่างต่อเนื่อง การทำหมันลิงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – พ.ศ. 2567 รวมจำนวน 283 ตัว ผลการทำหมันมีลูกลิงเกาะอกแม่ลิงลดน้อยลง และปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจประชากรลิง เพื่อจัดทำข้อมูลปัจจุบัน วางแผนการทำหมัน และสำรวจอัตราการเกิดของลิงแสมในพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยสำรวจ เช่น การใช้โดรนจับความร้อนสำรวจลิงในพื้นที่ป่า และระยะยาว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้นำประเด็นการแก้ไขปัญหาลิงแสม เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขในทุกมิติ โดยให้กลุ่ม City lab หรือห้องทดลองเมืองหาแนวทางการแก้ไขปัญหารอบด้านและการอยู่ร่วมกันของลิงแสมและประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน เช่น การจัดพื้นที่อยู่อาศัยให้ลิง การทำหมันควบคุมประชากร เป็นต้น
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ประชุมหารือและวางแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับสำนักงานเขตบางขุนเทียน กรมอุทยานฯ และผู้แทนภาคประชาชนจากชุมชนเทียนทะเล 22 แก้ไขปัญหาลิงแสมในพื้นที่บางขุนเทียนอย่างต่อเนื่อง โดยวางแผน การทำหมัน เพื่อควบคุมประชากรลิงในพื้นที่ซอยเทียนทะเล 22 ซึ่งมีจำนวนลิงแสมประมาณ 100 ตัว ปัจจุบันได้รับการทำหมันแล้ว 95 ตัว อย่างไรก็ตาม การทำหมันลิงไม่ได้ส่งผลต่อด้านพฤติกรรมตามพันธุกรรมและสัญชาตญาณ แต่เป็นการช่วยควบคุมประชากรลิง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอที่ได้รับการยอมรับตามหลักสากลและหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยต้องใช้เวลาดำเนินการต่อไป สำหรับการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกลิงทำร้าย สามารถขอรับการเยียวยาได้จากกรมอุทยานฯ หรือ 1362 ส่วนการรักษาพยาบาล สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ หรือตามสิทธิการรักษาของตนเอง
 
กทม. เข้มมาตรการป้องกันโควิด 19 ในสถานศึกษา – จัดทีม SRRT สอบสวนควบคุมโรค
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงเรียนสังกัด กทม. ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ว่า สนอ. ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยคัดกรองเด็กก่อนเข้าโรงเรียน วิธีปฏิบัติเมื่อพบเด็กป่วย วิธีการจัดการภายในโรงเรียน รวมทั้งการปฏิบัติตัวเมื่อป่วย พร้อมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากรายงานของสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดย สนอ. และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ได้ติดตามสถานการณ์และจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อให้บริการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 การเตรียมความพร้อมทั้งยาและเวชภัณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 และโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ นอกจากนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ได้ประสานความร่วมมือสถานศึกษาในพื้นที่ ให้ความรู้ให้สุขศึกษาแก่บุคลากรของสถานศึกษา เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สุขศึกษาแก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนในการดูแลรักษาสุขภาพ ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก ตลอดจนให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติกรณีติดเชื้อโควิด 19 
      นอกจากนี้ สนอ. ยังได้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ความรู้โรคติดต่อ และการป้องกัน เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ แผ่นปลิว สื่ออินเทอร์เน็ตให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้คำแนะนําสถานศึกษาให้ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส หรือวัตถุที่ใช้ร่วมกันอย่างน้อยวันละครั้ง โดยใช้น้ำและผงซักฟอก ปิดสถานศึกษา หรือที่ทำงานเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่มีความจําเป็นในสถานการณ์ปกติ หากมีสถานการณ์ระบาดที่น่ากังวล ให้ปรึกษาหน่วยงานที่รับผิดชอบการปิดสถานศึกษา หรือที่ทำงานในพื้นที่ ไม่แนะนําการตรวจคัดกรองอาการและการตรวจ ATK เป็นประจำ (Routine Test) ควรตรวจ ATK เฉพาะผู้มีอาการสงสัยการติดเชื้อโควิด 19 หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน หรือสงสัยติดเชื้อโควิด 19 หากผลการตรวจเป็นบวกให้พิจารณาหยุดกักตัวจนกว่าอาการจะดีขึ้นและไม่มีไข้แล้ว 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งปฏิบัติตนตามคำแนะนําสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 จัดการระบบอากาศโดยเปิดประตู หน้าต่าง ส่วนการเปิดพัดลมอาจพิจารณาใช้พัดลมดูดอากาศและเครื่องฟอกอากาศ หรือการใช้รังสีอัลตราไวโอเลตร่วม ตามทฤษฎีการใช้เครื่องฟอกอากาศ เช่น HEPA มีผลในการลดละอองฝอยที่ปนเปื้อนไวรัส แต่เนื่องจากไม่มีผลการศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันการเกิดโรคที่ชัดเจน จึงแนะนําให้พิจารณาใช้มาตรการเสริมการป้องกันการแพร่เชื้อ และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนควรจัดในสถานที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี แนะนําการคัดกรองอาการป่วยของผู้ร่วมกิจกรรม ผู้มีอาการป่วยให้หลีกเลี่ยงการร่วมทำกิจกรรม ไม่แนะนําการตรวจคัดกรอง ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน
แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200