กทม. เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์-แก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองช่องนนทรี
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ตามที่มีข้อสังเกตน้ำในคลองสีขุ่นและต้นไม้แห้งไม่ได้รับการบำรุงรักษาว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างค้ำประกันผลงานของผู้รับจ้าง สนย. ได้เร่งรัดผู้รับจ้างให้เข้าดำเนินการแก้ไขปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามดังเดิม โดยผู้รับจ้างได้จัดเตรียมพันธุ์ไม้และเข้าดำเนินการซ่อมแซม ทั้งนี้ สนย. จะเข้มงวดกวดขันผู้รับจ้างให้บำรุงดูแลรักษา เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนของประชาชนตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักการระบายน้ำ (สนน.) แก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี โดยเบื้องต้น สนน. ได้เพิ่มระดับน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี ทั้งนี้ สนย. มีแผนที่จะส่งมอบการดูแลบำรุงรักษาพื้นที่ดังกล่าวให้สำนักงานเขตพื้นที่เมื่อสิ้นสุดการค้ำประกันผลงาน โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันแล้ว
สำหรับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 3 จากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ อยู่ระหว่างขอแก้ไขสัญญาเนื่องจากปรับแก้รูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน คาดว่า จะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ค. 67 ส่วนโครงการฯ ช่วงถนนจันทน์ถึงถนนพระรามที่ 3 อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2568
———–
รร.กทม. ตรวจคัดกรองสุขภาพนักเรียน พร้อมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19
นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงเรียนสังกัด กทม. รองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ว่า โรงเรียนสังกัด กทม. ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือให้นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครองให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้แก่ ประสานผู้ปกครองให้เฝ้าระวังและตรวจคัดกรองบุตรหลานก่อนพามาโรงเรียน หากพบว่า มีไข้ ไอ จาม หรืออาการอื่นใดให้นักเรียนหยุดเรียน เพื่อเฝ้าดูอาการที่บ้าน หรือพบแพทย์ต่อไป อีกทั้งเพิ่มความถี่ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมในโรงเรียน เช่น ตู้กดน้ำดื่ม โต๊ะอาหาร คอมพิวเตอร์ ราวบันได ที่จับบานประตู หน้าต่าง ห้องน้ำ ตรวจสอบสุขอนามัยอาหารภายในโรงเรียน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครองในการเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนอย่างปลอดภัย
ขณะเดียวกันได้ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงเรียนสังกัด กทม. หลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 โดยตรวจคัดกรองสุขภาพนักเรียนตามมาตรฐานงานอนามัยโรงเรียน เฝ้าระวังสังเกตอาการ หากมีอาการทางเดินหายใจ ไม่ควรมาโรงเรียนจนกว่าอาการจะดีขึ้นและตรวจ ATK รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ปกครองแจ้งข้อมูลการเจ็บป่วยของนักเรียนให้โรงเรียนทราบ กรณีพบกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ให้ประสาน ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่และส่งต่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิการรักษา หากมีการติดเชื้อในสถานศึกษาให้จัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม กรณีมีเด็กป่วยในชั้นเรียนพร้อมกัน 3 คนขึ้นไป ควรปิดชั้นเรียนนั้น เพื่อทำความสะอาด หากเกิดขึ้นหลายชั้นอาจปิดเป็นระดับชั้นเรียน แต่หากพบมากในหลายระดับ อาจจำเป็นต้องปิดโรงเรียน เพื่อลดการระบาดของโรคและปฏิบัติตามขั้นตอนการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19
นอกจากนี้ โรงเรียนสังกัด กทม. ได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ให้แก่นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน และผู้ปกครอง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ถือปฏิบัติ ดังนี้ (1) เน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล กับนักเรียน บุคลากรทุกระดับ ผู้ปกครอง โดยควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก หากต้องเข้าในที่แออัด ให้เว้นระยะห่างที่เหมาะสม (2) เปิดประตูหน้าต่างห้องเรียนให้อากาศถ่ายเทสะดวก กรณีใช้เครื่องปรับอากาศให้เปิดประตูหน้าต่าง ระบายอากาศบ้าง เช่น ช่วงเวลาพักเที่ยง หรือช่วงเวลาที่ไม่มีการเรียนการสอน (3) เน้นย้ำครู บุคลากรผู้เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนและนักเรียนทุกคน ทุกชั้นได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ตามเกณฑ์ และ (4) โรงเรียนในสังกัด กทม. ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติให้แก่ผู้ปกครองและแนวทางการดูแลรักษากรณีบุตรหลานติดเชื้อโควิด 19