Flag
Search
Close this search box.
ธนบุรีสำรวจตัวจริงผู้ค้าสี่แยกบ้านแขก เล็งยกเลิกผู้ค้าหน้าตลาดสำเหร่ ชมคัดแยกขยะชุมชนวัดบุปผาราม พัฒนาสวน 15 นาทีใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ คลองสานจัดระเบียบต่อเนื่องผู้ค้าถนนลาดหญ้า

(17 พ.ค.67) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตธนบุรี ประกอบด้วย

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณสี่แยกบ้านแขก และหน้าตลาดสำเหร่ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 215 ราย ได้แก่ 1.ตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. ฝั่งขาออก ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-23.00 น. รวมผู้ค้า 74 ราย 2.ตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ฝั่งขาออก ผู้ค้า 26ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. รวมผู้ค้า 66 ราย 3.ถนนรัชดาภิเษก (ไทยช่วยไทย) ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 4.สี่แยกบ้านแขก ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-21.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 74 ราย ได้แก่ 1.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-24.00 น. 2.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 3.ซอยอิสรภาพ 13-15 ผู้ค้า 33 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-24.00 น. 4.หน้าคอนโด Whizdom ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-24.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย 2.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจจำนวนผู้ค้าบริเวณสี่แขกบ้านแขก ให้ยอดตรงกับจำนวนผู้ค้าที่ยังทำการค้าอยู่จริง กวดขันผู้ค้าทั้งด้านนอกอาคารและด้านในอาคาร ไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน ขนาดของร้านค้าต้องไม่เกินขอบเขตที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พร้อมกันนี้ได้สแกนคิวอาร์โค้ดตรวจสอบตัวตนของผู้ค้าที่ได้ลงทะเบียนทำการค้าไว้กับทางเขตฯ เพื่อป้องกันบุคคลอื่นแอบสวมรอยเข้ามาทำการค้าในจุดดังกล่าว ส่วนบริเวณหน้าตลาดสำเหร่ มีผู้ค้าที่ได้รับเงินค่าทดแทนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จำนวน 59 ราย โดยได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณายกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าว เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนวัดบุปผาราม พื้นที่ 27 ไร่ ประชากร 892 คน บ้านเรือน 245 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เข้าร่วมโครงการไม่เทรวม โดยคัดแยกเศษอาหาร และนัดหมายเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนตามโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนวัตกรรม เพื่อการคัดแยกขยะรีไซเคิลชุมชนวัดบุปผาราม จัดตั้งศูนย์รวบรวมขยะรีไซเคิล (จุด Drop off ชุมชนวัดบุปผาราม) เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน (ขายเดือนละ 1 ครั้ง) เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดนวัตกรรมของชุมชนบ้านเอื้ออาทร บางโฉลง จังหวัดสมุทรปราการ และมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์) ร่วมกับชุมชนผลิตถุงดักเงินดักทอง (ถุงตาข่ายใส่ขยะรีไซเคิลประเภทขวดพลาสติก) เพื่อดึงดูดความสนใจประชาชนในชุมชนให้คัดแยกขวดพลาสติกใส่ถุง และจัดส่งนักศึกษาลงชุมชน เพื่อสอนทำคอกคัดแยกขยะไว้ใช้เอง 3.ขยะทั่วไป ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชนคัดแยกขยะ ทิ้งขยะอย่างถูกวิธี ใส่ถุงดำมัดปากถุงให้เรียบร้อย นำออกมาวางตามรอบเวลา รอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย รวบรวมขยะภายในชุมชน และนัดหมายเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 800 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 440 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 350 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 9.5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน

พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณพื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ เขตฯ มีสวน 15 นาที ได้แก่ 1.สวนภายในสำนักงานเขตธนบุรี พื้นที่ 100 ตารางเมตร 2.พื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ พื้นที่ 2,400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำเป็นสวน 15 นาที สวนสาธารณะแห่งใหม่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายในเวลา 15 นาที หรือระยะทาง 800 เมตร โดยจัดทำทางเดิน-วิ่งออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ได้แก่ ต้นประดู่บ้าน ต้นทองอุไร ต้นไทรเกาหลี ต้นเฟื่องฟ้า ต้นไทรทอง ต้นชาฮกเกี้ยน เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ โดยได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเขตฯ มีแนวคิดที่จะจัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติม โดยขยายสวนเดิมออกไปทางด้านสถานีโพธิ์นิมิตร พัฒนาพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ฝั่งธนบุรี อยู่ระหว่างการปรับสภาพพื้นที่ จัดทำทางเดิน-วิ่งออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในส่วนที่ต่อขยาย 3.สวนข้างสถานี BTS วุฒากาศ พื้นที่ 800 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างปรับสภาพพื้นที่และปลูกต้นไม้

ในวันเดียวกันนี้ เวลา 13.00 น. รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะฯ ตรวจการจัดระเบียบผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ผู้ค้า 45 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-02.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำแนวเส้นที่เขตฯ กำหนด เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้า ปัจจุบันเขตคลองสาน มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 457 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 14 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 201 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยกรุงธนบุรี 1-5 2.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญรัถ 1-5

ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ว่าที่ร้อยตรีเดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตธนบุรี เขตคลองสาน สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200