เปิดผลชันสูตรชายพลัดตกท่อ ครอบครัวร่ำไห้ เชิญวิญญาณ รับร่างบำเพ็ญกุศล น้องชายผู้ตายเรียกร้องค่าเสียหาย 10 ล้าน สงสารพี่สาวที่จากนี้ต้องอยู่เพียงคนเดียว ปชป.เร่งรวบรวมข้อมูลพร้อมช่วยเหลือด้านกฎหมาย
กรณีนายกำธร จารุอนันต์ อายุ 59 ปี พลัดตกบ่อพักและท่อร้อยสายไฟ บริเวณ ปากซอยลาดพร้าว 49 ถนนลาดพร้าว แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง กทม. เสียชีวิต ระหว่างจะไปหาพี่สาวที่สุขุมวิท และลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม นายกำพล จารุอนันต์ อายุ 57 ปี น้องชายของนายกำธร เปิดเผยว่า ครอบครัวได้ตัดสินใจจะเรียกร้องค่าเสียหายในการเยียวยาเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท เพราะผู้ตายเป็นผู้ที่ดูแลพี่สาวคนโต พอไม่มี พี่ชายก็ทำให้ครอบครัวลำบากขึ้น ถ้ามีพี่ชายอยู่ แม้จะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่วันเสาร์-อาทิตย์ ก็ยังพาออกไปเที่ยวและกินข้าวตลอดพร้อมกับ ยืนยันว่าไม่ให้อภัย ส่วนตัวอยากให้หน่วยงานรัฐ เข้ามาเปลี่ยนเรื่องฝาท่อให้เสร็จเรียบร้อย อย่าทำแบบขอไปที คิดว่าแค่ไม้อัดมาปิดฝาท่อเพื่อทดแทนชั่วคราว หากเด็กเดินผ่านก็ทำให้พลัดร่วงตกลงไปในท่อได้เหมือนกัน นอกจากนั้น บริเวณฝาท่อมีต้นไม้และดินปกปิดทำให้ประชาชนที่ข้ามถนนไม่สามารถสังเกตได้
“ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าลองให้คนในบ้านมาเดินดู และหากอ้างว่าฝาท่อมีไม่เพียงพอ ทำไมหลังเกิดเหตุถึงนำฝาปูนมาปิดทันที สิ่งนี้ทำให้เห็นและแสดงว่าฝาปูนนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว แต่หน่วยงานแค่สะเพร่าและไม่ยอมทำ การหล่อฝาท่อใหม่น่าจะใช้เวลาไม่นาน ถ้ากลัวว่าฝาท่อหายทำไมถึงไม่ติดกล้องเอาไว้ เพราะถ้าหากมีการติดกล้องก็สามารถติดตามจับผู้ก่อเหตุได้”
นายกำพลกล่าวว่า หลังเกิดเหตุญาติคุยกันว่าจะเรียกร้องค่าเสียหายในการเยียวยาเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าคงมีการเจรจาต่อรองกัน แต่อยากให้เห็นใจพี่สาวคนโต ที่ปกติจะอยู่กับผู้เสียชีวิตกัน 2 คนมาตลอด จากนี้พี่สาวซึ่งป่วยโรคเบาหวาน ความดัน อยู่ในวัยชราจะต้องอยู่เพียงลำพังคนเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมว่า ต่อมาญาติผู้เสียชีวิตจุดธูป 1 ดอก ก่อนนำ สายสิญจน์ให้พระและนำร่างนายกำธรขึ้นรถตู้ มูลนิธิมาเชิญวิญญาณ บริเวณจุดเกิดเหตุ ก่อนจะนำไปสวดพระอภิธรรมที่วัดธาตุทอง เขตวัฒนา กทม. เป็นเวลา 2 คืน และมีพิธีฌาปนกิจในวันที่ 6 พ.ค.นี้
นายกำพลกล่าวว่า หลังประสานทำเรื่องขอรับร่างพี่ชาย เบื้องต้นผลชันสูตรของแพทย์พบว่าเสียชีวิตจากสาเหตุจมน้ำ ประกอบกับกระดูกต้นคอหัก คาดว่ามาจากการกระแทก โดยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ติดต่อเข้ามาพร้อมกับมอบเงินเยียวยาให้ เบื้องต้น ส่วนนายฐิติวุธ เงินคล้าย รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง ให้เลขาฯติดต่อมา แต่ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องเงินเยียวยา เพียงแค่แสดงความเสียใจ แต่ไม่ได้ขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ส่วนตัวมองว่านายฐิติวุธ ไม่จริงใจและคิดว่าจะจบเรื่องนี้ได้โดยง่าย เพราะครั้งแรกบอกจะมาร่วมงานศพแต่ เปลี่ยนใจให้เลขาฯมาแทน
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงผู้เสียชีวิตจากการข้ามถนนและตกท่อร้อยสายไฟ ฝั่งตลาดสะพานสอง ลาดพร้าว 49 ว่า ขอประณามความมักง่ายของหน่วยงานที่ไม่เคยคิดถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน หลักความปลอดภัยสาธารณะ คือหลักประกันขั้นพื้นฐานอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อประชาชนมากที่สุด อย่าคิดว่าประชาชนมีราคาชีวิตที่ถูกมาก เกิดเหตุการณ์ก็เยียวยากันไป แต่ชีวิตคนมีค่ามากกว่านั้น
นายราเมศกล่าวว่า ปชป.กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนผู้เสียหายทางพรรคจะเข้าไปช่วยดูในเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งต้องแนะนำครอบครัวผู้เสียหายว่าต้องดำเนินคดีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด ถึงเวลาที่ต้องร่วมกันหาวิธีการป้องกันรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้อง ประชาชนอย่างจริงจังและยั่งยืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง กรุงเทพฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ การที่ออกมาบอกในลักษณะว่าเป็นงานของ กฟน. ทั้งๆ ที่ กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ส่วน กทม. จะไปไล่เบี้ยก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง
นายราเมศกล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากความรับผิดชอบแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดควรคุยกันและเริ่มวางระบบหลักประกันขั้นพื้นฐาน ในเรื่องความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะต้องมารับกรรมจากความชุ่ยของแต่ละหน่วยงานที่ไร้ซึ่งความละเอียดรอบคอบ มีแต่ความละเลยประมาทเลินเล่อ ตอนนี้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ กทม. ต้องเร่งแก้ไขตรวจทุกพื้นที่ที่มีลักษณะเช่นนี้ ก่อนวางแผนแก้ไขในระยะยาวอย่างไร
บรรยายใต้ภาพ
ทวิดา กมลเวชช
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 5 พ.ค. 2567