‘ราชประสงค์โมเดล’ แก้จราจร หยุดส่วยแท็กซี่-สามล้อจอดแช่

นับตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหารถแท็กซี่ รถสามล้อจอดรอผู้โดยสารกีดขวางการจราจรบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวันเป็นเหตุให้รถเมล์ไม่สามารถจอดเทียบป้ายหน้าศูนย์การค้าดังกล่าวได้ ต้องขยับมาจอดรับผู้โดยสารเลนที่ 2-3 ทำให้ประชาชนต้องเสี่ยงอันตรายเดินข้ามถนนเพื่อขึ้น-ลงรถเมล์

นายชัชชาติ ใช้วิธีนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขผ่านการไลฟ์สด โดยการติดตั้งเสาเอสการ์ด ยกขอบกั้นถนน 1 เลน บริเวณหน้าศูนย์การค้าตลอดแนว จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นช่องจอดรับ-ส่งคนชั่วคราวโดยเฉพาะ สำหรับรถโดยสารสาธารณะและรถทั่วไป ห้ามจอดแช่เหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้การกั้นช่องจราจรดังกล่าวไม่ไปกระทบการจราจรช่องอื่นๆ ขณะเดียวกัน ในการลงพื้นที่ มี พ.ต.ท.โรจนินทร์ธิติภัสสราวงศ์ รอง ผกก.จร.สน.ลุมพินี และตัวแทนจากกรมการขนส่งทางบก ร่วมติดตามดูแลการแก้ปัญหาในแง่การตรวจยึดใบอนุญาตขับรถสาธารณะ การจราจร และการจับปรับผู้กระทำผิดกฎจราจร ขณะที่สำนักเทศกิจและสำนักการจราจรและขนส่ง จะดูแลเรื่องความเรียบร้อยบนทางเท้าและการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือประชาชน ไปขึ้นแท็กซี่ในจุดที่ศูนย์การค้าจัดไว้ให้ 3 จุด ได้แก่ 1.ด้านหน้าตรงข้ามโรงพยาบาลตำรวจ 2.ด้านหลังโรงแรมเซ็นทาราฯ 3.ด้านข้างใกล้สวนปทุมวนานุรักษ์ ซึ่งเป็นจุดที่กำหนดให้แท็กซี่กดมิเตอร์รับผู้โดยสาร

จากการแก้ปัญหาโดยการกั้น 1 ช่องจราจรสำหรับรับ-ส่งคนของนายชัชชาติ ก่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์แพร่หลายวงกว้างในโลกโซเชียลฯ หลายเพจนำภาพมานำเสนอสร้างกระแสแสดงความคิดเห็นแตกแขนงออกไปหลายฝ่ายมองว่าทำให้รถติดมากขึ้นกว่าเดิมเพราะรถเมล์เคยชินกับการจอดรับผู้โดยสารเลนที่ 2 เพราะหากเข้าเลนที่ 1 จะไปติดรถแท็กซี่จอดขวาง ทำให้เสียเวลา ไม่สามารถขยับหนีได้ เนื่องจากถนนเลนที่ 1 ถูกกั้น ซ้ำร้ายมีผู้นำเสนอภาพรถสามล้อจอดรอผู้โดยสารเลนที่ 2 ติดขอบเสาเอสการ์ดที่ กทม.กั้นไว้ กลายเป็นว่า รถเมล์ต้องขยับไปจอดรับผู้โดยสารถึงเลนที่ 3 สร้างการจราจรติดขัด และประชาชนเสี่ยงอันตรายยิ่งกว่าเดิม โดยสรุปคือ จากการกั้นถนนของกทม.ยังพบแท็กซี่จอดเลนที่1 เหมือนเดิม และพบรถสามล้อหนีไปจอดเลนที่ 2 ส่วนรถเมล์ไปจอดเลนที่ 2-3 แล้วแต่จังหวะและโอกาสอย่างไรก็ตาม การไลฟ์สดแสดงแนวทางแก้ไขและการส่งเสียงของนายชัชชาติ สามารถ”เปิดแผล” สร้างกระแสวิจารณ์เพื่อให้สังคมช่วยกันหาทางออกได้ เป็นชนวนให้หลายฝ่ายช่วยกันพูดถึงปัญหาโดยละเอียดไปถึงต้นตอ ว่ามีการเก็บ “ส่วยรถแท็กซี่ รถสามล้อ” ของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจกำกับดูแลโดยตรง จึงไม่มีการกวดขันผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด ละเลยเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้กระทำความผิด ทำให้รถแท็กซี่ รถสามล้อ กล้าจอดรอผู้โดยสารโดยไม่แคร์กฎหมาย ไม่สนใจความเดือดร้อนและเสี่ยงอันตรายของประชาชน งานนี้เจ้าหน้าที่รัฐกลับเป็นต้นตอปัญหาเสียเอง

ร้อนถึงนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐาทวีสิน ในฐานะประธานคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งประกาศให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนในกรุงเทพฯโดยมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นคณะทำงาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหา “ส่วยรถแท็กซี่” ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ฝั่งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน ร่วมกับหน่วยงาน กทม. นำโดย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

จากการลงพื้นที่ดังกล่าวในวันนี้ นายชัยวัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีสั่งให้หาทางแก้ไข ดังนี้ 1.แก้ไขเรื่องรถติดและแท็กซี่จอดแช่ 2.อำนวยความสะดวก ความปลอดภัยประชาชนและนักท่องเที่ยวในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง 3.ให้ประชาชนมีความสะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางไปโรงพยาบาล (รถพยาบาล) ทั้งนี้หากทำสำเร็จจะมีการขยายไปแก้ไขจุดอื่นๆต่อไป

ด้าน พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าจากการดำเนินการแก้ไขประมาณ 5-7 วัน โดยร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ตำรวจนครบาลปัจจุบันไม่มีรถจอดในที่ห้ามจอด รถเมล์สามารถเข้าป้ายได้ตามปกติ แต่บางเวลายังพบรถแท็กซี่จอดในที่ห้ามจอดอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ขอความร่วมมือกับแอปพลิเคชันขนส่งผู้โดยสารให้ขยับหมุดจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารไปยังภายในศูนย์การค้าซึ่งมีการจัดเตรียมพื้นที่ไว้ให้คาดว่า 3 วันดำเนินการแล้วเสร็จ

นายวิศณุ ทรัพสมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้ติดตั้งกล้องAI สำหรับตรวจจับผู้กระทำผิดกฎจราจรในพื้นที่ดังกล่าว โดยประสานข้อมูลไปยังตำรวจในพื้นที่เพื่อทำการจับปรับตามกฎหมาย หลายเรื่องกทม.ไม่มีอำนาจทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ส่วนเรื่องส่วยแท็กซี่หรือการจอดแช่ เมื่อมีการจับปรับโดยกล้อง AI และการกวดขัน รวมถึงส่งข้อมูลให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการการจอดแช่ก็จะหายไปเอง

ด้านนายชัชชาติกล่าวถึงการกั้นช่องจราจรในช่วงแรกมีผู้ไม่เข้าใจจำนวนมากจนเกิดกระแสสังคม แต่ขณะนี้จากการลงพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิด พบว่า การจราจรบริเวณดังกล่าวคล่องตัวมากขึ้น ด้านการจับกุมลงโทษ กทม.ไม่มีอำนาจ จึงได้ประสานกรมการขนส่งทางบก กำหนดบทลงโทษแท็กซี่ที่ไม่รับคนไทย คิดมิเตอร์เกินจริง ไม่กดมิเตอร์ และจอดแช่รอรับชาวต่างชาติ ทั้งนี้ มีแนวคิดสามล้อมิเตอร์ในอนาคตด้วยโดยอธิบดีกรมการขนส่งทางบกได้รับเรื่องทั้งหมดไปพิจารณาแล้ว

จากนี้ก็คงต้องติดตามต่อไปว่า ระดับนายกรัฐมนตรีมอบหมายสั่งการ จะสามารถแก้ไขได้ยั่งยืนหรือไม่ เพราะส่วยแท็กซี่หรือแท็กซี่จอดแช่ ไม่ได้มีจุดเดียว งานนี้แม้ กทม.ไม่มีอำนาจเต็มในการจัดการทั้งหมด แต่นายชัชชาติได้พยายามจุดชนวนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้นตอแล้ว ผ่านกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมโซเชียลฯ

 



ที่มา:  นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 6 พ.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200