BKK Food Bank กระจายอาหารส่วนเกินได้แล้ว3ตัน

กรุงเทพมหานคร ริเริ่ม โครงการ BKK Food Bank Center แก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง อาหารส่วนเกิน แบ่งปันอาหารให้กลุ่มเปราะบางวางเป้ากระจายสู่พื้นที่ 50 เขต

กรุงเทพมหานครมีนโยบายแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (Food waste )โดยได้ริเริ่ม โครงการ BKK Food Bank Center แบ่งปันอาหารให้กลุ่มเปราะบางไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และจะเป็นอีกช่องทางในการกระจายของสู่ผู้ที่มีความต้องการ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างผู้ให้และผู้รับอย่างยั่งยืน ผู้รับจะได้รับการสะสมแต้มแลกสินค้า เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการด้านการจัดเก็บฐานข้อมูลอย่างยั่งยืน โดยนำร่องในพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตห้วยขวาง เขตบางขุนเทียน เขตพระโขนง และเขตบางพลัด

ช่วงแรกดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 Food surplus หรืออาหารเหลือทิ้ง จากร้านสะดวกซื้อที่ขายไม่หมด ไม่เสีย แต่ไม่ขายแล้วเป็นอาหารที่ต้องทิ้ง สามารถนำไปส่งต่อให้กลุ่มเปราะบางได้ ซึ่ง กทม.ได้ทำระบบขนส่งอาหารเองโดยร่วมกับ มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ (Scholars Of Sustenance : SOS Thailand) ช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารก่อนใช้รถเทศกิจ ส่งต่อเวียนไปยังชุมชนต่าง ๆ นำร่อง 10 เขต โดยภายในปี 2567 จะขยายให้ครบ 50 เขต รวมถึงให้พนักงานกวาดถนนไปรับที่ร้านสะดวกซื้อเอง โดยเวลา 06.00 น. ได้นำไปแจกจ่ายพนักงานกวาดถนน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง

แบบที่ 2 คือ การรับบริจาค โดยทำต้นแบบที่เขตห้วยขวาง ร่วมกับวัดที่ บริจาคของใช้จากสังฆทานจำนวนมาก เขตจัดทำห้องรับบริจาคเป็นมินิมาร์ทมีสิ่งของทั้งของใช้ ของกิน อาหารแห้ง เลือกใช้วันพระเป็นวันเปิดห้องให้กลุ่มเปราะบางมา รับได้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและเป็นประธานการส่งต่อความช่วยเหลือผ่านศูนย์ BKK Food Bank Center เขตพระโขนงว่า อาหารส่วนเกิน (Food Surplus) เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ดำเนินการสัปดาห์ละ 3 วัน (อังคาร พุธ และพฤหัสบดี) ส่งต่ออาหารแก่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชุมชนที่จัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร 45 ชุมชน และอีก 15 ชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียน, เจ้าหน้าที่ภาคสนามของสำนักงานเขตพระโขนง และเด็กนักเรียนด้อยโอกาส ในปีงบประมาณ 2567 มีเป้าหมายการดำเนินงาน 139 ครั้ง ดำเนินการแล้ว 81 ครั้ง (คิดเป็น 58.27 %) รวมส่งต่ออาหารแล้ว 3,399 ราย คิดเป็น 14,116.03 มื้ออาหาร รวมน้ำหนักอาหารส่วนเกิน 3,361.02 กิโลกรัม คิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่ลด 8,503.39 คาร์บอนไดออกไซด์ (TCO2e)

ส่วน อาหารบริจาค (Food Donation) ส่งมอบอาหารแก่กลุ่มเปราะบาง ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์พระวิหาร โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเปราะบางในชุมชนจดทะเบียน 45 ชุมชน ในชุมชนไม่จดทะเบียน 15 ชุมชน กลุ่มคนงานภาคสนามของสำนักงานเขตพระโขนง กลุ่มนักเรียนผู้ด้อยโอกาส รวมถึงเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนหมู่บ้านนิรันดร์วิลล่า ดำเนินการตั้งแต่มีนาคม 2566 เป็นต้นมา ทั้งใน รูปแบบอาหารปรุงสุก ข้าวสาร อาหารแห้ง ถุงยังชีพ ฯลฯ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมีผู้ได้รับความช่วยหลือรวม 794 ราย

ผู้สนใจร่วมบริจาคอาหารได้ที่สำนักงานเขตดังกล่าว โดยกทม.ตั้งเป้าหมายขยายเป็นโครงการ BKK Food Bank Center ให้ครอบคลุม 50 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด.

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 พ.ค. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200