กทม.แถลงผลโครงการ “ไม่เทรวม” 2 ปี ร่วมภาคีแยกขยะเศษอาหาร ประหยัดงบจัดการขยะได้ 141 ล้าน เดินหน้าเฟส 2 ลุยร้านอาหาร-ชุมชนเข้มขึ้น
วันที่ 14 พ.ค.2567 นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร และนางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย ร่วมแถลงความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายไม่เทรวมของกรุงเทพมหานคร ในกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “กทม.เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย” (I’M IN) ตอน “ไม่เทรวม” ณ ตลาดคลองเตย และศูนย์การเรียนรู้เรื่องการแยกขยะ สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า เขตคลองเตย
นายเอกวรัญญู กล่าวว่า หลักการของการจัดการขยะ มี 3R คือ Reduce Reuse Recycle ในส่วน Reduce นอกจากโครงการไม่เทรวม ยังมีโครงการจุดเติมน้ำฟรี ประกาศเจตนารมณ์กทม.ลดใช้พลาสติก หลักสูตร “การลดขยะสำหรับโรงเรียน” Reuse มีโครงการ Food Bank เปิดแล้ว 13 เขต ปีนี้จะครบ 50 เขต การรับบริจาคคอมพิวเตอร์ เสื้อผ้ามือสอง Recycle โครงการไม่เทรวม ประกวดต้นแบบ Zero Waste Organizations จาก 18 แหล่งกำเนิด มีการศึกษาสร้างโรงคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลแบบครบวงจร และจะขยาย scope ประเภทขยะที่จะทำให้เข้มข้นขึ้น
สำหรับ “โครงการไม่เทรวม” เริ่มปี 2565 ตั้งแต่ผู้ว่าฯเข้ารับตำแหน่ง โดยเห็นความสำคัญของการ คัดแยกขยะ จากปริมาณขยะที่เก็บได้ต่อปี 8,000 กว่าตัน ร้อยละ 50 เป็นขยะเศษอาหาร ขยะที่มีมูลค่าเกิดการ ปนเปื้อนนำไปใช้ประโยชน์ได้ยาก มีขยะนำไปกำจัดจำนวนมากเสียงบประมาณสูง และบางส่วนอาจปล่อยมลพิษ จึงได้เกิดโครงการไม่เทรวม แบ่งแหล่งกำเนิดขยะ 3 กลุ่มตามจำนวนขยะ คือ L ตลาด สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงแรม ศาสนสถาน M ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ชุมชน และ S บ้านเดี่ยว ห้องแถว แยกเป็นการจัดการขยะอินทรีย์ มีทั้งจัดการเอง และ กทม. ไปรับมาจัดการ และขยะแห้ง มีทั้งประสานเอกชนมารับ และ กทม. ตั้งจุดรับ ขนาด 3×2 ผลการคัดแยกขยะ ปี 2567 กลุ่ม L มีแหล่งกำเนิดเข้าร่วม 2,805 แห่ง สามารถคัดแยกเศษอาหารได้ทั้งหมด 22,140 ตัน หรือ 180 ตัน/วัน โดยมีตลาดเข้าร่วม 184 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 76 ตัน/วัน สถานศึกษาเข้าร่วม 457 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 19.4 ตัน/วัน ห้างเข้าร่วม 114 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 23.3 ตัน/วัน กลุ่ม M มีมากกว่า 600 แห่ง ที่เข้าร่วม โดยมีรถเฉพาะ จัดเก็บเศษอาหารที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดจุดพักรวม และ มีเกษตรกรรับไปเป็นอาหารสัตว์ ส่วนชุมชนจะมีจุดทิ้ง ทุกบ้านจะได้ถังเล็ก 20 ลิตร พร้อมตะแกรง มีรถเฉพาะมารับ จันทร์-พุธ-ศุกร์ รถขยะทั่วไปเก็บเหมือนเดิม ปริมาณขยะปี 2566 ลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตัน/วัน เป็นเงิน 387,600 บาท หรือ 64,460 ตัน/ปี ลดค่าจัดการขยะได้ เป็นเงิน 141,474,000 บาท
“โครงการไม่เทรวมของกรุงเทพมหานครดำเนินการ มา 2 ปีแล้ว ซึ่งความสำเร็จของโครงการเป็นเรื่องของภาคี การมีส่วนร่วมของทุกคน โดยที่ตลาดคลองเตย ก็เป็น ส่วนหนึ่งที่ร่วมโครงการที่เห็นผล ทำให้สามารถลดงบ ประมาณในการจัดการขยะของกทม.ได้มหาศาล เป้าหมาย ที่ท้าทายต่อไปของเรา คือ ประเทศเปิดมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ปริมาณขยะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เราจะสามารถลดปริมาณขยะส่วนนี้ให้ได้ดีขนาดไหน หมายความว่าหน่วยงานต่างๆ และภาคีต้องร่วมกันแยกเศษอาหารให้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม นั่นคือเป้าหมายในปีนี้ ที่จะเจาะไปที่ M และ S ในกลุ่มร้านอาหาร ชุมชนและบ้านเรือประชาชนมากขึ้น โดยจะมีการแถลงใหญ่โครงการไม่เทรวมเฟส 2 กลางปีนี้” โฆษกกทม.กล่าว
ด้านผู้อำนวยการเขตคลองเตย กล่าวถึงการจัดการขยะโครงการไม่เทรวมของเขตคลองเตย ว่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เขตคลองเตย มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่เทรวม 29 แห่ง โดยเชิญชวนสถานประกอบการที่มีขยะจำนวนมากเข้าร่วม เช่น ห้าง สรรพสินค้า โรงแรม ตลาด ปริมาณขยะอินทรีย์ที่คัดแยกได้ประมาณ 2,000 ต้น (ม.ค.-ก.ย.2566) สำหรับการจัดการขยะที่ตลาดคลองเตยเป็นตลาด 24 ชม. มีการคัดแยก ขยะอินทรีย์ เศษผักผลไม้ โดยรถอัดขยะขนาด 5 ตัน เวลา 07.00-08.00 น. คัดแยกได้วันละ 5-6 ตัน และ คัดแยกโดยตู้อัดขยะ คอมแพคเตอร์ เวลา 10.00-06.00 น. (ของวันรุ่งขึ้น) คัดแยกได้วันละ 8-10 ตัน รวมปริมาณขยะเศษผักผลไม้ในตลาดคลองเตย ประมาณ 15 ตัน/วัน โดยจะนำไปกำจัดโดยเข้าโรงทำปุ๋ยหมักที่ศูนย์กำจัด มูลฝอยอ่อนนุช นอกจากนี้ ยังมีขยะใบไม้จากการปฏิบัติงาน ของพนักงานกวาด และเปลือกผลไม้จากร้านค้าร้านอาหาร นำไปใส่คอกหมักปุ๋ยในพื้นที่เขตมี 15 คอกกระจายอยู่ในพื้นที่ว่าง คัดแยกขยะได้ วันละ 1 ตัน นำปุ๋ย ที่ได้ไปใช้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่เขต ทั้งนี้ ปริมาณขยะของตลาดคลองเตยลดลง จากที่ร่วมโครงการไม่เทรวม เห็นได้ จากสถิติการคัดแยกขยะเศษผักของตลาด ตั้งแต่เขตเริ่มดำเนินการคัดแยก ปี 2560 มีปริมาณขยะเศษผัก 3 พันตัน และเริ่มเข้มข้นตามนโยบายไม่เทรวมของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในปี 2566 มีปริมาณขยะ 3,285 ตัน รวมปริมาณขยะเศษผักที่คัดแยกได้ ปี 2560-2566 มีประมาณ 20,000 กว่าตัน ทำให้ กทม. ประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะไปได้ 40 กว่าล้านบาท ในส่วนของขยะทั่วไป จากการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ปี 2560 มีปริมาณขยะ 320 ตัน/วัน ในปี 2566 มีปริมาณขยะ 263 ตัน/วัน ลดลงไปกว่า 70 ตัน/วัน โดยตลาดคลองเตยเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีแผงค้าผักกว่า 700 แผง ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้า พนักงาน และทีมงานตลาดยินดีร่วมโครงการเพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ได้ประโยชน์จากความร่วมมือของทุกฝ่าย
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2567