ด้านฝุ่น PM2.5 ยังมีถึงพ.ค.
“ชัชชาติ” รายงานฝนแรกฤดูฝน พัดจาก อ่าวไทยเข้าพระโขนง ไม่แรงแต่ยังเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ หน่วย BEST แก้ปัญหา-ช่วยปชช./ปีนี้ฝุ่น PM2.5 ยังมีถึงพ.ค. คาดสูงวันที่ 9 นี้
วันที่ 7 พ.ค. 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง ว่า สถานการณ์ฝนตกในเช้าวันนี้ ภาพรวมมีฝนมาจากอ่าวไทย เริ่มพัดเข้าบริเวณเขตพระโขนง เขตคลองเตย จากการคาดการณ์ ฝนกลุ่มนี้จะอ่อนกำลังลงในไม่ช้า โดยปริมาณน้ำฝนสูงสุดที่เขตพระโขนง 19 มิลลิเมตร (มม.) คลองเตย 18 มม. บางนา 17.6 มม. ยานนาวา 7.0 มม. ประเวศ 6.5 มม. ทุ่งครุ 4.5 มม. วัฒนา 4.0 ตามลำดับ ยังไม่มีรายงานน้ำท่วมขัง อยู่ระหว่าง เฝ้าระวังสถานการณ์ ปัจจุบันระดับน้ำในคลองต่างๆ ยังปกติ แต่ยังเฝ้าระวัง ที่คลองบางนา คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร ส่วนผู้ที่เดินทางควรวางแผนก่อนออกจากบ้าน โดยฝนวันนี้อาจเป็นฝนแรกของฤดูฝน
ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 พบว่า ในช่วงนี้ยังมีอยู่ เนื่องจากอากาศกดต่ำ มีลมจากทิศตะวันตกพัดเข้ามา สาเหตุสำคัญคือการเผา เช่น ไฟไหม้ที่ จ.สมุทรสาคร เป็นต้นตอของควันซึ่งถูกลมตะวันตกพัดเข้ากรุงเทพฯ ประกอบกับ มีการเผาเชิงเกษตรกรรมก่อนเข้าฤดูปลูกในจังหวัดรอบกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า วันที่ 9 พ.ค.นี้ อากาศกดต่ำ ทำให้พบฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก หลังจากนั้นสถานการณ์จะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปีนี้มีฝุ่น PM2.5 ถึงเดือนพฤษภาคมแตกต่างจากที่ผ่านมา
ด้าน นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์พายุฝนว่า กทม. ได้ออกคำสั่งแจ้งให้ ทุกส่วนราชการเตรียมพร้อมรับพายุฤดูร้อน โดยให้ติดตามและประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง รายงานสภาพอากาศ ควบคุมระดับน้ำตามแผน ตรวจสอบจุดก่อสร้างที่จะมีผลกระทบกับการระบายน้ำ จัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ระบบไฟฟ้าสถานีสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ และบุคลากร เพื่อเข้าพื้นที่ได้ทันที พร้อมตรวจอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดเตรียมเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยทั้งจากเหตุลมกระโชกแรง และปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ โดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย Best) ช่วยเหลือ ประชาชน และเทศกิจอำนวยความสะดวกด้านการจราจร
สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้จัดเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำของ กทม. ทั้งอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และบ่อสูบน้ำที่ระบายน้ำช่วยในท่อ 357 แห่ง รวมถึงลดระดับน้ำในแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดหน่วย BEST เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตก พร้อมตรวจสอบเร่งระบายน้ำในจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง และบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่างๆ จัดเก็บขยะหน้าตะแกรง
ช่องรับน้ำฝนและสถานีสูบน้ำ เก็บขยะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ พร้อมตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกรวดเร็ว และจัด เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำและบ่อสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง และ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังสภาพอากาศตามการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และตรวจสอบติดตามกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม. รายงานสถานการณ์ฝนแบบเรียลไทม์
ประชาชนตรวจสอบหรือแจ้งเหตุ ขอรับความช่วยเหลือได้ผ่านเว็บไซต์ https://dds.bangkok.go.th/, https://pr-bangkok.com/, Facebook : @BKK.BEST และ X(Twitter) : @BKK_BEST หรือแจ้งปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.02-2485115 หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2567