พรสวรรค์ จรเจริญ รายงาน
หลังจากชนะการเลือกตั้งชนิดฟ้ารั่วของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. 1.38 ล้านเสียง ด้วยนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี และ 216 แผนปฏิบัติการแน่นๆ ที่วางไว้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง จากวันแรก (1 มิถุนายน 2565) จนถึงสิ้นปีรวม 7 เดือน มีการจับตามองกว้างขวางว่าสุดท้าย กทม.จะเปลี่ยนแปลงเดินหน้าอย่างไร และอุปสรรคอันใดทำให้การบริหารติดขัดมีปัญหากระทบกับแนวทางที่ประกาศไว้ ดูเหมือนเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.รู้ดี…
สำหรับเรื่องดังกล่าว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า vison เป็นประเด็นสำคัญเมื่อเข้ามาแล้วหรือก่อนเข้ามาต้องคิดต้องมองให้ยาวไกล คิดว่าทำเมืองกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างไร ด้วยเหตุนี้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี มี 216 Action Plan จึงเกิดขึ้นมา ซึ่งกำหนดไว้ภายใน 4 ปี และได้เดินหน้า ไปแล้ว บางส่วนดำเนินการแล้ว ที่จับต้องได้แล้ว ที่ยังไม่เริ่ม ดำเนินการ 31 แผน กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการ ขับเคลื่อนนโยบาย หัวใจสำคัญ คือ งบประมาณ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ กทม. ไม่เคยดำเนินการมาก่อน และตอนนี้เริ่มศึกษา 37 แผน อยู่ระหว่างจัดทำผลการศึกษาถึงความเหมาะสมและแนวทางดำเนินงาน ซึ่งสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลกำลังอัปเดตข้อมูล โดยนโยบายดังกล่าวในปี 2566 จะเห็นชัดเจนว่าแต่ละแผนคืบหน้าอย่างไรเท่าไหร่
“การทำงานตามแผนได้กระจายให้รองผู้ว่าฯ ทั้ง 4 เป็นผู้ดำเนินการ ตัวผู้ว่าฯกทม.คอยติดตามแผนทั้งหมด ตอนที่ เข้ามายอมับมีคนพูดว่า 216 แผนเยอะไปไหม ทำได้ไหม คุยกัน อย่างเดียวหรือเปล่า อะไรทำนองนี้ แต่ไปๆ มาๆ อาจจะน้อยไป ด้วยซ้ำ เพราะกทม.มี 16 สำนัก50 เขต มีคนทำงานพร้อม ข้อดี เมื่อผู้บริหารชุดนี้เข้ามา ทุกโครงการดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องรอไปคิดแผน โครงการดีๆ ที่ผู้บริหารคนก่อนทำไว้ก็สานต่อหรือเสริมต่อ โครงการใหม่หลายโครงการก็ได้ผลเลย เช่น เรื่องปลูกต้นไม้ พื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ เรื่องป้องกันน้ำท่วม เข้ามา ก็เริ่มขุดลอกท่อทันที” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวและว่า หากแยกนโยบาย Highlight ซึ่งมอบหมาย 4 รองผู้ว่าฯไปติดตามงานด้านต่างๆ ก็เป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับงานป้องกันน้ำท่วม ปรับปรุงทางเท้า งานด้านโยธา ปัญหาสายสื่อสารขาดระเบียบก็ได้มอบหมายให้ รองผู้ว่าฯ วิศณุ ทรัพย์สมพล ดูแล ก็ขับเคลื่อนไปตามแผนทุกประการ…
“การป้องกันน้ำท่วม” ได้ขุดลอกท่อ 3,247 กิโลเมตร จาก 6,564 กิโลเมตร ปี’66 จะทำอีกอย่างน้อย 3,000 กิโลเมตร, ขุดลอกคลองเปิดทางน้ำผ่าน 159.8 กิโลเมตร จาก 2,742 กิโลเมตร ปี 66 ทำอีก 183.7 กิโลเมตร, ซ่อมแนวป้องกัน น้ำท่วม 8 แห่ง 2.4 กิโลเมตร ปี’66 ทำอีก 20 แห่ง 4.7 กิโลเมตร, ซ่อมแนวฟันหลอ 13 แห่ง 1.6 กิโลเมตร ปี’66 ทำอีก 4 แห่ง 0.5 กิโลเมตร จะทำไม่หยุด เป็นงานประจำที่เราต้องทำ ส่วนงาน “ปรับปรุงทางเท้า” ทำแล้ว 150 กิโลเมตร ปี’66 จะทำอีก 250 กิโลเมตร (เป้า 500 กิโลเมตร ในปี’67)
เรื่องของ “สายสื่อสาร” รับว่าผิดหวัง เป็นเรื่องที่หนักใจ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ต้องทำงานร่วมกัน หลักการ คือ นำสายสื่อสารลงดินซึ่งจะทำพร้อมกับสายไฟฟ้า ตรงนี้ ต้องขึ้นกับการไฟฟ้านครหลวง แต่คงจะช้าเนื่องจากต้องใช้ งบประมาณมากและเวลานาน แต่ขั้นแรกที่ทำได้เร็ว คือ จัดระเบียบ สายสื่อสารโดยตัดสายตายทิ้งให้หมด และจัดหารูปแบบให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้นเช่น อาจหาผู้ประกอบการหนึ่งเจ้าที่มีสายรวมมาแชร์กันเพื่อลดจำนวนสายให้น้อยลง
นายชัชชาติกล่าวว่า อยู่ดีๆ กทม.จะไปตัดสายจัดสายเองเลยก็ไม่ได้ เพราะมีกฎหมาย กสทช.กำกับอยู่ กทม.ไม่มีสิทธิ์ไปเอาสายออก ต้องทำงานร่วมกันกับ กสทช. การไฟฟ้านครหลวง โอเปอเรเตอร์ และกทม. ตรงนี้ กทม.อยากทำ แต่ทำไม่ได้จึง “ผิดหวัง” นับเป็นสิ่งหนักใจอย่างมาก ตอนนี้เห็นผลบ้าง แต่เพราะ กทม.ไม่มีอำนาจช่วงแรกก็จะช้า แต่ กทม.จะ ไม่หยุด และตรงนี้ก็ดูเหมือนไม่ทันใจประชาชน
เรื่อง “อุบัติเหตุ” ได้ปรับปรุงทางม้าลาย ทำสัญญาณกะพริบเพิ่มความปลอดภัยทางข้ามมากขึ้น รวมถึงเรื่องรถติด ได้ทำจุดจราจรมีปัญหา 270 จุด ให้เทศกิจลงไปปรับให้คล่องตัว มากขึ้น และปรับปรุงผิวจราจรลดอุบัติเหตุบนถนนโดยใช้ ข้อมูลอุบัติเหตุจาก iTIC และ Thai RSC และ งาน “โยธา” นั้น ได้ออก Checklist มาตรฐานการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ขนาดไม่เกิน 300 ตร.ม. ให้ทุกสำนักงานเขตดำเนินการในรูปแบบ เดียวกัน ออกระบบการขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ลดการ เจอกันของเจ้าหน้าที่ลดปัญหาคอร์รัปชั่น และให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
งานด้าน คนพิการ, ชุมชน, คนไร้บ้าน, การสร้างอาชีพ, การศึกษาและ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นงานในแง่วัฒนธรรม รองผู้ว่าฯกทม.ศานนท์ หวังสร้างบุญ รับผิดชอบ ที่ผ่านมาได้สร้างสีสัน เอาพื้นที่สาธารณะมาใช้ประโยชน์ มีการจัดเฟสติวัลต่างๆ แบบ 2 “คนพิการ” มีการเพิ่มการจ้างงานของ กทม. กับผู้พิการ ผ่านการทำงานแบบ Work From Home ด้าน “ชุมชน” มี อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ขณะนี้ได้รุ่นแรก 100 คนเริ่มงานแล้ว โดยจะช่วยเอาเทคโนโลยีลงชุมชนและนำข้อมูลของชุมชนมา อัปเดต เกิดเป็นความรื่นไหลสองทาง
งานด้าน “บ้านมั่นคง” ลุยต่อที่ผ่านมารัฐบาลทำได้ดี เช่น บ้านมั่นคงลาดพร้าวแต่ยังมีจุดปัญหาอยู่ รวมถึงที่คลอง เปรมประชากร ที่สำคัญจะเริ่มบ้านมั่นคงที่ยานนาวาด้วย ส่วนเรื่อง “คนไร้บ้าน” ได้เปิดจุด Drop in ตรงบริเวณใต้สะพานปิ่นเกล้า ให้บริการเช็คสิทธิ์ จัดทำบัตรประชาชน เป็นศูนย์กลางในการให้ ความช่วยเหลือ เป็นที่อาบน้ำ ซักเสื้อผ้า ฉีดวัคซีน คนมาบริจาค อาหาร มาหาแรงงานได้ในที่เดียว ก็พยายามพัฒนาโดยจะขอที่ เพิ่มเติมจากหน่วยงานเกี่ยวข้องบริเวณใต้สะพานปิ่นเกล้าให้ใช้เป็นที่อยู่ชั่วคราวอยู่ระหว่างนัดพูดคุยกัน
ด้าน “การสร้างงาน” ได้หา Partner เชื่อมโยงศูนย์ฝึกอาชีพ และ โรงเรียนฝึกอาชีพกับแหล่งงาน ให้มีการฝึกงานที่ตอบโจทย์ความต้องการให้มากขึ้น
“การศึกษา” กำหนดเดินตามแผน พ.ร.บ.นวัตกรรมทางการศึกษา มี 54 โรงเรียน กทม. เข้าร่วมกับ Education Sandbox อยู่ระหว่างการออกแบบหลักสูตร วิธีการเรียน การสอนใหม่ ซึ่งน่าจะเห็นมิติใหม่ของการศึกษา และ มี 39 โรงเรียน กทม. เข้าร่วมกับ Open Education นำข้อมูลของโรงเรียน เปิดเผยหาจุดอ่อนจุดแข็ง เกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการและแก้ปัญหาได้ตรงจุด รวมถึงได้พัฒนาโครงการ Salad Bar เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับอาหารกลางวัน
“การศึกษาเราเน้น 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องสุขภาพ และการศึกษา คือพื้นฐานหลักของประชาชน เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้ประชาชนหลุดจากความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้มากนัก”
นอกจากนี้เรามีโครงการ Saturday School รับสมัคร อาสาสมัครเข้ามาสอนในโรงเรียน และ สร้างสรรค์กิจกรรม นอกห้องเรียนมากกว่า 200 ครั้ง และใช้ระบบ BEMIS และพนักงานธุรการ เข้ามาช่วยภาระงานของครูเพื่อคืนครูให้กับนักเรียน
“เศรษฐกิจสร้างสรรค์” มี 12 เทศกาล เริ่มจัดตั้งแต่ เดือนแรก Pride month ปัจจุบัน Colorful Bangkok จัดดนตรี ในสวนต่อเนื่องทุกสัปดาห์ และมีคณะกรรมการย่านต่างๆ จาก การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาอัตลักษณ์ของแต่ละย่าน และ เรื่อง “Open Bangkok” ได้ร่วมมือกับสถานทูตอังกฤษอย่างเข้มแข็งในการกำหนดหลักเกณฑ์และรูปแบบของข้อมูลที่จะถูกเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้งานต่อได้
ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม, PM2.5, สวนสาธารณะ และ หาบเร่แผงลอย ได้ให้ รองฯจักกพันธุ์ ผิวงาม รับผิดชอบ โดยเฉพาะ PM2.5 มีการตรวจรถควันดำต้นตอ ไปแล้ว 58,000 คัน สั่งแก้ไขห้ามใช้ไปกว่า 1,000 คัน ตรวจโรงงาน แพลนท์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ไปแล้วมากกว่า 1,900 แห่ง สั่งให้ปรับปรุงไปกว่า 40 แห่ง ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ นำเซ็นเซอร์เข้า CU Sensor for all เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสถานการณ์มลพิษควบคู่กับ สถานีตรวจวัดของ กทม. จัดเสวนาวิชาการนักสืบฝุ่นร่วมกับนักวิชาการ นักวิจัย หาต้นตอของฝุ่น ลงไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร 9 รายหลักที่เผาชีวมวล และหาแนวร่วมในการป้องกันประชาชนจากฝุ่นและลดปริมาณการปล่อยมลพิษในเดือนที่ฝุ่นหนาแน่นที่สุดคือเดือนมกราคมนี้
“สวนสาธารณะ” นั้นได้เพิ่มสวนไปแล้ว 13 แห่ง กำลัง จะเพิ่มอีก 98 แห่ง มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ มี Dog park ที่ สวนเบญจกิตติ ผลตอบรับดีมาก ในปี’66 มีแผนจะเพิ่มอีก 3-4 แห่ง ซึ่งต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ จะเปิดอีกแห่งที่สวนรถไฟ มีการอบรมรุกขกรให้มีเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญประจำเขต เพราะที่ ผ่านมาเราถูกด่ามากในเรื่องตัดต้นไม้ และเรื่อง “หาบเร่แผงลอย” มีแนวคิดไม่ให้มีเพิ่ม จากที่เก็บข้อมูลผู้ค้าเก่าทั้งในและนอกจุดผ่อนผัน พบผู้ค้านอกพื้นที่มากกว่า 13,900 ราย ต้องอัปเดตจุดผ่อนผัน และต้องดูเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นหลัก นอกจากนี้ เราจะเริ่มทำ Hawker center เหมือนในสิงคโปร์ ทำเป็นศูนย์ที่เอาหาบเร่แผงลอยไปรวมอยู่ในราคาไม่แพง มีจุด ล้างจาน จุดเก็บขยะ อยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่นำร่อง บริเวณสวนลุม ประตู 5 ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รวมหาบเร่ที่สกปรกเลอะเทอะ อาจนำ พื้นที่ด้านในของสวนลุมปรับปรุงทำเป็นพื้นที่นำร่อง และมีอีก 2-3 จุดที่ดูอยู่
“หาบเร่แผงลอย เป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องหาความสมดุลระหว่างปากท้องประชาชน กับความเป็นระเบียบของเมือง ช่วงโควิดหาบเร่จะหายไปเยอะ พอโควิดหาย นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ก็จะเห็นหาบเร่กลับมา ต้องกดดันไม่ให้เพิ่ม ต้องไป อัปเดตจุดต่างๆ จุดใดจะให้เป็นจุดผ่อนผัน แต่ที่ทำสำเร็จไปก็ มีที่สุขุมวิทดีขึ้นมาก สีลมถนนหลักก็ดีขึ้น แต่ก็ยังมีที่หลบขายเราก็ยังอะลุ้มอล่วยอยู่บ้าง เป็นเรื่องของ Demand & Supply ผู้ซื้อเองก็ยังต้องการอาหารราคาถูกแต่ก็ต้องดูเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นหลัก”
ผู้ว่าฯชัชชาติกล่าวต่อว่า งานด้านสาธารณสุข, สาธารณภัย, ยุทธศาสตร์และประเมินผลได้มอบหมายให้รองฯทวิดา กมลเวชช รับผิดชอบดูแล ทุกอย่างก็เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ กล่าวคือเรื่อง “สาธารณสุข” ขณะนี้มีการเปิดให้บริการ One Stop Service การทำบัตรประจำตัวคนพิการ 9 แห่ง, เริ่มทำ Sandbox ที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เปิดบริการ telemedicine โดยให้ บริการต่างๆ ครบครันตั้งแต่ ปรึกษา ตรวจรักษา นัดหมาย จองคิว ส่งต่อข้อมูล, เปิดใช้บริการระบบ e-referral ระหว่าง ศูนย์บริการสาธารณสุข กับ โรงพยาบาล 6 แห่ง และยังเปิดให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย 16 แห่ง ด้าน “สาธารณภัย” พัฒนา Bangkok risk map แผนที่จุดความเสี่ยงภัยต่างๆ ของกรุงเทพฯ และ ด้าน “ยุทธศาสตร์และการประเมินผล” เราเปลี่ยนวิธีคิดปรับการประเมินผลของ กทม. จาก KPI เป็น OKR เพิ่มเป้าหมายในการทำงาน เน้นการประเมินผลจากประสิทธิภาพการทำงานมากยิ่งขึ้น
ประเด็นหัวใจหลักใหญ่ที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยอมรับว่า กังวลมี 4 เรื่องใหญ่ คือ หาบเร่แผงลอย สายสื่อสารลงดิน บีทีเอส และ ทุจริตคอร์รัปชั่น เนื่องจากมีความสำคัญอย่างมาก หาบเร่แผงลอยปัญหาเกี่ยวกับปากท้อง การจะไปไล่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องคิดว่าเขาจะกินจะใช้อย่างไร อยู่อย่างไรแต่ต้องแก้ไขทางแก้อาจต้องหาทางออกให้เขา โดยไปคุยกับ ผู้ประกอบการ หาตำแหน่งให้ เช่น แม่บ้าน รปภ. เพื่อเป็นทางเลือกกับหาบเร่แผงลอยได้ทำงานประจำในพื้นที่เดียวกัน หรือไปหาพื้นที่หน้าตึกอาคารเอกชนให้หาบเร่แผงลอยค้าขายแต่ต้อง เป็นระเบียบ
สายสื่อสารลงดินซึ่งเป็นนโยบายดำเนินการลำบาก เพราะ กทม.ไม่มีอำนาจ ทำได้แค่การประสานกับหน่วยงาน จะไปเที่ยวรื้อ หรือตัดไม่ได้ ตรงนี้ค่อนข้างช้า
ที่ยากอีกเรื่องคือ “บีทีเอส” มีความซับซ้อนในแง่ของกฎหมาย ถ้ามันไม่ซับซ้อมป่านนี้จบไปนานแล้ว ไม่ค้างที่ครม. มา 3 ปี เรื่องการจ่ายเงิน สภาฯชุดที่แล้วก็ไม่จ่าย เราไม่ตั้งใจ เอาเปรียบเอกชนนะ เราเข้าใจว่าเขาเป็นตัวสร้างเศรษฐกิจ เขาเดินรถให้เราก็เห็น แต่การจะเอาเงินของหลวงไปจ่ายต้องมี ขั้นตอนที่ถูกต้อง เป็นเรื่องไม่ง่าย เรามองว่าหลายเรื่องมีขั้นตอน ไม่ครบถ้วน เช่น ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้เข้าสภาฯ จะเอาเงิน ที่ไหนมาจ่าย ผู้ว่าฯไม่มีสิทธิ์เอาเงินมาใช้ถ้าไม่ได้อยู่ในงบประมาณ เราก็เห็นใจเอกชน แต่ให้ด่าเราอย่างไรก็ตามเราก็ไม่สามารถทำที่ผิดขั้นตอนได้ ต้องดูให้รอบคอบ ขอให้เข้าใจว่าเราเองไม่ได้เป็นคนก่อปัญหานี้ และเราก็พยายามแก้” นายชัชชาติกล่าว
สำหรับการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นสิ่งที่ต้องให้คำมั่นๆ ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง วิธีแก้คือ ให้ประชาชนเข้ามาใกล้ กทม. มากขึ้น มีสิทธิ์เข้ามาตรวจสอบมากขึ้น อย่างหนึ่งที่วันนนี้ที่ทำแล้ว คือ Traffy Fondue เป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนไปของการให้ บริการของ กทม. โดยให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบ ทำมา 6 เดือนกว่า มีคนแจ้งเข้ามา 1.9 แสนเรื่อง แก้ให้ได้ 1.3 แสนเรื่อง เป็นตัวเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของกทม. ทุกเขตทำงาน แอ๊กทีฟมากขึ้น เห็นใจประชาชนมากขึ้น ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ ความโปร่งใส
“6 เดือนที่ผ่านมาสิ่งที่เราขาดไม่ใช่เรื่องงบประมาณ อย่างเดียว สิ่งที่ขาดคือความไว้ใจของประชาชน ช่วง 6 เดือนแรก เราได้สร้างความไว้ใจ เอาจริงเอาจัง ฟังประชาชน ให้ประชาชน เป็นใหญ่ เปิดเผยข้อมูล การที่ประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามา แสนเก้าหมื่นเรื่องเพราะไว้ใจเรา แอปนี้มีมา 4 ปีแล้วไม่สำเร็จ ที่ผ่านมามีคนเอาไปใช้แล้วประชาชนไม่ใว้ใจก็ไม่แจ้ง ผมว่า เรามาถูกทางแล้ว การที่เราสร้างความไว้ใจกับประชาชนได้ ทำให้เรามีแนวร่วมมหาศาล เช่นปลูกต้นไม้ มีคนมาร่วมกับ เราแล้วล้านหกแสนต้น ปลูกไปแล้ว สองแสนต้นโดยไม่ได้ใช้ งบประมาณเลย”
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวต่อด้วยความมั่นใจว่า การทำงานถูกทาง พร้อมน้อมรับคำติชมทุกรูปแบบ คำติชมเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงานได้ดีเยี่ยม เพราะการเข้ามาทำงานครั้งนี้ทำให้กับคนทุกคน ไม่คิดไปช่วยใครเป็นการเฉพาะ ผลของการทำงาน คือ ทุกคนต้องได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าใครอยู่ พรรคการเมืองหรือไม่อยู่ หรือเป็นอะไร ถ้ามาชื่ออยู่ใน กทม. ทุกคนต้องได้ การแสดงความคิดเห็นเปิดพื้นที่ในชุมนุม มีคน ถกเถียงกันมาก แต่ กทม.ไม่ได้เลือกข้างใคร เปิดให้คนได้แสดงออกทุกคน ตามหลักการ
การประสานงานกับ สภากทม. หลายคนอาจคิดว่าง่ายแต่ไม่ใช่ ต้องประสานกันทุกมิติอย่างมีเหตุมีผล เพราะทุกฝ่ายทำงานเพื่อประชาชน สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนสิ่งนั้นต้องเห็นเหมือนกัน ผู้บริหารชุดนี้ทุกคนให้เกียรติสภา กทม. เพราะล้วนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
อย่างไรก็ตามถ้าจะมีคำถามว่าที่ผ่านมาให้คะแนนตัวเองอย่างไร และปีหน้ามีอะไรดีสำหรับประชาชน ตรงนี้มีการอธิบาย แยกประเด็นว่า
ประการแรกถ้าจะให้คะแนนตัวเองก็บอกได้เลยว่า ครึ่งหนึ่ง เพราะนับจากวันที่เข้ามาได้ทุ่มเททำงานเต็มกำลัง แค่ไม่สอบตกนี้ถือว่าพอใจแล้ว แต่ยอมรับไม่ถึงกับดีเลิศ แต่มั่นใจ และเชื่อแน่ว่า ปี 2566 ต้องขับเคลื่อนนโยบายทั้งหมดอย่างรีบเร่ง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามสูตรที่วางเอาไว้ การทำงานก็ต้องคิดตลอดว่า “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ” เป็นของธรรมดา จะไปอคติใครไม่พอใจใครเป็นการส่วนตัวไม่ได้
ประเด็นต่อมาปี 2566 ต้องผลักดันงานที่ดำเนินการอยู่ออกให้เห็นผลประจักษ์ เช่น เรื่องการศึกษากับเรื่องสาธารณสุขเป็นหัวใจ ทุกสำนักฯ ทุกเขต ต้องลุยงานของตัวเอง งบปี’67 จะเป็นการใช้งบประมาณ 100% ครั้งแรกของ กทม. จะเริ่มเห็นโครงการที่ต้องมีการลงทุน เช่น สัญญาณไฟจราจร การปรับระบบสาธารณสุข ซึ่งต้องใช้งบประมาณ งบเดิมๆ ต้องดูใหม่ ทบทวนใหม่หมดงบสำนักต่างๆ ก็จะให้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ลงเขตมากขึ้นเพราะเชื่อว่าแลือดฝอยสำคัญ
สุดท้ายท้ายสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ยังได้ทิ้งท้ายฝากความถึงประชาชนคนกรุงว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีพลังมาก หน้าที่ กทม. คือต้องทำเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หัวใจของกรุงเทพฯ คือเศรษฐกิจ ต้องเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจที่ดี การมีเศรษฐกิจดีก็ต้องมีงานที่ดี จะมีงานที่ดีได้ ผมเชื่อว่าก็ต้องดึงคนเก่งมาอยู่ที่เมืองให้ได้ ซึ่งต้องเป็นเมือง ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี หากเราทำเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะมีธุรกิจดีๆ มาลง มีงานดีๆ มีคนเก่ง สุดท้าย ก็จะมี รายได้กลับคืนมาสู่เมือง ก็จะดูแลประชาชนได้ดีขึ้น ก็ต้องร่วมมือกัน เป็นพันธสัญญาของสังคม ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ประชาชนเองก็ฝากให้ดูแลตัวเองด้วยในเรื่องความเรียบร้อยขยะต่างๆ ดูแลคนใกล้ชิดรอบตัว กทม.ก็ดูแลของตัวเองให้เต็มที่ ในที่สุดเมืองก็เดินไปได้ กรุงเทพฯยังมีโอกาสอีกมากมาย คนต่างชาติ มั่นใจในกรุงเทพฯ อยากมาอยู่ คนกทม.ต้องช่วยกัน ถ้าทำได้ ปีหน้ามั่นใจว่ามีอะไรดีเกิดขึ้นตามมาแน่นอน
และย้ำว่าน้อมรับคำติทุกอย่าง พร้อมปรับปรุงทุกอย่าง ให้ดีขึ้น เป็นกลาง เป็นผู้ว่าฯของทุกคน เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ขอออกตัวไม่เป็นผู้นำเทรนด์ แต่คิดใหม่ เปลี่ยนวิธีตามโลกปัจจุบัน เปลี่ยน กทม. Open Bangkok เปิดเผย เข้าถึง โปร่งใส 216 แผน ทำแล้ว ตรวจสอบได้ มั่นใจปีหน้าสดใส
ทั้งหมดนี้คือความในใจของคนที่ชื่อว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ซึ่งทำงานมาแล้ว 7 เดือน และเป็นหน้าที่ของคนกรุงที่จะต้องติดตามตรวจสอบต่อไปอีก 3 ปี 5 เดือน…
‘3 ปี 5 เดือน ที่เหลือคือสิ่งที่ กทม.ต้องเร่งรีบดำเนินการ พร้อมและยินดีกับการตรวจสอบ ทุกมิติ ที่ผ่านมาแค่สอบไม่ตก ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว ยอมรับ ปัญหา 4 อย่างยังแก้ไขยาก แต่จะทำถึงที่สุดเพราะไม่มีอำนาจสั่งการ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือการประสานงานเท่านั้น’
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 30 ธ.ค. 2565