(27 เม.ย.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขตบางขุนเทียน นายสารัช ม่วงศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน ลงพื้นที่เขตบางขุนเทียน ในกิจกรรม ผู้ว่าฯ สัญจร รอบ 2 ซึ่งกิจกรรมแรกในเวลา 09.45 น. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ปลูกต้นราชพฤกษ์ ณ สวน 15 นาที ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ข้างสำนักงานเขตบางขุนเทียน พร้อมเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โดยศูนย์เรียนรู้ฯ บางส่วนได้ปรับพื้นที่เป็นสวน 15 นาที บนพื้นที่ 4 ไร่ จัดทำเป็นลู่วิ่งและสนามฟุตบอล เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มาใช้บริการ
จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโครงการ BKK Food Bank เขตบางขุนเทียน ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 65 ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เขตนําร่องของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีผู้ได้รับความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากโครงการ จำนวน 3,448 ราย โดยเปิดบริการทุกวันศุกร์ให้แก่ลูกจ้างที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ต่อมาลงพื้นที่ลานกีฬาเคหะชุมชนธนบุรี 1 ส่วน 4 ถ.พระรามที่ 2 ซอย 69 เพื่อติดตามการปรับปรุงลานกีฬาและเครื่องออกกําลังกาย ที่ชํารุด ทรุดโทรม และไม่มีหลังคา พื้นที่ลาน 500 ตร.ว. ซึ่งได้งบประมาณปรับปรุง ปี พ.ศ. 2567 ปัจจุบันดำเนินการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว สามารถเล่นกีฬา ได้แก่ ฟุตซอล ตะกร้อ เปตอง เครื่องออกกําลังกาย เครื่องเล่นเด็กวิ่ง ตะกร้อลอดห่วง หมากรุก หมากฮอส และแอโรบิก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร รอบ 2 ที่เขตบางขุนเทียนในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาเขตในระดับเส้นเลือดฝอย ที่ใกล้ชิดกับชีวิตชาวบ้าน อาทิ การพัฒนาลานกีฬาในชุมชน ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก สวนสาธารณะ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งทั้งหมดเป็นหัวใจที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น สำหรับลานกีฬาจุดนี้ได้พัฒนาขึ้นจากความต้องการของคนในชุมชน ที่แจ้งความประสงค์ผ่านทาง ส.ก.เขตบางขุนเทียน โดยลานกีฬาดังกล่าวใช้งบลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งคุ้มค่ากับคนในชุมชนที่ได้ใช้ออกกำลังกายและจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ทำให้คนในชุมชนสุขภาพแข็งแรงและเจ็บป่วยน้อยลง รวมถึงสุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่น้อยแต่ได้ประโยชน์มหาศาล โดยกรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงลานกีฬาทั่วกรุงเทพฯ กว่า 500 แห่งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กทม.ยังส่งเสริมให้ชุมชนใช้งบ 2 แสนบาทที่จัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนอีกด้วย เนื่องจากเป็นการกระจายอำนาจสู่ชุมชน เนื่องจากคนที่ทราบปัญหา และความต้องการของชุมชนก็คือคนในชุมชนนั่นเอง
ในส่วนของ BKK Food Bank เขตบางขุนเทียน เป็นเรื่องสำคัญ ที่กทม.จะดูแลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนมาก โดยกทม.จะเป็นสื่อกลางที่จะนำอาหารจากคนที่เหลือกินเหลือใช้มาสู่ผู้ที่ขาดแคลน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. “อาหารส่วนเกิน” (Food Surplus) เป็นอาหารที่เกินจากความต้องการของเรา ถึงแม้จะสามารถนำไปบริโภคต่อได้ แต่คนส่วนมากเลือกที่จะ “ทิ้ง” เช่น ผัก ผลไม้ที่ถูกตัดแต่งเพื่อความสวยงาม หรืออาหารกระป๋องที่เราทิ้งไปโดยที่ยังไม่หมดอายุจากร้านค้าต่างๆ และซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น โลตัส 7-11 ฯลฯ ที่เข้าร่วม ซึ่งกทม.จะมอบสติ๊กเกอร์ให้กับองค์กรที่เข้าร่วม เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรดังกล่าวร่วมกับโครงการ BKK Foodbank โดยกทม.จะรวบรวมอาหารเหล่านี้ให้กลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สามารถนำอาหารส่วนเกินมาใช้ประโยชน์และลดขยะให้กรุงเทพฯ ได้
2. ธนาคารอาหาร (Food Bank) ซึ่งไม่ใช่เพียง แต่อาหารแต่รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคด้วย ซึ่งกทม.จะเป็นสื่อกลางนำคนที่ต้องการบริจาคอาหารแต่ไม่ทราบจุดที่จะบริจาค นำอาหารถึงมือผู้ขาดแคลนอย่างแท้จริง ซึ่งในพื้นที่เขตบางขุนเทียนมีผู้เปราะบางอยู่ประมาณ 600 คน จากฐานข้อมูลของสำนักงานเขต BKK Food Bank จึงเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ที่กลุ่มเปราะบางจะมาใช้บริการเลือกสิ่งของที่ต้องการ พร้อมสะสมคะแนนผ่านพาสปอร์ตสะสมแต้มเพื่อแลกสิ่งของที่ต้องการได้อีกด้วย โดยกทม.จะขยาย BKK Food Bank ให้ครบ 50 เขตต่อไป และขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการจะบริจาคอาหาร สิ่งของอุปโภคบริโภค ของเล่น ของฟุ่มเฟือย สามารถมามอบได้ที่ 50 สำนักงานเขต และศาลาว่าการกรุงเทพมหานครทั้ง 2 แห่ง โดยกทม.จะจัดสรรสู่ผู้ขาดแคลน ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบางอย่างยุติธรรมต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการแบ่งปัน มีน้ำใจ ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น
—————–