เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมในระเบียบวาระที่ 4.1 ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดลักษณะของอาคารและพื้นที่ว่างนอกอาคารเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. … (ข้อบัญญัติกำหนดพื้นที่สีเขียวของอาคาร) ตามที่สภา กทม.ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าว ในคราวประชุมสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 เมื่อวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 และตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา โดยมีนายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา เป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญได้รายงานผลการพิจารณาต่อสภา กทม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมมี ส.ก.ที่สงวนคำแปรญัตติอภิปรายในลักษณะที่ว่า ทุกพรรคการเมืองอยากให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ว่าร่างข้อบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยจะคล้ายกับกรณีร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … (ข้อบัญญัติรถเมล์อีวี) ที่เมื่อสภา กทม.มีมติผ่านข้อบัญญัติไปแล้ว แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) มีหนังสือตอบกลับโดยสรุปว่า กทม.ไม่มีอำนาจออกข้อบัญญัติดังกล่าว อีกทั้งมี ส.ก.ที่อยู่ฝั่งสนับสนุนยกมือประท้วง ส.ก.ที่อภิปรายแย้งกับร่างข้อบัญญัตินี้ ทำให้ที่ประชุมใช้เวลาพิจารณากับร่างข้อบัญญัตินี้เกือบ 3 ชม.
โดยท้ายสุดที่ประชุมสภา กทม.มีมติคว่ำร่างข้อบัญญัติดังกล่าวมีผู้ไม่เห็นชอบ 22 คน เห็นชอบ 12 คน งดออกเสียง 7 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 42 คน
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2567