ทีมข่าวเฉพาะกิจ
โลกร้อนถึงขั้นเดือดเป็นที่เรียบร้อยปรากฏหลักฐานแจ่มชัดด้วยวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ยากจะปฏิเสธว่าดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นาทีนี้ มนุษยชาติต่างหันมาให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าวเข้าขั้น วาระแห่งโลก
ครั้นโฟกัสมายังเมืองหลวงของไทย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. ประกาศลั่นหลังสงกรานต์เพียงไม่กี่วัน ถึงการผลักดัน ‘กรุงเทพมหานคร’ ให้เป็น ‘เมืองหลวงแห่งโซลาร์เซลล์’ เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ขณะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564-2573 (Steering Committee on the Implementation of Bangkok Master Plan on Climate Change 2021-2030) ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
นับถอยหลัง 2573 ตั้งเป้าลด 10 ล้านตัน ติดตั้งเครื่องวัดก๊าซเรือนกระจก
ชัชชาติ ให้ภาพกว้างของพื้นที่กรุงเทพฯ ว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 43 ล้านตัน โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากด้านพลังงาน ซึ่งมีสองส่วน ได้แก่
1.พลังงานในอาคาร โดยเฉพาะการใช้เครื่องปรับอากาศ
2.ภาคการขนส่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 90% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกรุงเทพฯ
ส่วนที่เหลือเกิดจากการฝังกลบขยะ ภาวะน้ำเน่าเสีย ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งต้องมีการปลูกต้นไม้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
“เราพยายามพูด Net zero emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันทั่วโลก แต่หลักของเรามองเป้าหมายระยะสั้นให้ชัดเจนขึ้น โดยมีการกำหนดเป้าหมายในปี 2573 ที่จะลดคาร์บอนอย่างน้อย 10 ล้านตันในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีการทำแผนการใช้พลังงาน และแบ่งเป้าหมายในแต่ละปีให้ชัดเจน ถ้าเราตั้งเป้าหมายไปไกลเกินไป เราจะไปไม่ถึง” นายชัชชาติกล่าว
สำหรับมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก เบื้องต้นจะมีการรณรงค์ใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อลดการใช้น้ำมันจากรถยนต์ส่วนตัว และใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์
“กทม.มีนโยบายให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแห่งโซลาร์เซลล์เพื่อให้ใช้พลังงานจากแสงแดดมากขึ้น ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดย กทม.มีการนำเครื่องวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ติดตั้งใน 3 เขต และจะมีการขยายผลไปทุกเขต ซึ่งที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานคืบหน้าเป็นอย่างดี” ผู้ว่าฯกทม.เล่า
บูรณาการ 76 จังหวัด ประเมินศักยภาพ เปิด 3 แผนมุ่งพลังงานทดแทน
ด้าน เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รับไม้ต่อโดยอธิบายเสริมว่า อบก.เข้ามาช่วยบูรณาการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในแต่ละเขตจะมาดูการใช้พลังงานที่เป็นไฟฟ้า น้ำมัน ขยะ และขยายเข้าไปสู่พื้นที่ของตัวเอง จะทำให้แต่ละเขตมุ่งเป้าไปจัดการก๊าซเรือนกระจกของตัวเองก่อน แล้วค่อยไปจัดการในแต่ละชุมชนโดยรอบ
“อบก.มีการสร้างแพลตฟอร์มในการประเมิน ซึ่งจะไปบูรณาการกับอีก 76 จังหวัด ซึ่งจะทำให้ทราบว่าแต่ละจังหวัดมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจำนวนเท่าไหร่ มีแผนลดอย่างไร แต่ละจังหวัดมีศักยภาพบริหารก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน” ผู้อำนวยการ อบก.กล่าว
จากนั้น พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร แจกแจงแผนการลดก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED การเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
2.การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายนับเป็นเมกะวัตต์ในแต่ละปี
3.ส่งเสริมการเดินทางทางเลือก โดยตั้งเป้าหมายโดยการลดใช้น้ำมัน โดยจะมีการแบ่งปันให้ภาคเอกชนได้ปฏิบัติตาม เพื่อร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ล้านตัน ในปี 2573
แอ๊กชั่นแพลน 7 ปี แผนปฏิบัติการพลังงาน 2567-2573
ในที่ประชุมยังได้พิจารณาแผนการดำเนินการประจำปีของการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครประจำปี 2567 และร่างแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร (Bangkok Energy Action Plan) โดยแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567-2573 มีวัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่
1.กำหนดกรอบและทิศทางการดำเนินงานในระดับแผนปฏิบัติการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและภาคขนส่งในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นรูปธรรม
2.กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานและภาคขนส่งที่สอดคล้องกับมาตรการที่ระบุในแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ.2564-2573)
3.เป็นแนวทางเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ในกรุงเทพมหานครมีการดำเนินงานที่สอดคล้องหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงช่วยสร้างความต่อเนื่องและความยั่งยืน
4.เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานคร ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
สำหรับแผนเหล่านี้ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ.2566-2567 ระยะเตรียมความพร้อม ระยะที่ 2 พ.ศ.2568-2570 การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างเต็มรูปแบบ และระยะที่ 3 พ.ศ.2571-2573 ส่งเสริมการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง และสามารถติดตามประเมินผลโครงการและมาตรการต่างๆ เพื่อพิจารณาผลสัมฤทธิ์และปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก
นับเป็นนโยบายที่น่าจับตาในภาวะที่โลกต้องหันมาร่วมเดินหน้าคนละไม้คนละมือ ลดความเดือดดาลของอุณหภูมิร้อนที่ไต่ระดับขึ้นอย่างไว พาให้ใจมนุษยชาติต้องลุ้นระทึก
บรรยายใต้ภาพ
เรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์
ป้ายรถเมล์ติดแอร์พลังงานแสงอาทิตย์
เสาไฟเขียวระบบ Smart lighting
(จากซ้าย) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ และพรพรหม วิกิตเศรษฐ์
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 26 เม.ย. 2567 (กรอบบ่าย)