ชี้ปี 66 เร่งงานต่อเนื่องรับหนักใจ’หาบเร่-แผงลอย’ไม่ง่ายจี้เขตแก้จริงจัง
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงงานนโยบายผู้ว่าฯ “ชัชชาติ”ในความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดระเบียบเมือง ว่า นโยบายเรื่องสวน 15 นาที รวมถึงปลูกต้นไม้ล้านต้น ถือว่าสำเร็จเกินเป้าหมายที่วางไว้ สวน 15 นาที ความคืบหน้า ขณะนี้สำนักงานเขตและสำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดหาพื้นที่ทำสวนได้แล้ว 98 แห่ง เนื้อที่รวมทั้งหมด 641 ไร่ 3 งาน 63.17 ตารางวา เป็นที่ดิน กทม. 39 แห่ง หน่วยงานรัฐ 34 แห่ง เอกชน 25 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 13 แห่ง แผนในปี 2566 คาดจะดำเนินการเสร็จอีก20 แห่ง และทยอยทำต่อเนื่องไป ที่ล่าช้าบางแห่งมีปัญหาเรื่องการออกแบบ ซึ่งเราก็ได้ความร่วมมือกับเอกชนมาช่วยทำให้งานเดินเร็วขึ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ ในสวน เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
สำหรับสวนที่เปิดให้บริการแล้ว 13 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหน้าคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลฯ 2. สวนหย่อมดับเพลิงสุทธิสาร 3.สวน Vadhana Pocket Park ซอยทองหล่อ 10 4.สวนหย่อมซอยสุขุมวิท 62/3 ใกล้กับโรงแรมคอนวีเนียนพาร์ค 5.สวนหย่อมซอยวชิรธรรมสาธิต 27 (ชุมชนหมู่บ้านทับแก้ว)6.สวนหย่อมพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก (เขตบางรัก) 7.สวนสุขใจ 8.สวนจุดพักรถลาดกระบัง 9.ยูเทิร์นเพลินใจ ทางกลับรถใต้สะพานบางขุนศรี 10.ที่ว่างชุมชนการเคหะธนบุรีโครงการ 1 ส่วน 4 11.สวนสมเด็จย่า บางขุนเทียน 12.ลานอเนกประสงค์ สวนสุขเวชชวนารมย์ และ 13.สวนบางบอนสุขใจ รวมพื้นที่ 20 ไร่ 10.47 ตารางวา
ส่วนงานด้านการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยเป็นเรื่องยากและมีความสำคัญ ในการให้ผู้ค้าและผู้เดินเท้าใช้ทางเท้าร่วมกันได้ ปัจจุบัน กทม. มีจำนวนจุดผ่อนผันทั้งหมด 95 จุด ผู้ค้ารวมประมาณ 4,300 ปัจจุบันมีทั้งหมด 618 จุด มีผู้ค้ารวม 13,964 ราย รับเป็นเรื่องที่หนักใจ เพราะเป็นเรื่องที่ทำเกี่ยวกับคน คนที่ขายก็ค้าขายกันมานาน ขณะเดียวกัน ทางเท้าก็เป็นที่สาธารณะมีการใช้สอยร่วมกันระหว่างผู้ค้ากับประชาชน ดังนั้น ผู้ค้าเองก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบยอมรับว่าหาบเร่แผงลอยเป็นอาชีพของเขา แต่เป็นการขายในที่สาธารณะ ซึ่งผิดหลักของการสร้างทางเท้ามาเพื่อใช้เดิน หากเมื่อไรมีการเอาที่ไปค้าขาย คนที่ใช้ทางเท้าต้องไม่เดือดร้อน
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 29 ธ.ค. 2565