ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (24 เม.ย.67) นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตพญาไท ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาความคุ้มค่าโครงการต่าง ๆ ในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รายงานผลการศึกษา พร้อมข้อเสนอแนะของของคณะกรรมการวิสามัญฯ ในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.งบประมาณบางรายการเป็นงบประมาณที่ใช้ในการให้บริการสาธารณะ เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ลดอันตรายในบริเวณจุดเสี่ยงภัยต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร โครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม ระยะที่ 2 ของสำนักการจราจรและขนส่ง โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลคลองสามวา โครงการก่อสร้างปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ (สะพานลาดพร้าว-เสรีไทย) ของสำนักการโยธา โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียบริเวณชุมชนซอยหมู่บ้านเศรษฐกิจเข้าโรงงานควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม ของสำนักการระบายน้ำ โครงการพัฒนาสินค้าและบริการ Made in Bangkok (MIB) ของสำนักพัฒนาสังคม ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ของสำนักสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบความคุ้มค่าได้ แต่มีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อบริการประชาชนของกรุงเทพมหานครให้ได้รับความสะดวก สบาย ความปลอดภัย ฯลฯ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2.เห็นว่าควรขอจัดสรรในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของปีงบประมาณนั้น ๆ ให้กับหน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินการ มีการวางแผนการดำเนินการและใช้จ่ายงบประมาณ มีการติดตามและเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ กำชับหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ มีการควบคุม ติดตาม เร่งรัดการดำเนินการและการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อมิให้งบประมาณนั้นตกไป และเป็นภาระงบประมาณในปีถัดไป ยกเว้นงบผูกพัน ส่วนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ควรจะขอจัดสรรในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียโอกาสต่อกรุงเทพมหานครเท่านั้น หรือส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรงหรือการให้บริการสาธารณะเนื่องจากงบประมาณส่วนมากที่ขอกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี ทั้งกรณีก่อหนี้ผูกพันและยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน เป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เพราะมีระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานคร
3.กรณีงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครแล้วควรจะรีบดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ผูกพัน ควบคุมกำกับให้ส่งมอบสินค้า หรือบริการสาธารณะในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากนอกจากผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครแล้วยังได้ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาคำของบประมาณ หากฝ่ายบริหารจำเป็นต้องตรวจสอบอีกครั้งควรจะเร่งดำเนินการเพื่อให้ใช้จ่ายงบประมาณทันในปีงบประมาณที่ขอจัดสรรหรือทันกรณีขอกันไว้เบิกเหลื่อมปี
4.กรณีหน่วยงานที่ไม่สามารถดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณได้ทันในปีงบประมาณที่ขอจัดสรรส่วนมากเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร ปรับปรุงอาคาร สถานที่ ควรจะมีการเตรียมการศึกษาข้อมูลประชุมเตรียมความพร้อมแก่เจ้าหน้าที่ดำเนินการ ประสานงานสาธารณูปโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว
5.ควรเพิ่มงบประมาณที่มีความจำเป็นอื่น ๆ เช่น จัดซื้อสารกำจัดลูกน้ำ ยุง หรือเพิ่มจำนวนโคมและหลอดไฟ LED ในพื้นที่เขตต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ และจะได้ส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
————————