“We’re Being เป็น อยู่ คือ(เรา)” คือชื่อเทศกาลสุขภาพจิต ภายใต้ โครงการ The Nook โดย เลิฟ แฟรงกี้ (Love Frankie) องค์กรสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและพฤติกรรมที่ใช้การวิจัยและการสื่อสารเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคม เทศกาลนี้จัดขึ้น 4 วันและสิ้นสุดลงไปแล้วอย่างสำเร็จลุล่วงด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมที่น่าประทับใจ โดยในช่วงงานเทศกาลนี้มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน มีกิจกรรมมากกว่า 100 กิจกรรม ดังเช่น 87 เวิร์กช็อปที่นำโดยวิทยากร 74 คน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปทั้งหมด 1,178 คน แสดงถึงการที่ผู้คน “เห็นคุณค่า” กิจกรรมประเภทนี้
และในจำนวนผู้ที่เข้าร่วมเทศกาลนี้ “ผู้หญิง” ก็ดูจะเป็นกลุ่มใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ
เทศกาลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เน้นความสำคัญของสุขภาพจิต และความสุข ผ่านทางเวิร์กช็อปหลากหลาย เวทีสนทนา และนิทรรศการที่ให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมได้ โดยการที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และการมีส่วนร่วมอย่างตั้งอกตั้งใจ แสดงให้เห็นถึงความตระหนักและความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยต่อการส่งเสริม สุขภาพจิต
ทางผู้แทนจากโครงการ The Nook ได้ระบุไว้ว่า “We’re Being เป็น อยู่ คือ(เรา)” ได้ผลักดันการสนทนาที่สำคัญและเสริมสร้างความมุ่งมั่นของชุมชนต่อความ เข้าใจและการสนับสนุนสุขภาพจิตที่ดี ความสำเร็จของเทศกาลนี้ได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการจัดงานและต่อยอดโครงการที่คล้ายกันในอนาคต ขณะที่ทาง Love Frankie ได้ขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรม วิทยากร ผู้สนับสนุน ที่ทำให้เทศกาลประสบความสำเร็จ ซึ่งการมีส่วนร่วมและข้อเสนอแนะที่ได้รับจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนารูปแบบเทศกาลในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในประเทศไทยต่อไป โดยข้อมูลเกี่ยวกับงานและโครงการด้านสุขภาพจิตที่กำลังจะมาถึง สามารถติดตาม @THENOOKFRIENDS ได้บนโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ กับการสนทนาในงานเทศกาลสุขภาพจิตงานนี้ ทาง รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้ร่วมวงสนทนาด้วย รวมถึงได้กล่าวในการเปิดเทศกาลไว้ว่า ไลฟ์สไตล์คนกรุงเทพฯ ด้วยชีวิตที่เร่งรีบจากการทำงาน บางครั้งผู้คนจึงเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว โดยจากนโยบายการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน ที่ตรวจไปแล้วกว่า 1 แสนคน ในจำนวนนี้ก็พบว่ากว่า 70% มีภาวะเครียด ซึ่งคนที่มีภาวะเครียดนี้ต้องการเพื่อน และต้องการพื้นที่พูดคุย
“เมื่อมีสถิติเกี่ยวกับเรื่องความเครียดแบบนี้ เราต้องไม่เพิกเฉย ดังนั้นการมีงานแบบนี้เป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก เพราะการสร้างพื้นที่สุขภาพใจขึ้นมา ไม่ว่ารูปแบบใด ก็ล้วนทำมาเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนทั้งนั้น ซึ่งเราไม่ได้อยากทำให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องโก้หรู แต่ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้จริง ๆ” …นี่เป็นอีก “ประเด็นสำคัญ” จากงานเทศกาลนี้…ซึ่งก็ “มีผู้หญิงเข้าร่วมเพื่อที่จะเข้าถึงสุขภาพจิตที่ดีไม่น้อยเลย”.
บรรยายใต้ภาพ
กิจกรรมสนทนาในงานเทศกาล
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2567 (กรอบบ่าย)