สำนักพัฒนาสังคมรณรงค์ลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 สาเหตุการเกิดมลพิษทางอากาศ โดยรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาตอซัง ฟางข้าวและวัสดุทางการเกษตร ซึ่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาฝุ่น ดังนี้
1.ส่งเสริมให้เกษตรกรอัดฟางก้อน โดยสนับสนุนรถแทรกเตอร์ชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ จำนวน 3 คัน และเครื่องอัดฟาง จำนวน 3 คัน ให้เกษตรกรยืมใช้ตามหลักเกณฑ์การยืมใช้ครุภัณฑ์ของทางราชการ เพื่อนำไปอัดฟาง ลดการเผาตอซังและฟางข้าว ช่วยให้เกษตรกรสามารถเตรียมพื้นที่ทำนาในรอบถัดไปได้ โดยไม่ต้องเผา และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากการขายฟางก้อน หรือใช้ประโยชน์เป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก คลุมแปลงปลูกพืชผัก เพาะเห็ด และไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำหน่ายเป็นรายได้ในครัวเรือนหรือกลุ่มเกษตรกร
2.สนับสนุนโรงเก็บฟางอัดก้อน ส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มผู้ผลิตฟางอัดก้อน บริหารจัดการฟางอัดก้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านราคา เพื่อให้มีสถานที่เก็บรวบรวมฟางอัดก้อนในช่วงฤดูแล้ง เพราะมีฟางจำนวนมากและมีราคาตกต่ำ สามารถเก็บไว้จำหน่ายในช่วงฤดูฝน (ฟางขาดแคลนและมีราคาสูง) ซึ่งจะดำเนินการที่แขวงลำต้อยติ่ง เป็นสถานที่เกษตรกรยกให้กรุงเทพมหานครใช้ จำนวน 1 ไร่ 2 งาน ระยะเวลา 10 ปี (อยู่ระหว่างการออกแบบและประมาณการค่าใช้จ่าย และจัดทำหนังสือยินยอมให้กรุงเทพมหานครใช้สอยทรัพย์สิน จดสิทธิเหนือพื้นดินฯ)
3.ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว ซึ่งผลิตโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยสลายตอซังและปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น เพิ่มอินทรีย์วัตถุในนา เพิ่มประสิทธิภาพการดูดใช้ปุ๋ยของต้นข้าว และลดปัญหาข้าวดีดข้าวเด้ง อันจะส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นด้วย ในการนี้ สำนักพัฒนาสังคม ได้จัดทำแปลงนาสาธิต จำนวน 8 แปลง เพื่อนำจุลินทรีย์ดังกล่าวมาทดสอบในแปลงนาของเกษตรกร และจะแจ้งกรมวิชาการเกษตรผลิตเชื้อจุลินทรีย์สนับสนุนต่อไป
(23 เม.ย. 67) สำนักพัฒนาสังคม โดยนางสาวรุ่งนภา ตรีแก้ว ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร จัดกิจกรรมแปลงนาสาธิตของกรุงเทพมหานคร ณ แปลงนาสาธิตของกรุงเทพมหานคร แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ พื้นที่ทำนาของเกษตรกรรายนายเฉลิมธญภณ ฤกษ์ดี