ดัน’กทม.’เมืองโซลาร์เซลล์ ลำปางร้อนมากพุ่ง43องศา

‘ชัชชาติ’ดัน กทม. ‘เมืองแห่งโซลาร์เซลล์’ เล็งเป้าลดคาร์บอนอย่างน้อย 10 ล้านตันในปี 2573

รบ.พร้อมชดเชยเหตุพายุฤดูร้อน

เมื่อวันที่ 22 เมษายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดพายุฤดูร้อนหลายจังหวัดในประเทศไทย ส่งผลให้บ้านเรือนเสียหาย เสาไฟฟ้าล้มเป็นจำนวนมาก ในภาคอีสานมี จ.บุรีรัมย์ จ.อุดรธานี จ.สกลนคร จ.นครพนม ส่วนในภาคเหนือมี จ.พะเยา จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.แพร่ จ.สุโขทัย เป็นต้น เวลานี้ประชาชนได้รับผลกระทบในเรื่องที่อยู่อาศัย ดังนั้น อยากขอให้จังหวัดเร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมสรุปค่าความเสียหายทันที และรีบส่งเรื่องมายังกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เงินเยียวยาส่วนนี้จะได้ถึงมือพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว คาดว่าไม่น่าต่ำกว่า 500 หลังคาเรือน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การประเมินค่าเสียหายกรณีบ้านได้รับความเสียหาย โดยหากเสียหายน้อย (เสียหายน้อยกว่า 30%) ไม่เกินหลังละ 15,000 บาท เสียหายมาก (เสียหาย 30-70%) ไม่เกินหลังละ 70,000 บาท และเสียหายทั้งหลัง (เสียหายเกิน 70% ไม่เกินหลังละ 230,000 บาท ทั้งยังมีค่าเครื่องอุปโภคบริโภคเพิ่มเติมอีก 5,000 บาท รวมถึงหากเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท ค่าเลี้ยงชีพ 30,000 บาท และ ค่าช่วยเหลือครอบครัวที่มีบุตรอายุยังไม่เกิน 25 ปี อีก 50,000 บาท

ชี้ระบบชิงเผาFireDไม่ตอบโจทย์

ที่ จ.เชียงใหม่ นายบัณรส บัวคลี่ ฝ่ายประสานงานด้านยุทธศาสตร์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ระบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอพพลิเคชั่น FireD ถือว่าไม่ตอบโจทย์ หากระบบจัดการที่ผู้ใช้เป็นจุดอ่อน หลังจาก จ.เชียงใหม่ ริเริ่มใช้ระบบการบริหารจัดการไฟมา 4 ปีแล้ว และล่าสุดปีนี้ก็ใช้ ฐานความคิดเรื่องนี้ดี คือมีการจำแนกไฟ จำเป็นออกมาให้เผาได้โดยดูผลกระทบ คือ ถ้าระบบเดินสมบูรณ์ตามแนวคิด ป่านนี้จะมีฐานข้อมูลแปลงเกษตรที่ยังจำเป็นต้องใช้ไฟวางแบให้กระทรวงเกษตรฯเลือกจิ้มไปยกระดับการผลิต ใส่วิธีการต่างๆ เพื่อไม่ต้องเผา นี่เป็นเครื่องมือทางสังคมให้ผู้คนอยู่ร่วมกันได้ในท่ามกลางวิกฤต เพราะเคยมีกรณีห้ามเผาเด็ดขาด ชาวบ้านทำไร่ไม่ทัน ไม่มีข้าวกินในปีนั้น น่าแปลกใจทำไมจังหวัดไม่สื่อสารตั้งแต่แรก มีการประชุมเตรียมการมาตั้งนาน FireD ใช้งานมา 4 ปียังไม่เข้าใจ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูล การจะชิงเผาพื้นที่หนึ่งๆ ต้องทำล่วงหน้า ให้กลุ่มประชาชนที่จะรับผลกระทบโดยตรงรู้ล่วงหน้าใครจะเผา ทำกันกี่คน ดับจบ รายงานผลสำเร็จ

แฉปลัดจิ้มเผาตามอำเภอใจ

“ต้นมีนาคมก็ยังดูดีอยู่เลยในภาพรวม แต่หลังจากนั้นเละ คือไม่มีระบบการแจ้งเตือนอะไร จู่ๆ คนมีอำนาจประกาศเสียงตามสายบ่ายสามเผา มันก็ลามกลางคืน บางอำเภอจุดแบบไม่ต้องมีแนวกัน ชาวบ้านอื่นไม่รู้เขา ก็เผาชนออกมา ไปกันใหญ่ แสดงถึงระบบยังไม่เป็นระบบ เดือนมีนาคมที่ผ่านมาค่าฝุ่นแดงมากแล้ว ยังอนุญาตชิงเผาได้อยู่เลย อยากรู้ว่าใครอนุญาต นี่ล่ะอีกปัญหา เพราะระบบเขาออกแบบให้มีการตัดสินใจอนุมัติโดยวอร์รูม ดูข้อมูลประกอบ ค่าฝุ่น ค่าลม ค่าการระบาย จำนวนไฟก่อนหน้า จริงหรือไม่ที่บางอำเภอปล่อยปลัดอำเภอคนเดียวใช้อำนาจจิ้มอนุมัติตามอำเภอใจ ปลัดคนนั้นดูค่าฝุ่นค่าไฟค่าลมเป็นมั้ย แอพพลิเคชั่น FireD จะเป็นคุณูปการในการแก้ปัญหาระยะยาว ผมเคยเชียร์ว่า FireD ทำต่อไป แต่ต้องเปิดเผยโปร่งใส มันจะเป็นเครื่องมือยกระดับสังคม ต้องมาทบทวนยกเครื่องจริงจังหากจะผลักดันแนวทางนี้ให้ไปต่ออย่างยั่งยืน แต่หากยังจะทำแบบเดือน มีนาคมที่ผ่านมาสังคมเขาไม่เอาด้วยหรอก ระบบนี้ก็จะจบเห่” นายบัณรสกล่าว

ลำปางร้อนทะลุ43องศา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพอากาศในพื้นที่ อเถิน จ.ลำปาง พบว่าอุณหภูมิเช้าวันนี้ในพื้นที่ อ.เถิน กว่า 30 องศาเซลเซียส และหากขยับเข้าใกล้ช่วงเที่ยงก็จะเริ่มร้อนขึ้นจนร้อนมากหลังเที่ยงไปจนถึงช่วงบ่าย โดยท้องฟ้าเหนือพื้นที่ อ.เถิน ไม่มีเมฆจึงทำให้แสงแดดส่องลงมาเต็มที่ จนทำให้ความร้อนสะสม อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา รายงานการตรวจวัดอุณหภูมิในพื้นที่ สถานีอุตุนิยมวิทยาเถิน อ.เถิน จ.ลำปาง วัดอุณหภูมิได้สูงถึง 43.0 องศาเซลเซียส ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง เป็นอุณหภูมิที่สูงสุดในประเทศไทย

ชัชชาติแจงเรือนกระจกกทม.

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บท กรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564-2573 (Steering Committee on the Implementation of Bangkok Master Plan on Climate Change 2021-2030) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.), นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่ากทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร และคณะเข้าร่วมประชุม

นายชัชชาติกล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพฯมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43 ล้านตัน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากด้านพลังงาน มีสองส่วน คือ 1.พลังงานในอาคาร โดยเฉพาะการใช้เครื่องปรับอากาศ และ 2.ภาคการขนส่ง คิดเป็นสัดส่วน 90% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลือเกิดจากการฝังกลบขยะ ภาวะน้ำเน่าเสีย ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ต้องปลูกต้นไม้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก

“เราพยายามพูด Net zero emissions หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เป็นการตกลงร่วมกันทั่วโลก แต่หลักของเราให้มองเป้าหมายระยะสั้นให้ชัดเจนขึ้น กำหนดเป้าหมายในปี 2573 จะลดคาร์บอนอย่างน้อย 10 ล้านตัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะทำแผนการใช้พลังงาน แบ่งเป้าหมายแต่ละปีให้ชัดเจน ถ้าเราตั้งเป้าหมายไกลกเกินไป เราจะไปไม่ถึง” นายชัชชาติกล่าว

ชูกรุงเทพฯเมืองโซลาร์เซลล์

นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยการลดก๊าซเรือนกระจก จะรณรงค์ใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อลดการใช้น้ำมันจาก รถยนต์ส่วนตัว และใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์

“มีนโยบายให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแห่งโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ใช้พลังงานจากแสงแดดมากขึ้น เป็นพลังงานไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก” นายชัชชาติกล่าว ส่วน กทม.มีการนำเครื่องวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ติดตั้งใน 3 เขต และจะขยายผลไปทุกเขต ที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานคืบหน้าเป็นอย่างดี

นายเกียรติชายกล่าวว่า อบก.เข้ามาช่วยบูรณาการการปล่อยก๊าซหรือกระจก ในแต่ละเขตจะมาดูการใช้พลังงานที่เป็นไฟฟ้า น้ำมัน ขยะ และขยายเข้าไปสู่พื้นที่ของตัวเอง จะทำให้แต่ละเขตมุ่งเป้าไปจัดการก๊าซเรือนกระจกของตัวเองก่อน แล้วค่อยไปจัดการในแต่ละชุมชนโดยรอบ อบก.มีการสร้างแพลตฟอร์มในการประเมิน จะไปบูรณาการกับอีก 76 จังหวัด จะทำให้ทราบว่าแต่ละจังหวัดมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจำนวนเท่าไหร่ มีแผนลดอย่างไร แต่ละจังหวัดมีศักยภาพบริหารก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน

นายพรพรหมกล่าวว่า แผนการลดก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่กรุงเทพฯ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED การเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น 2.การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีเป้าหมายนับเป็นเมกะวัตต์แต่ละปี 3.ส่งเสริมการเดินทางทางเลือก ตั้งเป้าหมายลดใช้น้ำมัน จะแบ่งปันให้ภาคเอกชนได้ปฏิบัติตามเพื่อร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าหมายไว้ 10 ล้านตัน ในปี 2573

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 23 เม.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200