ตรวจสุขภาพปชช.ครบ1ล้านมิ.ย.นี้ นำผลประเมินร่วมสปสช.ขยายกองทุน

กทม.ตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน ครบมิ.ย.นี้ นำข้อมูลขยายผลกองทุนเพิ่ม ส่งเสริมสุขภาพชุมชนตรงจุด/เตรียมตรวจนักเรียน 2 แสนรับเปิดเทอม พร้อมเฝ้าระวังโรคติดต่อ รณรงค์ทุกพื้นที่เสี่ยง ป้องกันระบาด-ลดผู้ป่วย

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน ของกทม. ว่า เริ่มมีข้อมูลเข้ามาแล้ว ซึ่งต่อไปจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการวิเคราะห์ และวางแผนด้านสุขภาพของประชาชน ต่อไปได้ โดยกทม.จะรื้อวิธีการจัดเก็บข้อมูลใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ กทม.ยังต้องรณรงค์ป้องกันโรคติดต่ออย่างต่อเนื่องด้วย โดยที่ผ่านมารณรงค์เฉพาะในชุมชนและครัวเรือน แต่ไม่เคยรณรงค์ในสถานที่ทำงาน จึงควรทำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง ทั้งไซต์ก่อสร้าง โรงงาน และให้สำนักอนามัยวิเคราะห์ข้อมูลลงลึก ลักษณะของชุมชนที่มีการระบาด และสมมุติฐานของการเกิดระบาด เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมและสามารถลดจำนวนผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สำนักอนามัยรายงานโดย นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวถึงการดำเนินการปัจจุบัน หากนับรวมยอดจากทุกเครือข่าย มีผู้ตรวจสุขภาพไปแล้ว กว่า 700,000 คน ในส่วนของ กทม. ตรวจเองประมาณ 200,000 คน คาดว่าจะเกินจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน ภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยโครงการดังกล่าว นอกจากการตรวจสุขภาพเพื่อให้ประชาชนรับรู้เรื่องโรคภัยเบื้องต้น และรักษาได้ทัน ส่วนหนึ่งยังเป็นการเก็บข้อมูลสุขภาพประจำตัวของประชาชนแต่ละเขต บันทึกไว้ในแอปพลิเคชั่น หมอพร้อม ซึ่ง กทม.จะนำ ข้อมูลสุขภาพในโครงการ 1 ล้านคน ไปร่วมวิเคราะห์กับ สปสช. เพื่อกำหนดกองทุนให้ตรงกลุ่มคนและกลุ่มโรคส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อกระจาย งบประมาณให้แต่ละเขตนำไปส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชนให้ตรงจุดมากขึ้น

สำหรับโครงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน เป็นนโยบาย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นการตรวจสุขภาพเชิงคัดกรอง ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนจะมีสถานพยาบาลในการรักษาประจำ แต่เมื่อตรวจแล้วหากประชาชนยังไม่มีสถานพยาบาลรักษา กทม.จะแนะนำแนวทางและสถานพยาบาลในการรักษาโรคให้ โดยโครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บข้อมูลจากการตรวจสุขภาพ เพื่อนำไปขยายผลด้านกองทุนเพิ่มเติม ซึ่งเกิดผลดีทั้งต่อภาครัฐและประชาชน โดยแนวทางการให้บริการตรวจสุขภาพในปัจจุบัน สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลสังกัด กทม. รวมถึงโรงพยาบาลจะมีการออกหน่วยตามกำหนดการในสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุขจะเน้นให้บริการในชุมชนเป็นหลัก แผนต่อไป กทม.จะมีการตรวจสุขภาพนักเรียนในช่วงเปิดเทอม ตั้งเป้าประมาณ 200,000 คน โดยเน้นเรื่องโรคทั่วไป โรคเครียด การโภชนาการ และปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเป็นแผนรวมอยู่ในโครงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคนด้วย

นอกจากนี้ สำนักอนามัย (สนอ.) ได้รายงานสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2567 โดยโรค โควิด-19 ช่วง 4 เดือนของปีนี้ พบระบาดสูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติหลังสงกรานต์จะมีการระบาดเพิ่มขึ้น สนอ.ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเดินทางหายใจ ส่วนสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่รายเดือนเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ในปี’ 66-67 มีค่าสูงขึ้น สนอ.ได้ขออนุมัติจัดซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้นักเรียนสังกัดกทม. ในระดับประถมศึกษา และจะดำเนินการฉีดต่อไป ด้านสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในกทม. สัปดาห์ที่ 13 (17 ม.ค.-เม.ย. 2567) ประเทศไทยพบผู้ป่วย 24,619 ราย เสียชีวิตแล้ว 22 คน ในกทม.พบผู้ป่วย 1,730 ราย เสียชีวิต 2 คน โดยกระทรวงสาธารณสุข มีข้อแนะนำตามรายงาน ผลการศึกษา แนะให้ผู้ป่วยทุกรายทายากันยุงเพื่อป้องกันยุงกัดในผู้ป่วยและสมาชิกในครัวเรือน โดยให้ปฏิบัติควบคู่ไปกับมาตรการเสริมอื่น

 

บรรยายใต้ภาพ

ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 23 เม.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200