ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอย่างเข้มข้นสำหรับแนวทางการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 ล่าสุด (4 เม.ย.) มีการประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้แสดงความคิดเห็น ซักถามที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง โดยมีนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) และทีมงานร่างผังเมือง ร่วมกันให้ข้อมูล โดยข้อสงสัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องเกณฑ์การเปลี่ยนสีผังเมือง การเวนคืนพื้นที่สร้างถนน และประโยชน์สาธารณะ
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไทพุ่งเป้าไปที่เรื่องแนวทางพัฒนาสังคม และ FAR Bonus หรือมาตรการชักชวนให้เจ้าของพื้นที่
เอื้อประโยชน์สาธารณชน แลกกับสิทธิพิเศษตามข้อกำหนดของผังเมือง เช่น เปิดให้คนทั่วไปใช้พื้นที่สวนสาธารณะ เปิดให้สร้างศูนย์เด็กอ่อนในพื้นที่ เปิดให้สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ เพื่อรับสิทธิการก่อสร้างอาคารได้สูงขึ้น เป็นต้น นายพีรพล ตั้งข้อสงสัยว่า ในความเป็นจริงสามารถทำได้หรือไม่ เช่น เจ้าของคอนโดมิเนียมราคาห้องละ 5 ล้าน จะยอมให้สร้างที่อยู่อาศัยราคาห้องละ 1 ล้าน เพื่ออาศัยในพื้นที่เดียวกันได้อย่างไร เพราะมีพื้นฐานรายได้และการดำเนินชีวิตต่างกัน รวมถึงการเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปใช้สวนสาธารณะในคอนโดฯ จะทำได้อย่างไร ในเมื่อคอนโดฯ ต้องสร้างรั้วรอบมิดชิด คนภายนอกไม่สามารถเข้าได้ดังนั้นFAR Bonus เอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการหรือสาธารณชนกันแน่
นายไทวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้ยอมรับว่ามีรายละเอียดและซับซ้อนมาก ยังต้องมีการปรับแก้ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ส่งเสริมให้นักลงทุนใช้สิทธิส่วนนี้เพื่อประโยชน์ของที่ดินตัวเองเท่านั้น แต่จะมีการคัดเลือกเฉพาะกรณีการใช้สิทธิที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะจริงๆ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดให้อาคารอนุรักษ์ สามารถขายสิทธิ์ FAR Bonus ของตนเองให้พื้นที่อื่นได้ เพื่อนำเงินมาพัฒนาอาคารที่มีคุณค่า ควรอนุรักษ์ เนื่องจากหากปล่อยให้มีการรื้อถอน ไม่เปิดโอกาสในการทำนุบำรุง อาจเสียอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไป ซึ่งแนวคิดนี้คาดว่าจะเป็นไปได้เท่านั้นอยู่ระหว่างการพิจารณารับฟังความเห็น ยืนยันว่า สวพ.จะมีการลงพื้นที่รับฟังข้อกังวลของทุกเขต เพื่อปรับปรุงแก้ไขตามกระบวนการ ไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลแน่นอน
ด้าน รศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาโครงการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 4) กล่าวว่า ผังเมืองฉบับนี้ นอกจากการแสดงผังแนวทางพัฒนาด้านการก่อสร้างแล้ว ยังมีผังแนวทางพัฒนาด้านสังคมด้วย โดยกำหนดให้มีการแสดงผังพื้นที่โล่ง ผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และบริการสาธารณะ และผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น สวนสาธารณะ พื้นที่นันทนาการการกีฬา การศึกษา สาธารณสุข พื้นที่สงวนแหล่งรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม โดยผังดังกล่าวกำหนดเพื่อให้สอดรับกรุงเทพฯ ในด้านเมืองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และผลักดัน Soft Power
นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง ตั้งข้อสงสัยว่า สวพ.ใช้เกณฑ์ใดในการกำหนดสีผังเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตสวนหลวง เหตุใดจึงกำหนดพื้นที่ผังสีแดง (เขตพาณิชยกรรม) เป็นบางส่วน และบางส่วนเป็นสีส้ม (ที่อยู่หนาแน่นปานกลาง) โดยเฉพาะบริเวณใกล้ถนนมอเตอร์เวย์ เนื่องจากมีผลต่อกระทบเรื่องส่วนได้ส่วนเสียของเจ้าของที่ดินและสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องต่อสภาพความเป็นจริง รวมถึง นายสัณห์สิทธิ์เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา ตั้งคำถามว่า พื้นที่ของตน ในส่วนที่มีโรงแรมหรู ศูนย์การค้า มีต่างชาติอาศัยจำนวนมาก เหตุใดจึงยังเป็นสีน้ำตาล (ที่อยู่หนาแน่นมาก) ไม่เปลี่ยนเป็นผังสีแดงทั้งหมด การกำหนดพื้นที่สีแดงเป็นบางจุดจุดประสงค์เอื้อต่อนายทุนหรือไม่
รศ.ดร.นพนันท์ อธิบายว่า จากแผนผังด้านบนของฝั่งถนนมอเตอร์เวย์เขตสวนหลวงกำหนดเป็นสีส้ม เนื่องจากติดข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ ส่วนด้านล่างเป็นระบบเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link สถานีหัวหมากและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวแต่เดิมเป็นสีแดงอยู่แล้ว ไม่มีการเปลี่ยน ส่วนพื้นที่เขตวัฒนา เกณฑ์การกำหนดผังสีแดง ให้ความสำคัญความต่อเนื่องของพาณิชยกรรมกับพื้นที่เขตใกล้เคียง โดยเฉพาะเขตชั้นในที่ต่อเนื่องมาจากย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง กรณีการกำหนดผังสีน้ำตาลบนพื้นที่ถนนสุขุมวิทช่วงกลางในเขตวัฒนา ตามที่มีข้อสงสัย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เน้นให้เป็นที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่อาศัยหนาแน่นสูงที่สุดของกรุงเทพฯอีกด้วย
นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องสำคัญขณะนี้คือ จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนสีผังเมืองต่างๆ สอดคล้องกับระบบการเก็บภาษีปัจจุบัน ซึ่ง กทม.ไม่ได้เก็บภาษีการค้า เช่น กทม.เคยเก็บภาษีห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งประมาณปีละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือปีละ 1 ล้านบาท ขณะที่พื้นที่ฝั่งตะวันออก เจ้าของที่ดินกลับเสียภาษีที่ดินมากขึ้น ดังนั้น ขอฝากเรื่องนี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณาปรับผังเมืองด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนสีผัง มีผลต่อผู้เสียภาษีในพื้นที่ และการจัดเก็บภาษีของ กทม.
นายไทวุฒิ กล่าวว่า ในด้านการเวนคืนพื้นที่เพื่อขยายถนนที่หลายฝ่ายกังวล สวพ.ยืนยันว่าได้ยกเลิกการเวนคืนพื้นที่เพื่อขยายถนนส่วน ก และ ข แล้ว แต่จะใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทดแทน เพื่อให้ผู้ก่อสร้างอาคารใหม่เว้นระยะสำหรับขยายถนนในอนาคต ส่วนถนนค ถึง ช เป็นถนนส่วนที่ต้องสร้างใหม่ อยู่รอบนอกกรุงเทพฯ ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ผังเมือง ปี 2556 ถึงปัจจุบัน มีการเวนคืนพื้นที่ไปแล้วบางส่วน ซึ่งประชาชนในพื้นที่รับทราบไม่มีอุปสรรคใดๆ
“ผังเมืองฉบับนี้ไม่ใช่ของสำนักการวางผังฯ เป็นของประชาชน การดำเนินการยึดขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ 18 ขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 5 สุดท้ายจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.ในขั้นตอนที่17 สวพ.ยังต้องรับฟังความเห็นและปรับปรุงให้สมเหตุสมผลที่สุด” นายไทวุฒิ กล่าว
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2567