เล็งต่อยอดคัดแยกขยะระดับเขต คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างย่านพญาไท จัดระเบียบผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน ชมคัดแยกขยะอาคารเอไอเอส ส่งเทศกิจส่องจุดเสี่ยงอาชญากรรม สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมปากซอยร่วมมิตร และสวนพญาไทภิรมย์
(28 ธ.ค.65) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพญาไท ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารสำนักงานเขตพญาไท เพื่อต่อยอดการคัดแยกขยะระดับเขตแบบสมบูรณ์ครบวงจร วิธีการคัดแยกขยะโดยจำแนกตามประเภท ขยะเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานประจำวัน ซึ่งสามารถย่อยสลายได้นำมาส่งทำปุ๋ยหมักเศษอาหาร โดยรวบรวมใส่ถุงพลาสติกเทน้ำออกและมัดปากถุงให้เรียบร้อย นำมาใส่ในถังพักขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ขนาด 80 ลิตร หากปริมาณขยะเศษอาหารมีน้อย จะรอรวบรวม 2-3 วัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาฯ จะทยอยนำขยะเศษอาหารใส่ในเครื่องกำจัดเศษอาหารตามรอบเวลา 13.00 น. และเวลา 17.00 น. โดยใน 1 ครั้ง จะใส่เศษอาหารไม่เกิน 3 กิโลกรัม และใน 1 วัน จะใส่เศษอาหารไม่เกิน 5 กิโลกรัม เครื่องกำจัดเศษอาหารจะเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์จะหยุดใส่เศษอาหาร และเวลา 17.00 น. จะตักปุ๋ยเศษอาหารในเครื่องออกมาใส่ถุง และทำความสะอาดเครื่อง เพื่อเตรียมนำเศษอาหารใส่เครื่องใหม่ในเช้าวันจันทร์ การคัดแยกขยะประเภทอื่นๆ ดำเนินการ ดังนี้ 1.ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) ได้แก่ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ 2.ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) ได้แก่ กระดาษ พลาสติก แก้ว กระป๋อง อลูมิเนียมหรือสิ่งของที่ไม่ใช้งาน ส่วนขวดน้ำพลาสติก ให้นำมาทิ้งที่คอกรับขวด เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อไป 3.ขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อนวัตถุอันตราย สารพิษ สารเคมี วัตถุไวไฟ 4.ขยะติดเชื้อ (ถังสีแดง) ได้แก่ หน้ากากอนามัย สำลี หรือสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่ง ชุดตรวจโควิดที่ใช้งานแล้ว ให้นำใส่ถุงพลาสติกขนาดเล็กมัดปากถุงให้แน่น เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยก 80 กิโลกรัม ปริมาณขยะหลังคัดแยก 50 กิโลกรัม ขยะที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ 30 กิโลกรัม เขตฯ จัดเก็บขยะทั่วไปทุกวัน ส่วนขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย ขยะติดเชื้อจัดเก็บทุกวันศุกร์
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โครงการ นิว อีโว อารีย์ ซอยอารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน ในพื้นที่เขตฯ มีสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ ดังนี้ ประเภทโรงงาน 2 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 9 แห่ง ประเภทการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ 1 แห่ง สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายเขตฯ ตรวจสอบตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัย การติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารป้องกันฝุ่น การพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นละอองและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ พื้นที่สำหรับล้างล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ โดยเน้นย้ำผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมและป้องกันมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าอาคาร S.M.Tower (หน้าโรงพยาบาลพญาไท 2) ถนนพหลโยธิน เดิมเขตฯ มีจุดผ่อนผัน 33 จุด ผู้ค้า 807 ราย (ตามประกาศจุดผ่อนผัน ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 จำนวน 683 จุด) โดยถูกยกเลิกจุดผ่อนผัน 16 จุด คงเหลือ 17 จุด (ตามประกาศฯ ปี 2554) โดยตั้งแต่ปี 2554-2563 เขตฯ ได้ยกเลิกผู้ค้าคงเหลือทั้งสิ้น 17 จุด แต่ทยอยยกเลิกทีละจุดถึงปี พ.ศ. 2564 มีจุดผ่อนผันคงเหลือทั้งสิ้น 3 จุด ปัจจุบันเขตฯ มีจุดผ่อนผันที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.)เห็นชอบและประกาศเป็นพื้นที่อนุญาตทำการค้าแล้ว จำนวน 3 จุด ดังนี้ 1.ซอยพหลโยธิน 7 (ซอยอารีย์ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 84 ราย (กลางวัน 58 ราย กลางคืน 30 ราย) จุดผ่อนผันนี้เป็นต้นแบบในการจัดระเบียบผู้ค้า โดยตั้งแต่ปี 2560 เขตฯ ได้ลงนามความตกลงร่วมกับธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อจัดทำแผงค้าให้เป็นรูปแบบและมีขนาดเดียวกันเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม (เขตราชเทวีได้มาศึกษาข้อมูลและนำไปปรับใช้ที่บริเวณจุดผ่อนผันซอยรางน้ำ) และในปี 2565 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้มาตรวจสอบและออกป้ายมืออาชีพให้ร้านค้าเพื่อใช้รับรองคุณภาพและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ซื้ออาหารในบริเวณดังกล่าวว่ามีความสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และรสชาติอร่อย 2.ถนนประดิพัทธ์ขาเข้า (ซอยเลขคี่) ผู้ค้า 68 ราย (กลางวัน 9 ราย กลางคืน 59 ราย) และ 3.ถนนประดิพัทธ์ขาออก (ซอยเลขคู่) มีผู้ค้า 28 ราย (กลางวัน 8 ราย กลางคืน 20 ราย) ส่วนบริเวณซอยอารีย์ 1 ปัจจุบันไม่มีผู้ค้าทำการค้า และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติประกาศยกเลิก เนื่องจากไม่มีการประชุมในคณะกรรมการระดับกรุงเทพมหานคร สำหรับพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน (ขอทบทวนจุดยกเลิกเดิม) จำนวน 10 จุด ดังนี้ 1.บริเวณหน้าสำนักงาน ป.ป.ส. (ผู้ค้า 46 ราย เก่า 7 ราย ใหม่ 39 ราย) 2.จุดสาลีรัฐวิภาค (ผู้ค้า 55 ราย เก่า 37 ราย ใหม่ 18 ราย) 3.บริเวณหน้าอาคาร S.M.Tower (หน้าโรงพยาบาลพญาไท) 2 ถนนพหลโยธิน (ผู้ค้า 28 ราย เก่า 9 ราย ใหม่ 19 ราย) 4.บริเวณหน้าอาคารพหลเพลส ผู้ค้า 67 ราย เก่า 15 ราย ใหม่ 52 ราย) 5.บริเวณซอยพหลโยธิน 9 (ผู้ค้า 17 ราย เก่า 3 ราย ใหม่ 14 ราย) 6.บริเวณหน้าคอนโดออนิกส์ (ผู้ค้า 26 ราย เก่า 18 ราย ใหม่ 8 ราย) 7.บริเวณหน้าโรงแรม Grand Tower Inn (ผู้ค้า 9 ราย เก่า 5 ราย ใหม่ 4 ราย) 8.บริเวณหน้าโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน (ผู้ค้า 32 ราย เก่า 21 ราย ใหม่ 11 ราย) 9.บริเวณหลังแฟลตสวัสดิการทบ. (ผู้ค้า 17 ราย เก่า 11 ราย ใหม่ 6 ราย) และ 10.บริเวณใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ถนนพหลโยธินขาเข้า (ผู้ค้า 16 ราย เก่า 9 ราย ใหม่ 7 ราย) รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 313 ราย ผู้ค้าเก่า 135 ราย ผู้ค้าใหม่ 178 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงขีดสีตีเส้นพื้นที่ทำการค้าให้ชัดเจน ตลอดจนพิจารณาจัดหาพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าตั้งวางสินค้าให้อยู่ในแนวเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารเอไอเอส ทาวเวอร์ 2 ถนนพหลโยธิน อาคารดังกล่าวมีทั้งหมด 20 ชั้น พนักงาน 1,200 คน การคัดแยกขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิล จะมีการคัดแยกทุกชั้นๆ ละ 1 จุด ซึ่งแต่ละชั้นจะประกอบไปด้วยช่องใส่ขยะ ดังนี้ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล กระดาษ สำหรับการคัดแยกขยะเศษอาหาร มีเครื่องขนาด 5 กิโลกรัม จำนวน 1 เครื่อง โดยตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยหมักเศษอาหารไว้ที่โรงอาหาร และนำปุ๋ยเศษอาหารที่ได้ไปแจกจ่ายแก่พนักงาน การคัดแยกขยะ E-Waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยตั้งจุดรับบริการอยู่ที่ชั้น 1 จุดพักขยะรวม ได้แก่ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะเปียก มีห้องขยะ 1 จุด อยู่ภายในอาคาร สำหรับปริมาณขยะในเดือนพฤศจิกายน 2565 คัดแยกได้ประมาณ 600-1,000 กิโลกรัม
ตรวจจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม สะพานลอยแยกสะพานควาย ถนนพหลโยธิน เขตฯ มีจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม จำนวน 5 จุด ดังนี้ 1.ซอยราชครู 2.สะพานลอยแยกสะพานควาย 3.สะพานลอยหน้ากระทรวงการคลัง 4.สะพานลอยปากซอยบุญอยู่ และ 5.สะพานลอยกองดุริยางค์ทหารบก เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราความปลอดภัยวันละ 2 เวลา (กลางวัน-กลางคืน) โดยตรวจและลงลายมือชื่อในการบันทึกวัน เวลา และเหตุการณ์ในขณะนั้น ส่วนบริเวณสะพานลอยแยกสะพานควาย มักจะพบคนเร่ร่อน หรือขอทานบนสะพานลอย โดยเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจจะตรวจสอบช่วงกลางวันบ่อยครั้งกว่าปกติ (ประมาณ 2-3 ครั้งในช่วงเวลากลางวัน) ประสานสำนักพัฒนาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือคนเร่ร่อน รวมถึงตรวจสอบด้านความปลอดภัยของประชาชน เช่น ไฟฟ้าส่องสว่าง ความสะอาด กล้อง CCTV ตลอดจนสังเกตเหตุการณ์โดยรอบ เพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรม โดยหากพบเหตุการณ์ต่างๆ จะรายงานให้ฝ่ายที่รับผิดชอบรับทราบทางไลน์ เพื่อความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา
สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมปากซอยร่วมมิตร ถนนพหลโยธิน เขตฯ มีสวนสาธารณะเดิม 1 แห่ง ที่จะปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น คือสวนพญาไทภิรมย์ เนื้อที่ 10 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตทางพิเศษศรีรัช ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริเวณใต้ทางด่วนซอยริมคลองสามเสน โดยมีการทำสัญญาขอใช้พื้นที่กับการทางพิเศษฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงสวน ปรับปรุงลู่วิ่ง รั้ว ห้องน้ำ ศาลาที่พัก ป้ายชื่อสวน ต้นไม้ นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม คือระบบน้ำทำน้ำตก ระบบรดน้ำต้นไม้ และไฟฟ้าแสงสว่างเพิ่มเติม สำหรับสวนหย่อมแห่งใหม่ ที่จะดำเนินการปรับปรุง คือสวนหย่อมปากซอยร่วมมิตร เนื้อที่รวม 3 งาน 47 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณ 2 ฝั่งถนนย่านพหลโยธิน เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยทำสัญญาขอใช้พื้นที่กับการทางพิเศษฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่16 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2568 ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม จะดำเนินการปรับปรุงโดยการปลูกไม้พุ่ม พร้อมทั้งสร้างรั้วกั้นบริเวณโดยรอบพื้นที่สวนหย่อม เพื่อเป็นแนวขอบเขตที่ชัดเจน และสร้างลู่วิ่งให้ประชาชนได้ใช้วิ่งหรือเดินออกกำลังกาย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานสำนักสิ่งแวดล้อมออกแบบทางเดินวิ่งภายในสวน ประสานสำนักการโยธาปรับปรุงพื้นที่ภายในสวน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสุวรรณ ศิริมุจลินท์ ผู้อำนวยการเขตพญาไท พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพญาไท สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #ปลอดภัยดี
—–