‘3เดือนแรก’เกิดเหตุนับพันครั้ง สแกนเข้มลอบเผาหญ้า-ขยะที่โล่ง

นายสุริยชัย รวิวรรณ รอง ผอ. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทน ผอ.สปภ. กล่าวถึง มาตรการเชิงรุกในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุไฟไหม้หญ้าและกองขยะในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนนี้ว่า ผู้ว่าฯ กทม.อนุมัติแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. ปี 67 เพื่อเป็นกรอบดำเนินการช่วงวิกฤติ PM 2.5 ซึ่ง สปภ.เป็นหน่วยสนับสนุนสำนักงานเขตในการควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะและการเผาในที่โล่ง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและควบคุมการเกิดเพลิงไหม้ จึงสั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยเร่งรัดออกปฏิบัติการดับเพลิงไหม้หญ้าหรือการเผาชีวมวลต่าง ๆ ให้รวดเร็ว ประกอบกับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 66 ถึง พ.ค.67 เป็นช่วงเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ผู้ว่าฯ กทม.จึงได้มีประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือ โดยเฉพาะภาคประชาชนตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า สภาพการใช้งาน และขนาดของสายไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน เนื่องจากอัคคีภัย ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร

นายสุริยชัย ยังเผยถึง การให้สำนักงานเขตแจ้งประชาชนและเจ้าของที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ให้เผาหญ้าและขยะในพื้นที่ พร้อมประสานท้องที่กวดขัน จับกุมหากพบผู้กระทำการฝ่าฝืนเผาหญ้า หรือขยะ และลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดอื่นที่มีโทษหนักกว่า

สำหรับสถิติเพลิงไหม้หญ้าและกองขยะในพื้นที่ กทม. ตลอดช่วง 3 เดือนแรกของปี พบเหตุเพลิงไหม้หญ้าและกองขยะทั้งหมด 1,120 ครั้ง แยกเป็นเหตุเพลิงไหม้หญ้า 999 คิดเป็นร้อยละ 89.2, เหตุเพลิงไหม้ขยะ 121 คิดเป็นร้อยละ 10.8

ส่วนพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มากที่สุด คือ กรุงเทพตะวันออก 719 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 64.19 และพื้นที่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้น้อยที่สุด คือ กรุงเทพกลาง 34 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 3.04.

 



ที่มา:  นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 เม.ย. 2567 (กรอบบ่าย)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200