(10 เม.ย.67) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
ในที่ประชุม นายพีรพล กนกวลัย ยื่นกระทู้ถามสดเรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุและเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าหลายครั้ง เช่น เหตุชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถไฟฟ้าหลุดร่วงลงมาใส่ยานพาหนะและผู้สัญจรบนท้องถนนจนได้รับความเสียหายและบาดเจ็บ เหตุรางนำไฟฟ้าหล่นทำให้ต้องหยุดเดินรถและอพยพผู้โดยสารเพื่อความปลอดภัย จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงความชัดเจนในการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าและแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จริง ๆ แล้วในทางวิศวกรรมมองว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลจะมีปัญหาเรื่องการอพยพคน เพราะไม่สามารถให้คนลงมาเดินได้ ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ทราบว่ามีการทำเป็นทางเดินตะแกรงเหล็กตรงกลาง แต่ก็ต้องมีทางเดินลงมาเพื่อให้ประชาชนเดินลงมาได้ ต้องเรียนว่าโมโนเรลในกทม.มีทางเดินหนีภัย แต่ต้องมีข้อแนะนำที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนทราบ ส่วนการป้องกันของตกหล่น สำนักการจราจรและขนส่งได้กำกับดูแลอยู่แล้ว
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมารถไฟฟ้าสายสีเหลืองพบมีปัญหา2 เรื่อง คือ เรื่องล้อยางประคองตัวรถหลุด แผ่นรองตัวคานขยับ กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประชุมร่วมกับรฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) เพื่อตรวจสอบโดยตลอด ทั้งสาเหตุ การแก้ไขปัญหาต้นตอเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ โดยผู้รับสัมปทานต้องหารือผู้ผลิตเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้าง และต้องมีการซ้อมกรณีเกิดเหตุ ซึ่งกทม.ได้หารือรฟม.อย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความมั่นใจกับรถไฟฟ้าทุกสายในกทม. รวมถึงหากมีการเทคอนกรีตต้องปิดถนนถาวร กรุงเทพมหานครจึงจะยอมให้ดำเนินการได้
“กรุงเทพมหานครต้องมีมาตรการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ต้องคิดล่วงหน้า เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น อยากให้กทม.กำหนดแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม สำหรับรถไฟฟ้าโมโนเรลทุกสายในพื้นที่กทม. และขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่ผู้บริหารกทม.จะหมดวาระ” นายพีรพล กล่าว
—————–