Search
Close this search box.
ลงพื้นที่ทุ่งครุ สำรวจ Lotus Go Fresh เล็งสร้างจุดบริการด่วนมหานคร ส่อง Hawker Center พร้อมปลูกต้นจิกน้ำสวนหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 คุมเข้มฝุ่นจิ๋วหม้อไอน้ำสยามหล่อยาง ชมคัดแยกขยะชุมชนประชาอุทิศ 68 

 

(9 เม.ย.67) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทุ่งครุ ประกอบด้วย 

 

สำรวจพื้นที่จุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service) บริเวณห้างสรรพสินค้า Lotus Go Fresh ซอยประชาอุทิศ 58/1 ถนนประชาอุทิศ ซึ่งเขตฯ ได้ประสานห้างสรรพสินค้า Lotus Go Fresh เพื่อใช้พื้นที่ในการจัดทำเป็นจุดบริการด่วนมหานคร เป็นการเพิ่มช่องทางในการติดต่อราชการและเข้ารับงานบริการของกรุงเทพมหานคร ด้านงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน ได้แก่ การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน การคัดรับรองสำเนาทะเบียนบ้าน ให้คำปรึกษาด้านงานทะเบียน การให้บริการงานของฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ได้แก่ การบริการด้านผู้สูงอายุและผู้พิการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การขอจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุง เพื่อให้การจัดทำจุดบริการด่วนมหานครเกิดประสิทธิภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไป 

 

ติดตามการจัดทำ Hawker Center บริเวณสวนหย่อมหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 ในซอยประชาอุทิศ 79 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 185 ราย ดังนี้ 1.ตลาดในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 147 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.บริเวณสวนหย่อมโครงการ 18 ในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 3.หน้าแฟลต กทม. ประชาอุทิศ 90 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 4.ปากซอยพุทธบูชา 46 ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. และ 5.ปากซอยพุทธบูชา 44 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณซอยพุทธบูชา 46 ผู้ค้า 7 ราย ที่ผ่านมา เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณสวนหย่อมหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 ในซอยประชาอุทิศ 79 รองรับผู้ค้าได้ 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า รอบเช้า 06.00-14.00 น. ผู้ค้า 11 ราย รอบเย็น 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 13 ราย 

 

พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตทุ่งครุ ได้ร่วมกันปลูกต้นจิกน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตลอดจนเพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 17-18 พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา 2.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา 3.สวนหย่อมซอยประชาอุทิศ 54 แยก 6 พื้นที่ 2 งาน 30 ตารางวา 4.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านนริศา พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าโรงเหล็ก ซอยประชาอุทิศ 33 พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา โดยจัดทำทางเดิน เพิ่มเก้าอี้นั่งพักผ่อน 2.สวนหย่อมลานตระกร้อ พื้นที่ 2 งาน 94 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบสวน 3.สวนหย่อมลานนกเขา พื้นที่ 2 งาน 5 ตารางวา อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ 

 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามหล่อยาง ซอยประชาอุทิศ 79 ถนนประชาอุทิศ ซึ่งประกอบกิจการผลิตยางหล่อลูกกลิ้ง มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ในขั้นตอนการผลิต โดยใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 31 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 13 แห่ง ประเภทควันดำในสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง ประเภทจุดถมดิน-ท่าทราย 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนประชาอุทิศ 68 ถนนประชาอุทิศ พื้นที่ 35 ไร่ ประชากร 1,374 คน บ้านเรือน 300 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2558 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ก่อนทิ้ง โดยนำไปทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง แยกเศษอาหารส่งเกษตรกรเพื่อเลี้ยงสัตว์ (โครงการไม่เทรวม) เป็นชุมชนใกล้พื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกรได้รับขยะเศษอาหารจากชุมชน นำมาเลี้ยงปลา แพะ และวัว 2.ขยะรีไซเคิล ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลที่ขายได้ โดยเก็บรวบรวมนำมาขายในร้านรับซื้อของเก่าในบริเวณชุมชน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปทิ้งตามวันเวลาที่รถเก็บขนมูลฝอยเข้าดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย จัดจุดพักคัดแยกขยะอันตราย เพื่อรอฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการจัดเก็บทุกวันที่ 15 ของเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 370 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตราย หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน 

 

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง หมู่บ้านเพ็ญพร 2 ถนนเลียบทางด่วนกาญจนาภิเษก ซึ่งพื้นที่ของหมู่บ้านเพ็ญพร 2 เป็นพื้นที่ต่ำ การระบายน้ำต้องใช้พื้นที่ข้างเคียง ซึ่งท่อระบายน้ำไม่มีการเชื่อมต่อสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ อีกทั้งพื้นที่รอบข้างมีการถมดินทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ เขตฯ จึงมีแนวคิดในการปรับปรุงโดยก่อสร้างถนน ค.ส.ล. ความกว้าง 3-8 เมตร ระยะทาง 676 เมตร พร้อมท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.60 เมตร และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 เมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว การขอจัดสรรงบประมาณ โดยให้รวบรวมข้อมูลนำมาพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าว เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง 

 

ในการนี้มี นายพงศ์ศักดิ์ พูลยรัตน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทุ่งครุ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

 

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200