Search
Close this search box.
โปรยยาหอมเจ้าหน้าที่เทศกิจ จัดระเบียบผู้ค้าอย่างจริงจัง ปฏิบัติหน้าที่เต็มร้อย ยึดหลักความถูกต้อง ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ หากมุ่งมั่นตั้งใจจริง 

 

(9 เม.ย.67) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต ครั้งที่ 3/2567 โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครสูง นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องกรุงธน 3 ชั้น 5 อาคาร 2 สำนักเทศกิจ เขตธนบุรี 

 

“การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง กวดขันผู้ค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะอย่างเคร่งครัด สำรวจตรวจสอบซากรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อเพิ่มช่องทางเดินรถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด จัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ที่ติดตั้งบดบังทัศนียภาพกีดขวางทางเดินเท้า อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ขอให้เจ้าหน้าที่เทศกิจยึดมั่นในศักดิ์ศรีและอุดมการณ์ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ ยึดหลักความถูกต้อง เชื่อว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ หากทุกท่านมุ่งมั่นตั้งใจจริง” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย 

 

ในที่ประชุมได้รายงานผลการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด ผู้ค้า 4,541 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,440 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,101 ราย เจ้าพนักงานจราจรไม่เห็นชอบ 9 จุด ผู้ค้า 692 ราย จากตรวจประเมินพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันตามหลักเกณฑ์ฯ ปี 2563 และความเหมาะสมของพื้นที่ พบว่าพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด มีความเหมาะสม 73 จุด ไม่เหมาะสม 7 จุด ยกเลิกแล้ว 6 จุด ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 544 จุด ผู้ค้า 13,210 ราย ที่ผ่านมาได้มีการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยยกเลิกจุด ยุบรวมจุด และย้ายเข้าพื้นที่เอกชน ซึ่งในปี 2567 จะดำเนินการยกเลิกจุดหรือยุบรวมจุด 105 จุด ในพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยได้จัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าให้เข้าไปทำการค้าในจุดที่กำหนดไว้ โดยดำเนินการยกเลิกแล้ว 61 จุด คงเหลือ 44 จุด ดำเนินการยกเลิกนอกเป้าหมาย 43 จุด ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 440 จุด ผู้ค้า 11,834 ราย ทั้งนี้ผู้ค้าต้องหยุดทำการค้าทุกวันจันทร์ และร่วมกันล้างทำความสะอาดพื้นที่ทำการค้า ผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ค้าต้องตรงตามบัญชี ผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันให้ยึดตามกฎหมาย แต่ในระหว่างดำเนินการให้นำหลักเกณฑ์ฯ ที่กำหนด มาบังคับใช้ โดยอนุโลมโดยเฉพาะขนาดแผงค้า การตั้งวางต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนการจัดทำ Hawker Center ปี 2566 ดำเนินการแล้ว 39 จุด ใน 29 เขต รองรับผู้ค้าได้ 2,826 ราย หยุดดำเนินการ 5 จุด คงเหลือ 34 จุด ในปี 2567 จัดทำ Hawker Center เพิ่มเติมอีก 28 จุด ใน 26 เขต รองรับผู้ค้าได้ 1,500 ราย ในส่วนของการปรับปรุงร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2566 ที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 17 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปรวบรวมผล เพื่อเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป 

 

จากนั้นในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2567 ตรวจพบซากยานยนต์ 1,434 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย 1,189 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 236 คัน และรอเคลื่อนย้าย 9 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567) ผลการดำเนินงานตรวจจับผู้กระทำผิดฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ผ่านระบบ BMA AI CAMERA ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีผู้ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า 13,763 ราย อยู่ระหว่างเชิญพบครั้งที่ 1 จำนวน 4,596 ราย อยู่ระหว่างเชิญพบครั้งที่ 2 จำนวน 2,006 ราย ส่งต่อคดี 156 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 225 ราย เปรียบเทียบปรับ 410 ราย เป็นเงิน 293,300 บาท ผลดำเนินการโครงการจัดระเบียบป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ระว่างวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2567 สำนักงานเขตจัดเก็บ 206,555 ป้าย แจ้งความดำเนินคดี 84 ราย ส่งฝ่ายรายได้ 540 ป้าย เปรียบเทียบปรับ 6,561 ราย เป็นเงิน 17,935,200 บาท นอกจากนี้ สำนักเทศกิจได้จัดทำแผนรักษาความปลอดภัย การจราจร และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ พ.ศ.2567 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 โดยตั้งจุดบริการประชาชนที่เดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 จุด ประกอบด้วย เส้นทางเข้าออกเมือง 7 จุด ได้แก่ 1.หน้าสถานีบริการน้ำมันบางจาก กม.4+800 ถนนบางนา-ตราด (ฝั่งขาออก) เขตบางนา 2.สถานีบริการน้ำมัน ปตท. กม.12 ถนนพระราม 2 มุ่งหน้ามหาชัย (ฝั่งขาออก) เขตบางขุนเทียน 3.ถนนบรมราชชนนี (ฝั่งขาออก) ใต้สะพานต่างระดับถนนพุทธมณฑลสาย 3 และถนนบรมราชชนนี (ฝั่งขาเข้า) ใต้สะพานถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตทวีวัฒนา 4.ใต้สะพานกลับรถ แยกมหานคร เขตหนองจอก 5.สถานีรถไฟดอนเมือง ถนนวิภาวิดีรังสิต (ฝั่งขาออก) เขตดอนเมือง 6.หน้าสำนักงานเขตหนองแขม ถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม 7.หน้าสำนักงานเขตลาดกระบัง ถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง สถานีขนส่งผู้โดยสาร 4 จุด ได้แก่ 1.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) เขตจตุจักร 2.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย) เขตคลองเตย 3.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (สายใต้ใหม่-ตลิ่งชัน) เขตตลิ่งชัน 4.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (สายใต้ปิ่นเกล้า) ถนนบรมราชชนนี เขตบางกอกน้อย รวมถึงพื้นที่จัดงานสงกรานต์ ได้แก่ ถนนข้าวสาร เขตพระนคร ถนนสีลม เขตบางรัก ลานคนเมือง เขตพระนคร เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ประจำปี 2567 

 

#เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี #ปลอดภัยดี #เดินทางดี

—–  (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200