ส่องถนนสวยพระรามที่ 2 ซอย 82 สายสีสันของต้นไม้ สำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พัฒนาสวน 15 นาที สวนรักษาศุข ต่อยอดคัดแยกขยะเขตบางบอน ชมต้นแบบการแยกขยะโรงเรียนคงโครัดอุทิศ ตรวจเข้มค่าฝุ่น PM2.5 โรงหลอมโลหะ
(27 ธ.ค.65) เวลา 15.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตบางบอน เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
ถนนสวย ถนนพระรามที่ 2 ซอย 82 เขตบางบอน ความยาวถนน 1,160 เมตร ความกว้างของทางเท้า 3 เมตร ประเภทต้นไม้ ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน ชนิดต้นไม้ที่ปลูก ได้แก่ ต้นอินทนิล จำนวน 28 ต้น ต้นคลอร์เดีย จำนวน 162 ต้น ต้นทองอุไร จำนวน 436 ต้น ต้นหลิว จำนวน 5,450 ต้น แนวคิดในการทำถนนสวยเส้นพระรามที่ 2 ซอย 82 ด้วยถนนนี้ได้มีการปรับปรุงทางเท้าทั้ง 2 ฝั่งตลอดแนว และยังไม่ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ใหม่ จึงมีแนวคิดที่จะทำถนนเส้นนี้เป็นถนนสวยสายสีสันของต้นไม้สามระดับ เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับถนน เนื่องจากต้นอินทนิล มีดอกสีม่วง และต้นคลอร์เดีย มีดอกสีส้ม ไม้ 2 ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นทองอุไร มีดอกสีเหลืองเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ ต้นหลิว มีดอกสีม่วงเป็นไม้คลุมดินที่สามารถเก็บความชื้นในดินได้ดี และมีดอกสวยงาม ซึ่งต้นไม้ดังกล่าวเป็นไม้ที่มีความพิเศษสามารถเป็นกำแพงกรองฝุ่น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มความสดชื่นให้กับพื้นที่ หากปลูกเป็นแถวตลอดแนวถนนจะเพิ่ม ความสวยงามให้กับถนนเส้นมากยิ่งขึ้น
สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บริเวณหมู่บ้านพระปิ่น 5 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 51,250 แปลง สำรวจแล้ว 29,400 แปลง คงเหลือ 21,850 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 46,584 แห่ง สำรวจแล้ว 24,231 แห่ง คงเหลือ 22,353 แห่ง ห้องชุด 4,098 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 101,962 รายการ สำรวจแล้ว 57,729 รายการ คงเหลือ 44,203 รายการ ปัจจุบันสภาพที่ดินอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ จึงจำเป็นต้องลงพื้นที่สำรวจแปลงที่ดิน เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
พัฒนาสวน 15 นาที สวนสาธารณะใหม่ ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา (สวนรักษาศุข) ถนนพรมแดน ได้รับมอบที่ดินจาก นางประจวบ เนตรแสงสว่าง เนื้อที่ 4 ไร่ 12 ตารางวา ก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ปีงบประมาณ 2565 และปรับปรุงภูมิทัศน์สวนรักษาศุข ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 โดยมีแนวคิดและรายละเอียด ดังนี้ โซนพืชพื้นถิ่นและพืชสมุนไพร โดยปลูกมะม่วงขาวนิยม ขนุน จำปี ดอกรัก กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง กล้วยหอม ขมิ้นชัน ปลูกหญ้านวลน้อยและหญ้ามาเลเซีย พร้อมทำ ทางเท้ารอบพื้นที่สวน โซนพืชซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ถิ่นบางบอน ได้แก่ บอนสายพันธุ์ต่างๆ ที่แสดงถึงความเป็นบางบอน ปลูกหญ้าคลุมดิน พร้อมปูทางเท้าด้วยอิฐรอบพื้นที่ พื้นที่ทางเดินภายในบริเวณสวนที่เชื่อมต่อกันระหว่างโซนพืชพื้นถิ่นและพืชสมุนไพร กับโซนพืชที่แสดงถึงอัตลักษณ์ถิ่นบางบอน เพื่อชมธรรมชาติและความสวนงามของต้นไม้ภายในสวน และยังใช้เป็นพื้นที่ในการออกกำลังกาย
เยี่ยมชมจุดคัดแยกขยะ บริเวณอาคารสำนักงานเขตบางบอน ต่อยอดการคัดแยกขยะระดับเขตแบบสมบูรณ์ครบวงจร เขตฯ มีแนวทางในการคัดแยกขยะ โดยตั้งวางถังรองรับมูลฝอยขนาด 80 ลิตร บริเวณหน้าห้องน้ำชาย-หญิง ของอาคารสำนักงานเขตทั้ง 3 ชั้น โดยแยกประเภทถังขยะเป็น 4 สี 4 ประเภท ได้แก่ ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) ขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) และขยะอินทรีย์/ขยะเปียก (ถังสีเขียว) พร้อมทั้งรณรงค์ให้ข้าราชการและบุคลากรในเขตฯ ร่วมกันคัดแยกขยะ ก่อนนำไปทิ้งที่จุดพักทิ้งขยะ สำหรับปริมาณขยะแต่ละประเภท (เดือนพฤศจิกายน 2565) ขยะรีไซเคิล 210 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไป 1,718 กิโลกรัม/เดือน ขยะเศษอาหาร 178 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไป นำไปทิ้งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขม ขยะรีไซเคิล จะคัดแยกไว้รวบรวมส่งให้กับสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปผลิตชุดให้พนักงานกวาด ขยะเศษอาหาร นำไปทำปุ๋ยหมักและมีประชาชนมาขอนำไปเลี้ยงปลา นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมืองดใช้กล่องโฟม และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยให้ใช้แก้วน้ำส่วนตัว หรือถุงผ้าใส่ของ กล่องพลาสติกใส่อาหาร หรือภาชนะใส่อาหารจากร้านขายอาหาร
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริเวณโรงเรียนคงโครัดอุทิศ ซอยเอกชัย 50 ถนนเอกชัย มีลักษณะพื้นที่โดยรอบข้างเป็นทั้งชุมชนเมือง และสวนพืชพันธุ์ทางการเกษตร จึงมีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท วิธีการคัดแยกขยะภายในโรงเรียน ปลูกฝังวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับ ครู บุคลากร และนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนซึ่งจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ จึงมีแนวคิดที่จะให้ครู บุคลากร และนักเรียนลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยให้ครู บุคลากร และนักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ฝึกการคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ วิธีการนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำเข้าเตาเผาได้แล้ว ยังเป็นการฝึกทักษะการทำงานให้กับนักเรียน และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของอีกด้วย สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการ 1,200 กิโลกรัม/วัน (ระบุปีฐานของข้อมูล ปี 2560-2565) ปริมาณขยะหลังดำเนินการ 400 กิโลกรัม/วัน (ระบุปีฐานของข้อมูล ปีปัจจุบัน 2565) ปริมาณขยะส่วนต่างที่ลดลง 800 กิโลกรัม/วัน ส่วนปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ขยะอินทรีย์ 200 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิล 183 กิโลกรัม/วัน ขยะทั่วไป 208 กิโลกรัม/วัน รวมปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ 591 กิโลกรัม/วัน เขตฯ เข้าเก็บขยะ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ (วันพุธ และวันอาทิตย์)
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริเวณโรงหลอมโลหะ ซอยพระยามนธาตุ แยก 11 ในพื้นที่เขตฯ มีสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ดังนี้ ประเภทที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) 4 แห่ง ประเภทหลอมโลหะ 9 แห่ง ประเภทที่มีการเผาไหม้ 1 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 22 แห่ง ประเภทคอนกรีตผสมเสร็จ (แพลนท์ปูน) 3 แห่ง ประเภทการก่อสร้าง 15 แห่ง ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางทวีพร โชตินุชิต ผู้อำนวยการเขตบางบอน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางบอน สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม คณะครู บุคลากร และนักเรียนโรงเรียนคงโครัดอุทิศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #ปลอดภัยดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)