“ถึงเวลาลงทุนครั้งใหญ่กับระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ เพราะมีผลต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงให้เตรียมการปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข และศูนย์ฯ สาขาทุกแห่ง รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น ระบบ Telemedicine เข้ามาเชื่อมโยงระหว่างแพทย์กับผู้รับบริการที่อยู่ทางไกล ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการประมาณ 40,000 กว่าครั้ง ซึ่งการขยายเทคโนโลยีทำให้ใช้ทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักอนามัย และผู้เกี่ยวข้อง ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักอนามัย (สนอ.) ณ บริเวณชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง วันนี้ (27 ธ.ค. 65)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักอนามัยเป็นสำนักที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการแพทย์ระบบปฐมภูมิที่ลงไปสู่ทุกคน ที่ผ่านมาเป็นด่านปะทะทั้งเรื่องโควิด-19 และเรื่องต่าง ๆ ในชุมชน โดยสำนักอนามัยมีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ทั้งหมด 69 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข สาขา 71 แห่ง มีปัญหาในเรื่องอัตรากำลัง ทั้งข้าราชการและลูกจ้างที่ยังมีตำแหน่งว่างอยู่ และมีผลเกี่ยวเนื่องกับกรอบอัตราค่าจ้างทั้งระบบต้องไม่เกิน 40% จึงได้ให้นโยบายในเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งนโยบายสำคัญคือการเพิ่มศักยภาพของศูนย์บริการสาธารณสุขให้ดีขึ้น หลายศูนย์ฯ อยู่ในสภาพทรุดโทรมจึงมีโครงการปรับปรุงและสร้างใหม่ในหลายแห่ง
อีกประเด็นคือ การดูแลผู้สูงอายุ จะมีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่แล้ว เป็นการนำผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ให้ติดบ้านติดเตียง ปัจจุบันมีชมรมผู้สูงอายุอยู่ 222 แห่ง มีสมาชิกประมาณ 20,000 คน จะมีการเพิ่มศักยภาพให้สามารถดูแลผู้สูงอายุเชิง Active เพิ่มมากขึ้น รวมถึงขยายเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น ด้วยการใช้เตียงในบ้านเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข ซึ่งมีนโยบายขยายเตียงในชุมชนให้ได้ 10,000 เตียง โดยดำเนินการควบคู่กับการผลิต Caregiver (ผู้ดูแลผู้ป่วย) มองว่าเป็นอาชีพที่มีความต้องการมากขึ้นในอนาคต จึงมอบหมายให้สำนักอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฝึกอาชีพ Caregiver ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้ จากการร้องเรียนหรือแจ้งปัญหาผ่าน Traffy Fondue เรื่องที่เกี่ยวกับสำนักอนามัยมากที่สุด คือเรื่องสุนัขและแมวจรจัด และเรื่องการให้อาหารนกพิราบ จะเร่งดำเนินการทำหมันสุนัขและแมวจรจัดเพิ่มมากขึ้น ตั้งเป้าปีนี้ประมาณ 20,000 ตัว โดยจะประสานความร่วมมือกับเครือข่ายภาคเอกชนร่วมดำเนินการ และจะมีการปรับปรุงศูนย์พักพิงสุนัขที่ประเวศ ซึ่งปัจจุบันกทม.ไม่พบผู้เสียชีวิตจากปัญหาพิษสุนัขบ้าติดต่อกันมานานกว่า 5 ปี โดยพบผู้เสียชีวิตรายสุดท้าย วันที่ 7 ก.ย. 59 ที่เขตบางนา และมีจำนวนสัตว์ที่ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าลดลงในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาด้วย จึงต้องพยายามรักษาตรงนี้ให้เข้มข้น
“สำนักอนามัยเป็นหน่วยงานสำคัญที่ดูแลสุขภาพประชาชนระบบปฐมภูมิ จะมีการนำงบประมาณมาลงมากขึ้น โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์เป็นเหมือนยานแม่ ศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดสำนักอนามัยเป็นเหมือนยานลูกที่ช่วยดูแล กระจายถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น และ อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร) ในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้สามารถให้บริการได้ครบถ้วนมากขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
● สถานการณ์โควิด-19 ไม่รุนแรง กทม.พร้อมรับมือสำหรับปีใหม่ที่จะถึงนี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับการเตรียมพร้อมช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้มีการเพิ่มสถานที่ฉีดวัคซีน และขยายเวลาในการให้บริการ ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 หรือยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นในระยะ 6 เดือน ควรจะอยู่บ้าน ไม่ควรจะออกไปสถานที่จัดงานที่มีผู้คนเยอะ ๆ หรือถ้าเราเป็นคนที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่ม 608 เช่น เรามีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุเยอะ มีผู้ป่วยเรื้อรังอยู่ที่บ้าน หรือมีลูกเล็ก เราควรจะหลีกเลี่ยงการไปที่ชุมชน หรือถ้าจะไป ต้องเข้มข้นมาตรการเหมือนช่วงโควิดระบาดเยอะ ๆ คือ ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ที่มีคนแน่น ๆ หรือเมื่อขึ้นรถสาธารณะ และล้างมือด้วยสบู่หรือเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์บ่อย ๆ เพราะเราอาจพาโรคมาติดคนกลุ่มนี้ได้ ในส่วนของตัวเลขผู้ติดเชื้อช่วงนี้ ตัวเลขลดลง อาจจะเพราะคนเริ่มเดินทางออกต่างจังหวัด หรือเพราะคนเริ่มไม่ไปตรวจกัน แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้รุนแรงมาก เราพร้อมรับมือทั้งในแง่ของวัคซีน ยา และเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า จากการประชุมของกระทรวงสาธารณะสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ สำรองไว้ประมาณ 20,000 เตียง ถือว่าพอเพียง ซึ่งในส่วนของสำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ก็สำรองไว้อย่างพอเพียง ประชาชนสามารถมั่นใจได้
“ต้องเรียนว่า กลุ่มเสี่ยง 608 เป็นกลุ่มที่ต้องระวัง เพราะถ้าป่วยอาจจะมีความรุนแรง ดังนั้น ควรฉีดวัคซีนกระตุ้น และเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนแออัดมาก” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเน้นย้ำ
● กทม.จับมือเอกชน เปิดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในห้าง
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องวัคซีนว่า กรุงเทพมหานครเปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายแห่ง ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ให้บริการฉีดวัคซีน Pfizer ฟรี ระหว่างวันที่ 27 – 29 ธันวาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 12.00 – 20.00 น. และศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ซึ่งให้บริการโดยโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น. รวมถึงศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ซึ่งได้ขยายการให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้มีอายุ 5 ขวบขึ้นไป ทุกสัญชาติ ไปจนถึงเดือนมกราคม 2566 เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. สามารถจองผ่านแอปฯ QueQ หรือ Walk in ก็ได้
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์ 1 จะงดให้บริการชั่วคราวช่วงเทศกาลปีใหม่ คือ ในวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2565 และวันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม 2566 และจะกลับมาให้บริการตามปกติในวันเสาร์ที่ 7 มกราคม 2566 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็จัดตามห้างสรรพสินค้าด้วยเช่นกัน สำหรับต่างชาติที่ท่องเที่ยวอยู่กับเราในช่วงเคาท์ดาวน์ก็สามารถเข้ารับบริการได้ เป็นการช่วยเหลือกัน
● กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองน่าเคาท์ดาวน์ กำชับมาตรการความปลอดภัย พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว
จากกรณีที่ CNN จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 10 เมืองที่น่ามาเคาท์ดาวน์ร่วมกับอีกหลายเมืองทั่วโลก กรุงเทพมหานครจะให้ความมั่นใจอย่างไรแก่นักท่องเที่ยว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผมว่าเราพร้อม และเรามีมาตรการความปลอดภัย ทั้งยังมีการลงพื้นที่ตรวจตลอด ซึ่งเมื่อวานได้ลงพื้นที่เซ็นทรัลเวิลด์เพื่อทำความเข้าใจกับภาคเอกชน โดยภาคเอกชนเองก็พร้อมร่วมมือ เพราะทุกคนมองระยะยาวว่าถ้าสร้างความมั่นใจได้นักท่องเที่ยวก็จะกลับมา ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันทำงานนี้ให้ปลอดภัยและส่งความสุขให้กับประชาชน
“สำหรับมาตรการช่วงเคาท์ดาวน์ เราก็ดูทั้งในแง่ของพื้นที่ปิด เช่น ผับ บาร์ ก็ได้มีการลงพื้นที่มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 โดยดูในเรื่องของทางหนีไฟ วัตถุติดไฟ ห้ามใช้พลุ หรือจำพวกไพโรเอฟเฟกต์ เพราะเป็นตัวที่ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ ส่วนพื้นที่ด้านนอกก็มี 3 – 4 แห่งหลัก ๆ เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ พารากอน ไอคอนสยาม ซึ่งก็ต้องมีการตรวจจำนวนคนที่เข้าไป การดูระยะห่าง การเดินทางเข้าสู่พื้นที่ โดยได้มีการซักซ้อมรวมถึงการลงไปตรวจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในการจำกัดคน ต้องมีตัวกั้นทางเข้า หากสถานการณ์คนแน่นต้องมีการสื่อสารเชิญให้ออก ซึ่งจำนวนคนคงมีการนับคนเข้า-ออกอยู่แล้ว” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
พร้อมกล่าวต่อไปว่า ที่กำชับอีกอย่างหนึ่งคือ การเข้าสู่สถานที่โดยใช้บันไดเลื่อน ซึ่งจะอันตรายกว่าการเดินขึ้นบันได เนื่องจากการใช้บันไดเลื่อน แม้ข้างบนจะเต็มแต่บันไดยังเดินต่อ ก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะบันไดไม่หยุดแต่คนหยุดแล้ว อาจจะไหลลงมาได้ ตรงที่มีบันไดเลื่อนจึงควรต้องมีคนที่กั้นอยู่ด้านบนหรือด้านล่าง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุดังเช่นที่เคยเกิดที่กรุงเทพคริสเตียน ฉะนั้น การระมัดระวังจึงไม่ใช่ระวังแค่สถานที่ที่มีการเคาท์ดาวน์ แต่ต้องดูไปถึงเส้นทางการเดินทางด้วย เช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้า
“นอกจากนี้ ห้ามมีการจุดพลุ ถ้าไม่ได้มีการขออนุญาต ในส่วนของการเล่นเองก็อย่าไปเล่น ยังมีกิจกรรมอื่นที่เราบันเทิงได้อีกเยอะแยะ รวมถึงการใช้เสียง ต้องอย่าให้เสียงดังเกินไปจนเกิดการรบกวน เดือดร้อนรำคาญผู้อื่น ต้องหาสมดุล อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ซึ่งมีมาตรการชัดเจนว่าจะใช้เสียงได้ไม่เกินกี่เดซิเบล” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กำชับ
● เตือน! อากาศแห้ง ต้องระมัดระวังเรื่องอัคคีภัยในชุมชน
“อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องอัคคีภัย อย่างเมื่อเช้าก็มีไฟไหม้ที่ซอยสามเสน 13 มีผู้เสียชีวิต 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้ชายอายุ 38 ปี อยู่กับคุณแม่ที่อายุ 60 กว่า ลักษณะบ้านต้นเพลิงเป็นบ้านสองชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ เข้าใจว่าเพลิงไหม้อย่างรวดเร็ว เพราะอากาศแห้ง รถดับเพลิงไปถึงที่เกิดเหตุภายในประมาณ 9-12 นาที แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยชีวิตทั้ง 2 ท่านนี้ได้ ช่วงนี้อากาศแห้งก็ต้องระมัดระวังเรื่องอัคคีภัย การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเรื่องเชื้อเพลิง เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล กรณีที่เกิดขึ้นนี้มีถังดับเพลิงแดงในพื้นที่ ซึ่งเพื่อนบ้านข้างเคียงนำมาใช้ แต่ก็ดับไม่ทัน ส่วนประปาหัวแดงมีต้นไม้ปกคลุมอยู่ ทำให้มองไม่เห็น ในชุมชนเองจึงต้องช่วยกันดูแล และซักซ้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีกลุ่มเปราะบางหรือผู้สูงอายุอยู่” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
● ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ร่วมโต๊ะมื้อเที่ยง กับ 5 ตัวแทนสำนักอนามัย
จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย โดยได้พูดคุยถึงชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหาต่าง ๆ และสอบถามความคืบหน้าเรื่องโบนัส พร้อมรับปากเร่งรัดหน่วยงานดำเนินการจ่ายโบนัสก่อนขึ้นปีใหม่ นอกจากนี้ได้ให้กำลังใจในการทำงานแก่ตัวแทน สนอ. ทั้ง 5 ราย ได้แก่ นายสุเทพ ภู่สุด พนักงานทั่วไป บ 2 สังกัดกลุ่มงานควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค (หน่วยทวีวัฒนา) กองควบคุมโรคติดต่อ นายบัวจันทร์ ปัดสา พนักงานขับรถยนต์ ส 2 สังกัดกลุ่มงานการพยาบาลและการบริหารทั่วไป ศบส. 24 บางเขน นายวิเชียร ฟองชล พนักงานทั่วไป บ 2 สังกัดสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข นางสาววิไล สายบุญ พนักงานทั่วไป บ 2 ปฏิบัติงานประจำที่ห้องปฏิบัติการพยาบาล ศบส. 21 วัดธาตุทอง และนายอำนวยชัย รัชนีกร พนักงานรักษาความปลอดภัย บ 2 สังกัด ศบส. 41 คลองเตย โดยเมนูอาหารวันนี้ ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวเรือ หมู/เนื้อ ข้าวหมกไก่ และถั่วเขียวต้มน้ำลำไย
ทั้งนี้ การรับประทานอาหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเป็นหนึ่งในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เพื่อพบปะพูดคุย รับฟังปัญหา และสอบถามถึงอุปสรรคในการทำงานเพื่อนำไปสู่การแก้ไข โดยเริ่มกิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกันครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. 65 จากกิจกรรมผู้ว่าฯ กทม.
สัญจร ที่สำนักงานเขตจตุจักร
——————————