‘เศรษฐา’ เช็กอินแฟลตดินแดง ตรวจราชการ ‘เส้นเลือดฝอย’ เมืองกรุง

เอพริลเดย์ 1 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา โปรแกรมวาระที่แน่นเอี้ยดเป็นปลา กระป๋องของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แต่ก็ปรากฏ คิวงานที่ให้เวลาถึง 2 ชั่วโมงเต็ม ลงพื้นที่เขต ดินแดง พบปะประชาชน ณ ลานกีฬาแฟลตดินแดง 51-53

โดยมี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ และมี”วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมผู้บริหารภาครัฐคนสำคัญร่วมในคณะนายกฯเศรษฐา

วาระชาติสงครามยาเสพติด

ทั้งนี้ เส้นทางเช็กอินของนายกฯเศรษฐา ได้พบปะพูดคุยกับประชาชน ณ บริเวณลานกีฬาแฟลต 51-53 ซอยประชาสงเคราะห์ 11 ตลาดกลางดินแดง ซอยประชาสงเคราะห์ 9 ผ่านสำนักงานเคหะนครหลวง สาขาดินแดง 2 ซอยประชาสงเคราะห์ 17 และบริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 5 ถึงซอยประชาสงเคราะห์ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

หลักใหญ่ใจความหัวข้อพูดคุยกับประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเป็นเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหายาเสพติด เพื่อมอบแนวทางผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งสงครามยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติและเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

แนวทางสำคัญอยู่ที่การใช้กลไกชุมชน เป็นฐานสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีภายในจังหวัด บริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ ควบคู่กับรัฐบาลได้กำหนดแผนปฏิบัติการแห่งชาติ ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2567

สาระสำคัญ กำหนดเป้าหมาย 4 ลด คือ 1.ลดความรุนแรงจากภาวะทางจิตเวชในสังคม 2.ลดผู้เสพ/ผู้ติด 3.ลดการค้ายาเสพติดที่แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน และ 4.ลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดยาเสพติด

เล็งขยายผล “ดินแดงโมเดล”

ผู้ว่าฯชัชชาติระบุว่า กทม.รับผิดชอบการจะบริหารจัดการขยะ การแก้ปัญหาน้ำท่วม การบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ การศึกษา การแก้ปัญหายาเสพติด โดยลงลึกรายละเอียดซึ่งเรื่องของขยะแต่เดิมจะมีปัญหาเรื่องหนู เนื่องจากเดิมประชาชนแฟลตดินแดงจะทิ้งขยะลงมาที่ปล่องจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง และทำให้เกิดปัญหาไปค้างกล่อง จนทำให้มีหนูจำนวนมาก และการเก็บขยะนั้นทำได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่ต้องไปคุ้ยขยะในกล่อง

กทม.จึงได้มีการประสานงานกับชุมชนแฟลตดินแดงเปลี่ยนวิธีการทิ้งขยะ มีการนำถังขยะขนาดใหญ่ไปตั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ซึ่งได้รับ ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะประชาชนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าจะสามารถทำให้ปัญหาหนูและขยะลดลง โมเดลนี้ กทม.เตรียมขยายในพื้นที่แฟลต ต่าง ๆ

ส่วนปัญหาเรื่องน้ำท่วม กทม.มีการดูแลรับผิดชอบในเรื่องการลอกท่อ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการแก้ปัญหาในส่วนของเส้นเลือดฝอยเป็นหลัก การลงพื้นที่แฟลตดินแดงทำให้เห็นปัญหาหลายส่วนเพราะว่าเขตดินแดงเป็นภาพย่อของกรุงเทพฯ มีปัญหามากมาย เช่น น้ำท่วม ขยะ การศึกษา ผู้ป่วยติดเตียง ยาเสพติด เพียงแค่เดินไม่ถึง 500 เมตร ก็ได้รับรู้ปัญหาในภาพย่อและภาพรวมของกรุงเทพฯได้ เนื่องจากมีผู้อยู่อาศัยกว่า 1 ล้านคน โดยส่วนตัวจึงเชื่อว่าการแก้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้ประชาชนอีกหลายแห่งต่อไป”

แก้หนี้นอกระบบ-บุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ หนึ่งในปัญหาที่มีการจุดพลุขึ้นมาเป็นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีการร้องเรียนว่ามีการจำหน่ายในรอบพื้นที่สถานศึกษา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่หากจะเข้าไปตรวจค้นภายในโรงเรียนไม่สามารถทำได้ ทาง กทม.จะหามาตรการสร้างการตื่นตัวภายในโรงเรียน ให้ตระหนักถึงโทษและภัยของบุหรี่ไฟฟ้า โดยจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงมาดูแล

ส่วนการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษาที่พบนับ 1,000 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เบื้องต้น กทม.ประสานงานกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโดยตรง โดย กทม.จะไม่มีการประกาศห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะซ้ำซ้อนในหน้าที่ของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเป็นหลัก

อีกเรื่องใหญ่คือ หนี้นอกระบบ ทางกระทรวงมหาดไทยรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนทั้งสิ้น 153,400 ราย มีการไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 มีนาคม 2567 จำนวน 42,575 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 25,816 ราย มูลหนี้ลดลง รวม 1,018.862 ล้านบาท

โดย “จังหวัดสงขลา” สามารถเชิญเจ้าหนี้-ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากที่สุด ขณะที่ “นครสวรรค์ นราธิวาส ระนอง” ดำเนินการกระบวนการ ไกล่เกลี่ยกับผู้ที่มาลงทะเบียนครบ 100% แล้ว

ในส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในกรุงเทพฯ ปัญหาหลักที่พบเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการระบุชื่อ ทำให้สืบค้นไป ไม่ถึง ที่ผ่านมา กทม.ได้ให้ความช่วยเหลือ อาทิ เปิดตลาดนัดแก้หนี้ เจรจาไกล่เกลี่ย ลดดอกเบี้ยสถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำ กทม. 21 แห่งให้ต่ำที่สุด เพื่อ ช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน

 



ที่มา:  นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 – 10 เม.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200