Flag
Search
Close this search box.
พระนครยกเลิกผู้ค้าถนนราชดำเนินกลาง ตรึงแนวแผงค้าถนนมหาราชห้ามล้ำทางเท้า ชมคัดแยกขยะเมธาวลัยศรแดง คุมเข้มฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างริมถนนจักรพงษ์ สำรวจที่ว่างสามเสน 6 จัดทำสวน 15 นาที

 

(4 เม.ย.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพระนคร ประกอบด้วย

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณข้างศูนย์เบนซ์ ซอยดำเนินกลางเหนือ ข้างกองสลากเก่า ถนนราชดำเนินกลาง และท่าพระจันทร์ ถนนมหาราช เขตฯ พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 30 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,141 ราย ดังนี้ 1.บริเวณซอยท่ากลาง ผู้ค้า 35 ราย 2.ถนนบ้านหม้อ ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนจักรเพชร ผู้ค้า 6 ราย 4.ถนนอัษฎางค์ ผู้ค้า 9 ราย 5.ซอยทิพย์วารี ผู้ค้า 61 ราย 6.ซอยจินดามณี ผู้ค้า 36 ราย 7.ถนนจักรพงษ์ ผู้ค้า 55 ราย 8.ซอยดำเนินกลางเหนือ ผู้ค้า 8 ราย 9.ถนนราชดำเนินกลาง (ข้างกองสลากเก่า) ผู้ค้า 7 ราย 10.ถนนพระสุเมรุ (ซอยกสิกรไทย) ผู้ค้า 9 ราย 11.ถนนดินสอ (หน้ารร.สตรีวิทยา) ผู้ค้า 9 ราย 12.ซอยรามบุตรี ผู้ค้า 46 ราย 13.ถนนรามบุตรี ผู้ค้า 11 ราย 14.ถนนพระสุเมรุ (แยกสิบสามห้าง-แยกบางลำพู) ผู้ค้า 7 ราย 15.ถนนสามเสน ผู้ค้า 96 ราย 16.ถนนสิบสามห้าง (กลางคืน) ผู้ค้า 50 ราย 17.ถนนรามบุตรี ฝั่งโรงแรมไอบิท (กลางคืน) ผู้ค้า 26 ราย 18.ถนนรามบุตรี ผู้ค้า 51 ราย 19.บริเวณท่าพระจันทร์ ผู้ค้า 22 ราย 20.ถนนมหาราช ผู้ค้า 50 ราย 21.บริเวณท่าเตียน ผู้ค้า 25 ราย 22.บริเวณริมคลองหลอด ถนนราชินี ผู้ค้า 11 ราย 23.ถนนเฟื่องนคร ผู้ค้า 44 ราย 24.ถนนมหาไชย ผู้ค้า 18 ราย 25.บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผู้ค้า 88 ราย 26.บริเวณข้างศูนย์เบนซ์ ผู้ค้า 11 ราย 27.บริเวณตลาดตรอกหม้อ ผู้ค้า 219 ราย 28.บริเวณปากคลองตลาด (กลางคืน) ผู้ค้า 50 ราย 29.บริเวณท่าพระจันทร์ ถนนมหาราช (กลางคืน) ผู้ค้า 44 ราย 30.ถนนราชินี (กลางคืน) ผู้ค้า 27 ราย

โดยในปี 2567 เขตฯ กำหนดเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้า 150 ราย ได้แก่ 1.ถนนอัษฎางค์ ผู้ค้า 9 ราย ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 2.ซอยดำเนินกลางเหนือ ผู้ค้า 8 ราย ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 3.ถนนราชดำเนินกลาง (ข้างกองสลากเก่า) ผู้ค้า 7 ราย ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 4.ถนนพระสุเมรุ (ซอยกสิกรไทย) ผู้ค้า 9 ราย ดำเนินการในเดือนเม.ย.67 5.ถนนดินสอ (หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา) ผู้ค้า 9 ราย ดำเนินการในเดือนเม.ย.67 6.ท่าพระจันทร์ (บนลานท่าพระจันทร์) ผู้ค้า 22 ราย ดำเนินการในเดือนเม.ย.67 โดยยุบรวมกับถนนมหาราชบางส่วน 7.ถนนมหาราช ผู้ค้า 50 ราย ดำเนินการในเดือนเม.ย.67 8.ท่าเตียน ผู้ค้า 25 ราย ดำเนินการเมื่อวันที่ 21 เม.ย.67 และ 9.ข้างศูนย์เบนซ์ ผู้ค้า 11 ราย ดำเนินการในเดือนก.พ.67 โดยยุบรวมกับผู้ค้าบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2567 เขตฯ จะมีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 21 จุด รวมผู้ค้า 991 ราย

ที่ผ่านมา เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณริมคลองบางลำพู ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ริมคลองหลอดวัดราชนัดดา ผู้ค้า 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงเวลา 05.00-14.00 น. และช่วงเวลา 12.00-21.00 น. ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงกายภาพพื้นที่ คาดว่าจะสามารถเปิดศูนย์อาหาร Hawker Center ได้ภายในเดือนเมษายน 2567

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณถนนราชดำเนินกลาง เพื่อกวดขันไม่ให้ผู้ค้ารถเข็นเร่ขายของเข้ามาจอดทำการค้าในจุดที่เขตฯ ดำเนินการยกเลิกไปแล้ว ส่วนบริเวณท่าพระจันทร์ต่อเนื่องถนนมหาราช พบว่ามีการตั้งวางแผงพระ ร้านกาแฟ ร้านรองเท้า ยื่นล้ำเข้ามาบนทางเท้า โดยได้กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางแผงค้ายื่นล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า นอกจากนี้ให้พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดหาสถานที่รองรับ หรือจัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ร้านเมธาวลัย ศรแดง ถนนราชดำเนินกลาง เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษอาหาร เปลือกผลไม้ เศษผัก เนื้อสัตว์ ใบไม้แห้ง 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล ซึ่งเป็นขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก เช่น ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กล่องกระดาษ กระดาษ  3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป ซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษและไม่คุ้มค่าต่อการนำไปรีไซเคิล ต้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น ซองขนม กล่องโฟม ถุงพลาสติก ภาชนะปนเปื้อนอาหาร กระดาษชานอ้อย 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย ซึ่งเป็นขยะที่มีสารปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ เช่น ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาหมดอายุ วัตถุไวไฟ กระป๋องสเปรย์ โดยจัดเก็บทุก 15 วัน หรือจัดเก็บพร้อมขยะชิ้นใหญ่ทุกวันเสาร์ สำหรับปริมาณขยะหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 450 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 70 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 4,650 กิโลกรัม/เดือน

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างโรงแรม 5 ชั้น ถนนจักรพงษ์ โดยมีบริษัท วัน ทรู ทรี จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างอาคาร ความสูง 5 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ผู้ประกอบการเปิดเครื่องพ่นละอองน้ำในช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างตลอดเวลา ฉีดล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษดินเศษทรายตกค้าง นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) 6 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 10 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำรวจสวน 15 นาที ซอยสามเสน 6 เขตฯ มี สวน 15 นาที จำนวน 4 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ ได้แก่ 1.สวน 15 นาที ใต้สะพานพระราม 8 พื้นที่ 350 ตารางเมตร 2.สวน 15 นาที ซอยสามเสน 4 พื้นที่ 600 ตารางเมตร 3.สวน 15 นาที ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า พื้นที่ 1,400 ตารางเมตร 4.สวน 15 นาที ใต้สะพานพระราม 8 หน้าธนาคารแห่งประเทศไทย พื้นที่ 1,400 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำสวน 15 นาที เพื่อให้เกิดประโยชน์และวัตถุประสงค์ในการใช้งาน

ในการนี้มี นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพระนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200