สสส. – กทม. ผนึกภาคีเครือข่าย ขยายผล ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’

ปั้น 437 รร.ต้นแบบ รับมือวิกฤตฝุ่นพิษ

เมื่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กลับมาอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอีกครั้ง ซึ่งพบหลายจังหวัด รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ ร้ายแรงต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งถือเป็น กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังและน่าเป็นห่วงที่สุด

จากปัญหาที่กล่าวมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงได้สานพลัง กรุงเทพมหานคร และ ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2’ เพื่อส่งต่อแนวทาง การจัดกิจกรรมเรียนรู้และเสริมทักษะให้นักเรียนของโรงเรียน ในสังกัด กทม. กว่า 437 แห่ง เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 กระทบสุขภาพ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกถึงความสำคัญของปัญหา ฝุ่นจิ๋วที่ส่งผลต่อสุขภาพว่า ฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัย ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและเพิ่มโอกาส เป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็ก

จากข้อมูลการเฝ้าระวังปริมาณฝุ่น PM 2.5 โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ กทม. พบ 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงตุลาคม – มีนาคม มีปริมาณฝุ่นละออง ขนาดเล็ก 10 – 126 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมีแหล่ง กำเนิดส่วนใหญ่มาจากเหตุที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม

ดังนั้น สสส. จึงได้สานพลัง กทม. และ ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะที่ 2 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยมีโรงเรียนในสังกัด กทม. เข้าร่วมกว่า 437 โรงเรียน

“ที่ผ่านมาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะที่ 1 ได้สร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงผ่านการเรียนการสอนจากครูสู่เด็กและเยาวชน ใน 32 โรงเรียน ส่งต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคม ทำให้เกิดสถานศึกษาต้นแบบรับมือฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับผลการประเมินระดับดีเลิศ 7 โรงเรียน ได้แก่ 1. โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ 2. โรงเรียนประชานิเวศน์ 3. โรงเรียนสุเหร่าใหม่ สำนักงานเขตสวนหลวง 4. โรงเรียน วัดวิมุตยาราม 5. โรงเรียนวัดราชบูรณะ 6. โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ และ 7. โรงเรียนวัดกันตทาราราม

“ซึ่ง 7 โรงเรียนดังกล่าว ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมระบบข้อมูล องค์ความรู้ และสื่อ เช่น กล่องดักฝุ่น หุ่นยนต์สู้ฝุ่น บอร์ดเกม งานศิลปะ ถือเป็นเครื่องมือในการขยายผลและสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องระดับชุมชนและสังคม โดยมีเป้าหมายที่จะสานพลังหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อรับมือภัยจากฝุ่น PM 2.5 ร่วมกัน” ดร.นพ.ไพโรจน์ ฉายภาพรวมโครงการฯ

ด้านพ่อเมืองของคนกรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พูดถึงความจำเป็นของห้องเรียนสู้ฝุ่นว่า ปีนี้เป็นปีที่ 2 ของห้องเรียนสู้ฝุ่น ที่ กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งห้องเรียน ปลอดฝุ่นเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากเรายังแก้ปัญหาต้นตอสาเหตุฝุ่นไม่ได้ 100% และเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด ถ้าฝุ่นเข้าไปในร่างกายแล้วจะสร้างผลกระทบในระยะยาว รวมถึงการปลูกฝังการแก้ปัญหาฝุ่นก็จะทำให้แก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้

“ในปีแรก กทม. มีห้องเรียนปลอดฝุ่น ประมาณ 32 ห้องเรียน ปัจจุบันขยายเป็น 437 ห้องเรียน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทำให้เด็กมีสถานที่ปลอดภัยในสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง รวมถึง กทม.จะขยายห้องเรียนปลอดฝุ่นไปยังศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนอีกด้วย

การจัดอบรมครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน อย่างเป็นระบบและเร่งด่วน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกระดับองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งยังเป็น การสร้างจิตสำนึกและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม สู่การผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดังนั้น ห้องเรียนปลอดฝุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพที่ทำให้ห้องป้องกันฝุ่นเข้ามาได้ แต่ยังเป็นเรื่องการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก ให้นักเรียนตระหนักรู้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างละเอียด เพื่อแก้ปัญหาจากต้นต่อสาเหตุฝุ่นได้อย่างยั่งยืน” ผู้ว่าฯ กทม. เน้นย้ำ

โครงการ ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง สสส. – กทม. และภาคีเครือข่าย จึงนับเป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบในการรับมือฝุ่นในพื้นที่วิกฤต ทั้งยังช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องฝุ่นและภัยของฝุ่น ผ่านกระบวนการออกแบบ ชุดความรู้ที่สามารถใช้ได้จริงในโรงเรียน จนต่อยอดเสนอเป็นนโยบายฝุ่นกับภาคการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 



ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 4 เม.ย. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200