Search
Close this search box.
กทม. หารือ JETRO นําเสนอผลสํารวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2566 สู่การพัฒนากรุงเทพฯ เมืองแห่งเศรษฐกิจและความหวัง

 

(3 เม.ย. 67) เวลา 09.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นายจุน คุโรดะ (Mr. Jun KURODA) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (Japan External Trade Organization, Bangkok: JETRO Bangkok หรือ เจโทร กรุงเทพฯ) เข้าพบเพื่อนําเสนอผลการสํารวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2566 (Survey on Business Sentiment of Japanese Corporations in Thailand for the Second Half of 2023) ที่สำรวจโดยหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)

 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครให้ดีขึ้นเหมาะสำหรับทุกคนและเหมาะสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ หรือพนักงานต่างชาติ ที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานครเพื่อทำงานและดำเนินธุรกิจ พร้อมรับฟังข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับคุณภาพของอากาศ และเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาการเข้าไปลงทุนในเมืองต่างๆ อีกทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังมีนโยบายที่จะปรับปรุงจุดเล็กๆ ในพื้นที่เมืองให้มีความน่าอยู่มากขึ้น เช่น การมี Dog Park หรือสวนสำหรับสุนัขในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พนักงานต่างชาติตัดสินใจเลือกที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ นายชินยะ ทซึคาดะ (Mr. Shinya TSUKADA) ผู้อํานวยการสำนักงานจังหวัดไอจิ ประจําเจโทร กรุงเทพฯ ได้กล่าวชื่นชมว่าในพื้นที่ย่านสุขุมวิทว่ามี playroom เป็นจำนวนมาก ซึ่งการมีสิ่งอำนวยความสะดวกกับเด็กเล็กและครอบครัวก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติเช่นกัน โดยในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครกำลังจัดทำเว็บไซต์สำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการมาลงทุนในกรุงเทพมหานครและสำหรับพนักงานชาวต่างประเทศ (expat) ที่ต้องการมาทำงานในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร และประเทศญี่ปุ่นมีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญใน solution เทคโนโลยี ด้านต่างๆ ซึ่งบริษัทเหล่านั้นพร้อมร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการนำ solution เทคโนโลยี มาทดลองใช้แก้ปัญหาต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร

 

ทั้งนี้ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) ได้ทำการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง มาเป็นเวลา 53 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) โดยการสำรวจนี้ ถือเป็นการสำรวจเดียวที่สะท้อนสภาพธุรกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างครอบคลุม ซึ่งการสำรวจจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2566 มีการจัดส่งแบบสํารวจไปยังบริษัทที่เป็นสมาชิก JCCB จำนวน 1,646 ราย โดยมีบริษัทที่ตอบกลับ 539 ราย (คิดเป็น 32.7%)

 

 


สภาพธุรกิจโดยสะท้อนจากค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index: DI) พบว่า อยู่ที่ -10 ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566 และปรับตัวลงมาอยู่ที่ -16 ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2566 (ตัวเลขคาดการณ์) ก่อนจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 10 ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2567 (ตัวเลขคาดการณ์) ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนี DI ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2566 ซึ่งอยู่ที่ -16 อันเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การบริโภคสินค้าคงทนที่ยังซบเซา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกลดลง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเดินแบบตึงตัวแม้ว่าจะได้รับผลดี จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวขาเข้าและค่าให้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลงก็ตาม อย่างไรก็ดีตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนี DI ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2567 นั้น ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2566 (จาก -16 เป็น 10) จากการที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นผู้ตอบแบบสํารวจคาดหวังต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวขาเข้า ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออก

การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักร สัดส่วนของบริษัทที่คาดว่าจะ “ลงทุนเพิ่ม” ด้านโรงงานและเครื่องจักร ในปีพ.ศ. 2567 คิดเป็น 24% ขณะที่ 45% ของบริษัทผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าจะ “ลงทุนคงที่” และ 15% คาดว่าจะ “ลงทุนลดลง” ส่วนการส่งออกและตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในอนาคต แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก พ.ศ. 2567 (มกราคม – มิถุนายน) ร้อยละของบริษัทที่คาดว่าการส่งออกจะ “เพิ่มขึ้น” ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ.2567 คิดเป็น 25% และ 57% ของบริษัทคาดว่าการส่งออกจะ “คงที่” ส่วน 17% คาดว่าการส่งออกจะ “ลดลง”

ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในอนาคต ได้แก่ “เวียดนาม” (45%) เป็นอันดับ 1 ของตลาดส่งออกจากประเทศไทยที่บริษัทต่าง ๆ มองว่ามีศักยภาพในอนาคต ตามด้วย “อินเดีย” (44%) “อินโดนีเซีย” (31%) และ “ญี่ปุ่น” (17%) ตามลำดับ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจ จากการสํารวจประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจ (บาทไทยต่อดอลลาร์สหรัฐ) พบว่า บริษัทส่วนใหญ่จะบุว่าใช้อัตรา “ตั้งแต่ 35.0 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 35.5 บาท/ดอลลาร์” (34.2%) รองลงมาคืออัตรา “ตั้งแต่ 35.5 ขึ้นไป แต่ไม่ ถึง 36.0 บาท/ดอลลาร์” (15.7%) โดยมีค่ามัธยฐานอยู่ที่ 35.0 บาท/ดอลลาร์ ทว่า ในการสำรวจครั้งที่แล้วบริษัทส่วนใหญ่ระบุว่าใช้อัตรา “ตั้งแต่ 35.0 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 35.5 บาท/ดอลลาร์” (16.1%) และรองลงมาคืออัตรา “ตั้งแต่ 34.0 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 34.5 บาท/ดอลลาร์” (14.8%) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจบ้างแล้ว ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจ (เยนญี่ปุ่นต่อบาทไทย) นั้น บริษัทสวนใหญ่ระบุว่า ใช้อัตรา “ตั้งแต่ 4.0 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 4.1 เยน/บาท” (33.4%) รองลงมาคืออัตรา “ตั้งแต่ 4.1 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 4.2 เยน/บาท” (16.9%) โดยมีค่ามัธยฐานอยู่ที่ 4.0 เยน/บาท ทว่า ในการสำรวจครั้งที่แล้ว บริษัทสวนใหญ่ระบุว่าใช้อัตรา “ตั้งแต่ 3.8 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3.9 เยน/บาท” (28.2%) และรองลงมาคืออัตรา “ตั้งแต่ 3.0 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 4.0 เยน/บาท” (22.3%) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจบ้างแล้ว


ประเด็นปัญหาด้านการบริหารองค์กร บริษัทผู้ตอบแบบสำรวจเลือกตอบประเด็น “การแข่งขันกับบริษัทอื่นรุนแรงขึ้น” (66%) มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ “ค่าให้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น” (46%) “ราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพิ่มสูงขึ้น” (44%) และ “ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน” (30%) นอกจากนี้ บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมากยังเลือกตอบ “ต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น” (35%) ในขณะที่ “ความเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการสินค้าและความต้องการของผู้ใช้” (27%) เป็นประเด็นที่บริษัทในอุตสาหกรรมอื่น ๆ จำนวนมากเลือกตอบ


สถานการณ์ของบริษัทในการการพัฒนาธุรกิจในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทในการพัฒนาธุรกิจในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น บริษัทส่วนใหญ่ระบุว่า “ไม่มีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจ” (57%) และบางส่วนระบุว่า “มีการพัฒนาธุรกิจแล้ว (กรณีมีการพัฒนาหลังปี พ.ศ. 2564)” (32%) ในขณะเดียวกัน 9% ระบุว่า “อยู่ะหว่างการพิจารณาการพัฒนาธุรกิจ” ส่วนจุดหมายปลายทางในการพัฒนาธุรกิจ เมื่อสอบถามบริษัทเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางในการพัฒนาธุรกิจนั้น “เวียดนาม” (48%) เป็นจุดหมายที่มีบริษัทเลือกตอบมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ “อินโดนีเซีย” (39%) และ “กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” (36%) เหตุผลในการพัฒนาธุรกิจในประเทศไทยนั้น เพื่อ “ขยายกิจการ” (72%) รองลงมา ได้แก่ “ขนาดของตลาดและศักยภาพการเติบโต” (51%) และ “การกระจุกตัวของอุตสาหกรรม” (16%) ในทางกลับกัน เมื่อสอบถามเกี่ยวกับเหตุผลในการพัฒนาธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน “ขนาดของตลาดและศักยภาพการเติบโต” (73%) เหตุผลรองลงมา ได้แก่ “ขยายกิจการ” (69%) และ “ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร” ต่ำกว่า (19%) สำหรับสาเหตุที่ไม่มีแผนการพัฒนาธุรกิจ ตัวเลือกที่มีบริษัทผู้ตอบแบบสำรวจเลือกตอบมากที่สุด คือ “ณ ขณะนี้ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน” (91%) รองลงมา ได้แก่ “มีพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมอยู่แล้ว” (11%) และ “สภาพความเป็นอยู่ของพนักงานซึ่งมาประจำการ” (4%)


สำหรับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization: JETRO Bangkok) ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อว่า “เจโทร” กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 มีบทบาทที่โดดเด่นในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น เจโทร กรุงเทพฯ มีส่วนผลักดันเพิ่มการนําเข้าของสินค้าไทยสู่ตลาดญี่ปุ่น และมีหน้าที่ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้ การประมง และอาหารจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย โดยมุ่งส่งเสริมกิจกรรมร่วมกับผู้นําเข้าสินค้า ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าปลีกในประเทศไทย เพื่อขยายช่องทางการจําหน่ายสินค้าอาหารนําเข้าในตลาดกลุ่มใหม่ ๆ ในประเทศไทย อีกทั้ง เจโทร กรุงเทพฯ ยังทำหน้าที่เผยแพร่บรรยากาศที่ดีของการลงทุนในประเทศไทยให้กับภาคธุรกิจประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ เจโทร กรุงเทพฯ ยังเป็นสาขาหลักสาขาหนึ่งของสำนักงานต่างประเทศของเจโทรที่มีอยู่ทั้งหมด 80 แห่งทั่วโลก และเป็นศูนย์กลางประสานงานของสำนักงานเจโทรในภูมิภาคเอเชีย


การหารือในวันนี้มี นายชินยะ ทซึคาดะ (Mr. Shinya TSUKADA) ผู้อํานวยการสำนักงานจังหวัดไอจิ ประจำเจโทร กรุงเทพฯ นายพสิษฐ์ อังศุไพฑูรย์ ผู้ช่วยผู้อํานวยการสำนักงานจังหวัดไอจิ ประจำเจโทร กรุงเทพฯ นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ นางขวัญชนก ธัญญศรีสังข์ ผู้อํานวยการกองยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล นายภาณุพงศ์ จันทะประเทศ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง นายพงพันธุ์ ชื่นอารมณ์ หัวหน้าคณะทำงานประจำศูนย์เศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร (Bangkok Economic Center : BEC) เข้าร่วมการประชุม

#เศรษฐกิจดี

———————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200