กลายเป็นสิ่งเสพติดใหม่ สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดหนักในหมู่เยาวชน เป็นเรื่องที่ กทม. กำลังให้ความสำคัญเร่งด่วน มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เพื่อหาแนวทางป้องกันเรื่องนี้ ล่าสุด สำนักการศึกษา ได้เปิดเวทีเสวนา “รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา กทม.” เพื่อหารือสืบเนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นภัยคุกคามเด็กนักเรียนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง มีนักเรียนถึง 2.5 แสนคนที่ต้องดูแล ปัจจุบันนักเรียนมีแนวโน้มสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวน เพิ่มขึ้นสำนักการศึกษาจึงเร่งสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตราย และพัฒนาการของบุหรี่ไฟฟ้าให้บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนได้รับทราบ
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางป้องกันในโรงเรียนว่า จากมาตรการตรวจค้นกระเป๋านักเรียน พบเด็กอายุ 7 ขวบพกบุหรี่ไฟฟ้ารูปกล่องนมเข้าโรงเรียน ขณะที่ กทม.รณรงค์ให้เด็กดื่มนม ปัญหาสำคัญคือ บุคลากรยังรู้ไม่เท่าทันรูปแบบต่างๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีการพัฒนาให้ยากต่อการตรวจค้น เช่น เลียนแบบอุปกรณ์การเรียน กล่องนม ตุ๊กตา ของเล่นและขนมต่างๆ สามารถเข้าถึงเด็กได้ง่าย การจัดเสวนาให้ความรู้ครั้งนี้จึงจะช่วยให้บุคลากรที่ใกล้ชิดนักเรียนทั้ง 437 โรงเรียนได้รู้เท่าทันรวมถึงเข้าใจแนวทางป้องกันและการดำเนินการเกี่ยวกับเด็ก
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนในฐานะผู้กำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่า มีผู้ปกครองร้องเรียนเรื่องบุตรหลานใช้บุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก และมีการซื้อขายในโรงเรียน เบื้องต้น สคบ.ได้ตั้งตำรวจหน่วยเฉพาะกิจ 15 หน่วย ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจค้น ตรวจจับ ดูแลทั้งนอกและในสถานศึกษาพื้นที่ กทม. ในส่วนร้านขายออนไลน์ได้ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายโดยรัฐบาลยังไม่มีนโยบายทำให้ถูกกฎหมายในขณะนี้ สิ่งสำคัญคือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันปราบปราม บังคับใช้กฎหมายจริงจังผลักดันโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นโรงเรียนสีขาวปลอดบุหรี่ไฟฟ้าและสารเสพติด
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เผยสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าปัจจุบันว่า Toy Pod คือรูปแบบใหม่ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ถูกพัฒนาให้ใช้ง่าย มีทั้งแบบใช้แล้วทิ้ง และแบบซื้อหัวน้ำยารสชาติต่าง ๆ เปลี่ยนได้ทันทีในราคา 100-200 บาท สามารถสูบได้ 3,000-8,000 ครั้ง(คำ) แล้วแต่รุ่น จากรูปแบบเดิมที่ผู้ใช้ต้องคอยดูแลตกแต่งกลไกและเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ยุ่งยากปัจจุบันพัฒนาให้ใช้สะดวก ขนาดเล็ก ราคาถูกพกพาง่าย ดูไม่ออกว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า และพบว่าพฤติกรรมของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดียาเสพติดก่อนได้รับโทษ จำนวน 300 คน 95.4%เคยสูบบุหรี่มาก่อน 79.3% เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาก่อน 80.7% (242คน) เริ่มใช้บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก 76% (228คน) พัฒนาไปสู่สารเสพติดชนิดอื่น เช่น กัญชา ยาบ้า ฝิ่นมอร์ฟีน เฮโรอีน และประเภทหลอนประสาทเช่น แอลเอสดี ตามลำดับ จากการตรวจสอบพบร้านขายบุหรี่ไฟฟ้ากึ่งถาวรทั่วกรุงเทพฯ 72 ร้าน ไม่นับรวมแผงลอยหรือร้านชั่วคราว
ขณะที่ รศ.ดร.แพทย์หญิงเริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า องค์การอนามัยโลก ระบุ บุหรี่ไฟฟ้ามีถึง 20,000 รสชาติโดยบุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง (1 หัวรสชาติ) มีนิโคตินเท่ากับบุหรี่มวน 20 ซอง หรือ 400 มวน ทำให้เสพติดง่ายกว่า เลิกยากกว่า ไม่สามารถใช้เลิกบุหรี่มวนตามความเชื่อได้ โดยสารนิโคตินมุ่งเป้าทำลายสมองผู้ที่สูบก่อนอายุ 25 ปี เพราะเป็นช่วงสมองกำลังเจริญเติบโต ทำให้ความจำไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่อง ซึมเศร้า หงุดหงิด ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ควันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารละเหยไม่ใช่ไอน้ำตามความเข้าใจ มีสารต่างๆ เช่นส่วนผสมที่อยู่ในแบตเตอรี่รถยนตร์ ถ่านอัลคาไลน์ น้ำมันเบนซิน ยาฆ่าแมลง ยาดองศพ ทินเนอร์ สารระเหยดังกล่าวอุดมไปด้วย PM 2.5 ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ ทำลายระบบภูมิคุ้มกันหลอดลมอักเสบ เส้นเลือดหัวใจแข็ง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นต้น
“ปัจจุบัน เด็ก ม.ต้น (13-15 ปี) ของไทยเกือบ 1 ใน 5 สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิง จากเดิมคนไทยเริ่มสูบบุหรี่เฉลี่ยอายุ 18 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 10 ปี โดย 73%ได้บุหรี่ไฟฟ้ามาจากครอบครัว เพื่อน และคนในชุมชน และเด็กไทย 7 ใน 10 คน เมื่อเสพติดนิโคตินจากบุหรี่จะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต” รศ.ดร.แพทย์หญิงเริงฤดี ว่า
ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการแนะแนว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า มาตรการดำเนินการในสถานศึกษาใช้รูปแบบเดียวกับสิ่งเสพติด ที่เพิ่มเติมคือ การทำจุดรับ-รวมบุหรี่ไฟฟ้าที่ยึดได้ในโรงเรียน เนื่องจากครูกลัวว่าจะมีความผิดฐานครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าที่ยึดได้จึงอยู่ระหว่างประสานตำรวจในการรับส่งของที่ยึดได้เพื่อนำเข้ากระบวนการทำลายต่อไป เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะตำรวจเห็นว่า การนำส่งของกลางที่ยึดได้จำเป็นต้องมีผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดประกอบด้วย จะมีแต่ของกลางไม่ได้ จึงอยู่ระหว่างการหารือแนวทาง โดย สพฐ.มีจุดยืนคือไม่ดำเนินคดีเด็กนักเรียน จำเป็นต้องปกป้องสิทธิเด็กนักเรียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ เช่น ไม่เปิดเผยตัวตน การลงโทษต่างๆ ต้องอยู่ในกระบวนการของ สพฐ.เท่านั้นสิ่งที่ทำได้ภายนอกคือ การนำเด็กนักเรียนไปบำบัดรักษา คาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวทางทั้งหมดเดือน พ.ค.นี้
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 2 เม.ย. 2567