Search
Close this search box.
กทม. – มูลนิธิ อพ.สธ. ร่วมปลูกพรรณไม้ทรงคุณค่า เฉลิมพระเกียรติ 69 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

 

(1 เม.ย. 67) นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และนายพรชัย จุฑามาศ เลขานุการมูลนิธิ อพ.สธ. เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดกิจกรรมปลูกต้นไม้ “โครงการปลูกรักษาพรรณไม้ทรงคุณค่า เฉลิมพระเกียรติ 69 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” พร้อมรับมอบต้นกล้าขนุนไพศาลทักษิณ จำนวน 92 ต้น และต้นกล้าพิกุล จำนวน 82 ต้น จากมูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (มูลนิธิ อพ.สธ.) เพื่อปลูกในพื้นที่สวนสาธารณะสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยได้นำความกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาทแล้ว ในการนี้มีผู้บริหารมูลนิธิ อพ.สธ. ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ สวนหย่อมหน้าอาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

กรุงเทพมหานคร ร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2546 โดยดำเนินงานตามความพร้อม 3 กรอบการดำเนินงาน จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่ 1. กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร และกิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร 2. กรอบการใช้ประโยชน์ทรัพยากร กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร และ 3. กรอบการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนเพื่อสร้างจิตสำนึก

ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 69 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2567 มูลนิธิ อพ.สธ. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จึงจัดกิจกรรมการปลูกต้นไม้ “โครงการปลูกรักษาพรรณไม้ทรงคุณค่า เฉลิมพระเกียรติ 69 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ไม้ทรงคุณค่า จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ต้นกล้าขนุนไพศาลทักษิณ และต้นกล้าพิกุล ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิ อพ.สธ. เพื่อปลูกในพื้นที่สวนสาธารณะสังกัดกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นต้นกล้าขนุนไพศาลทักษิณ จำนวน 92 ต้น และต้นกล้าพิกุล จำนวน 82 ต้น รวม 174 ต้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยกรองฝุ่น สอดรับกับนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมจองปลูกต้นไม้แล้ว 1,641,310 ต้น ปลูกแล้วรวมทั้งสิ้น 872,782 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย. 67 เวลา 12.00 น.) และสอดรับกับกิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากรในการสนับสนุนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ.

โดยในวันนี้ได้ร่วมกันปลูกต้นกล้าขนุนไพศาลทักษิณ และต้นกล้าพิกุล บริเวณสวนหย่อมศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง อย่างละ 1 ต้น และร่วมปลูกต้นกล้าขนุนไพศาลทักษิณ และต้นกล้าพิกุล บริเวณสวน 50 พรรษา มหาจักรีสิรินธร เขตประเวศ อย่างละ 1 ต้น และสวนวนธรรม อย่างละ 5 ต้น สำหรับ ต้นไม้อีก 160 ต้น กรุงเทพมหานครจะนำไปปลูกในพื้นที่สวนสาธารณะในความรับผิดชอบของสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ต่อไป

สำหรับต้นขนุนไพศาลทักษิณ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีลักษณะพิเศษคือ ติดผลเป็นกลุ่มหรือเป็นพวง ผลขนาดกลาง ไม่เกิน 5 กิโลกรัม หนามเล็ก เปลือกบาง ไส้เล็ก เมล็ดขนาดเล็ก เนื้อสีเหลือง รสชาติหวานจัดโดยถือกำเนิดสืบเนื่องจากในวันพืชมงคล วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ทรงมีรับสั่งให้อนุรักษ์ต้นขนุนที่อยู่หลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง ขณะนั้นมีอายุประมาณ 140 ปี ตามประวัติ เจ้าจอมมารดาเที่ยงในรัชกาลที่ 4 ทรงปลูกไว้ตามคติไทยโบราณในการปลูกต้นไม้ไว้เป็นมงคล ซึ่งการปลูกขนุนไว้หลังพระตำหนักหรือบ้านเรือนเป็นประเพณีนิยม โดยขนุนต้นนี้ได้ชื่อว่าขนุนไพศาลทักษิณเนื่องจากอยู่หลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทั้งยังถือเป็นขนุนมงคล เนื่องจากหลังพระราชพิธีที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้าพนักงานจะนำน้ำที่ทรงหลั่งทักษิโณทกไปรดที่ขนุนต้นนี้ ซึ่งแม้ว่าต้นขนุนไพศาลทักษิณจะมีอายุมากแต่ยังคงให้ผลผลิตอยู่ โดยมีลักษณะพิเศษ คือ เนื้อหนารสหวานจัด ทั้งนี้ จากที่ทรงมีรับสั่งให้อนุรักษ์ต้นขนุนนี้ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชศึกษาจึงหาวิธีการขยายพันธุ์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2528 ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และในปัจจุบัน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (มูลนิธิ อพ.สธ.) ยังคงดำเนินการขยายพันธุ์ขนุนไพศาลทักษิณอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และวิธีการเสียบยอด เผยแพร่แก่หน่วยงานและประชาชนทั่วไป

ในส่วนของต้นพิกุล เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15 เมตร ทรงพุ่มรูปเจดีย์หรือกลมทึบ ใบเดี่ยว เรียงสลับห่าง รูปไข่ รูปรี โดยต้นที่นำมาปลูกเป็นต้นที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบยอด จากต้นที่ปลูกข้างหมู่พระมหามณเฑียรด้านทิศตะวันตกในเขตพระราชฐานชั้นในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีอายุประมาณ 200 ปี มีลักษณะพิเศษ คือ ดอกสีเหลืองเข้มคงทน มีกลิ่นหอมแรง และมีอยู่เพียงต้นเดียวในเขตพระบรมมหาราชวัง ซึ่งท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ เจ้าหน้าที่ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ให้ อพ.สธ. ได้ร่วมกันศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ต้นพิกุลเก่าแก่ต้นนี้ แต่ไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดได้เนื่องจากไม่มีการติดผล จึงทำการทดลองขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบยอดกับต้นกล้าพิกุลจากต้นอื่น และประสบความสำเร็จจากวิธีการเสียบยอด ทำให้ได้ต้นพิกุลพร้อมปลูกในปัจจุบัน
—————————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200