(28 มี.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตยานนาวา ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตรวจวัดควันดำรถโดยสารขนาดเล็กร่วมบริการสาย 1273 เส้นทางเดินรถ ช่องนนทรี-พระยาไกร บริเวณซอยตรอกนอก ถนนนนทรี โดยเขตฯ ได้ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 34 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 8 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 4 แห่ง ประเภทการสะสมซีเมนต์ หิน ดิน ทราย วัสดุก่อสร้าง 1 แห่ง ประเภทอู่รถสองแถว 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าตลาดนางลิ้นจี่ ถนนนางลิ้นจี่ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 244 ราย ได้แก่ 1.หน้าตลาดรุ่งเจริญ ถนนสาธุประดิษฐ์ ฝั่งถนนสาธุประดิษฐ์ ตั้งแต่สี่แยกรัชดา-สาธุประดิษฐ์ ถึงปากซอยสาธุประดิษฐ์ 39 และฝั่งถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่สี่แยกรัชดา-สาธุประดิษฐ์ ถึงแยกถนนนนทรี ผู้ค้า 152 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-22.00 น. 2.หน้าปากซอยปริยานนท์ ถนนสาธุประดิษฐ์ หน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 7 บุญมี ปุรุราชรังสรรค์ ถึงหน้าอาคารเลขที่ 653/15 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. และ 14.00-22.00 น. 3.หน้าตลาดนางลิ้นจี่ ถนนนางลิ้นจี่ ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 309/6 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 317/8 ผู้ค้า 33 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. 4.หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถึงหน้าตลาดครูหวี ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. และ 5.หน้าบริษัทไอซีซี ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 ตั้งหน้าบริษัทไอซีซี ถึงซอยสาธุประดิษฐ์ 58 ผู้ค้า 19 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน มีจำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 51 ราย ได้แก่ 1.ปากซอยสาธุประดิษฐ์ 49 ถนนสาธุประดิษฐ์ หน้าสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ ถึงซอยสาธุประดิษฐ์ 55 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 2.ซอยนางลิ้นจี่ 5/1 ถนนนางลิ้นจี่ ตั้งแต่ซอยนางลิ้นจี่ 5/1 ถึงซอยนางลิ้นจี่ 3 ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. และ 3.ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 ถนนสาธุประดิษฐ์ ทางเข้าอาคารฟอร์จูนทาวน์ ถึงทางออกอาคารฟอร์จูนทาวน์ ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. ที่ผ่านมาเขตฯ ได้บันทึกข้อมูลผู้ค้าพร้อมทั้งจัดทำคิวอาร์โค้ดให้กับผู้ค้าเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าหน้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าปากซอยปริยานนท์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย 2.หน้าบริษัทไอซีซี ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 ผู้ค้า 19 ราย ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป จะไม่มีผู้ค้าในจุดดังกล่าว โดยผู้ค้าได้ทยอยย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้แล้ว ผู้ค้าบางส่วนเลิกทำการค้า
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า เพื่อให้ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตในการตั้งวางแผงค้า กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน สำรวจจำนวนผู้ค้าที่ยังทำการค้าอยู่จริง นอกจากนี้ให้พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยรายหรือกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ โดยให้ผู้ค้าย้ายเข้าไปทำการค้าในจุดเดียวกัน หรือจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center บริเวณตลาดนัดสาธุ ซอยสาธุประดิษฐ์ 3 ซึ่งเป็นตลาดนัดเอกชน พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 200 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด เพื่อความเป็นระเบียบในพื้นที่ต่อไป
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด มีพนักงาน 300 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ 2.ขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป 4.ขยะอันตราย ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้พนักงานคัดแยกขยะทุกประเภทก่อนทิ้ง จัดกิจกรรม Bingo รักษ์โลก เชิญชวนสมาชิกนำคะแนนไลอ้อนรักษ์โลกมาแลกเป็นแป้งโคโดโม เพื่อแบ่งปันและรวบรวมนำไปบริจาคให้แก่โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร ประสานเขตฯ จัดเก็บขยะไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะปี 2566 โดยรวมทั้งหมดหลังคัดแยก 8.93 ตัน/ปี ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 18,534 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1,950 ต้น สมทบเงินเข้ากองทุนพระโพธิสัตว์ 19,094 บาท
สำรวจสวน 15 นาที สวนรัชดาภิเษก-พระราม 3 ซึ่งเขตฯ มีแนวคิดจะปรับปรุงพื้นที่ว่าง จัดทำเป็นสวน 15 นาที ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายใกล้บ้าน เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ที่ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นและสวยงาม จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนศิลาฤกษ์ พื้นที่ 9 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา 2.สวนข้างตึกกิมง้วน พื้นที่ 29.36 ตารางวา 3.สวนคลองช่องนนทรี (สวนเรือโบราณ) พื้นที่ 1 ไร่ 73 ตารางวา 4.สวนหอนาฬิกา พื้นที่ 97.5 ตารางวา 5.สวนถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาเข้า พื้นที่ 2 งาน 48.5 ตารางวา 6.สวนถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาออก พื้นที่ 2ไร่ 1 งาน 15.24 ตารางวา 7.สวนสุขภาพ พื้นที่ 1 งาน 72.40 ตารางวา 8.สวนริมคลองสวน พื้นที่ 1 ไร่ 59.25 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนรัชดา-นราธิวาส พื้นที่ 1 งาน 85.5 ตารางวา 2.สวนคลองมะนาวรัชดา พื้นที่ 3 งาน 55.25 ตารางวา 3.สวนวัดดอกไม้ พื้นที่ 1 งาน 4.สวนคลองเสาหินรัชดาภิเษก พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 22.25 ตารางวา (อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงตามความต้องการของประชาชนผู้ใช้งาน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสาววรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตยานนาวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตยานนาวา สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)