กทม. หารือ 6 ข้อ ร่วม บช.น. แก้ปัญหาจราจรเมืองกรุง
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง ร่วมประชุมหารือกับ พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินงานการแก้ไขปัญหาจราจรที่เกี่ยวข้องระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย 1.การแก้ไขปัญหาจุดฝืด กทม.ได้ร่วมมือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วิเคราะห์ข้อมูลทางวิศวกรรมจราจรเชิงลึก (Traffic Engineering) เพื่อแก้ไขปัญหาจุดฝืดจำนวน 100 จุด ในความรับผิดชอบของ กทม.
2.การติดตั้งและปรับรอบสัญญาณไฟจราจรแบบ Adaptive Signaling ซึ่งจะปรับรอบสัญญาณไฟจราจรทั้งหมด 47 ทางแยก ตามที่ สนข.ให้เสนอแนะ และปรับเพิ่มอีก 17 ทางแยกจากการสำรวจปัญหาด้านการจราจร โดยในปีงบประมาณ 2567 จะติดตั้งจำนวน 72 ทางแยก และจะขยายผลในปีงบประมาณ 2568 อีกจำนวน 100 ทางแยก 3.การกำหนดพื้นที่จำกัดความเร็ว (Speed Limit Zone) ในเขตเมืองหรือชุมชน กทม. ได้นำเสนอข้อมูลการประเมินและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนนพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยมาตรฐานการประเมินความปลอดภัยทางถนนระดับนานาชาติ (iRAP) โดยหารือร่วมกับ บช.น. ให้พิจารณาออกข้อบังคับจราจรจำกัดความเร็ว 50 กม./ชม. นำร่องเส้นทาง เขตพื้นที่ชั้นใน 40 เส้นทาง 4.การจัดทำช่องทางรถจักรยานยนต์บนสะพาน จะนำร่องบนสะพานที่มีกายภาพเพียงพอก่อน ได้แก่ สะพานข้ามแยกเกษตรและสะพานข้ามแยกร่มเกล้า โดยเสนอ บช.น. พิจารณาออกข้อบังคับจราจรให้สอดคล้อง
5.การเชื่อมต่อสัญญาณภาพจากกล้อง CCTV จำนวน 22 ทางแยก เพื่อใช้บริหารจัดการการจราจร รวมทั้งตรวจจับความเร็วและตรวจจับผู้กระทำผิด ส่งข้อมูลให้ บช.น. เปรียบเทียบปรับสูงสุด ลดปัญหาการจอดรถกีดขวางทางม้าลาย การฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ ได้หารือแนวทางการเชื่อมต่อสัญญาณภาพจากกล้อง CCTV ไปยังป้อมจราจรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรใช้ข้อมูลภาพบริหารจัดการสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรของพื้นที่ และ 6.การขยายและจัดทำเส้นทางเดินรถโดยสาร ด่วนพิเศษ (BRT) กทม. มีแผนขยายเส้นทางให้บริการไปถนนสาทรต่อถึงถนนพระรามที่ 4 ที่แยกวิทยุ โดยที่ประชุมรับทราบในหลักการการจัดทำช่อง Bus Lane ในชั่วโมงเร่งด่วน บนถนนสาทรจากแยกสาทรถึงแยกลุมพินี ซึ่งจะยกเว้นให้รถจักรยานยนต์วิ่งร่วมได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการบังคับใช้กฎหมายจราจรเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องปรามผู้กระทำความผิด เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหาการจราจรและอำนวยปลอดภัยให้แก่ประชาชน
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 28 มี.ค. 2567