Flag
Search
Close this search box.
พญาไทตรึงแนวผู้ค้าพหลโยธิน 7 ตั้งแผงอยู่ในเส้นไม่ล้ำทางเท้า จับตาฝุ่นจิ๋วโครงการก่อสร้าง Via ARI ยกต้นแบบคัดแยกขยะ SME BANK ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหาร ส่องสวนหย่อมร่วมมิตรพร้อมปลูกทองอุไรเพิ่มความเหลืองอร่าม

(27 มี.ค. 67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพญาไท

เริ่มจากตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณซอยพหลโยธิน 7 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 209 ราย (กลางวัน 121 ราย กลางคืน 88 ราย) ได้แก่ 1.ซอยพหลโยธิน 7 ผู้ค้า 77 ราย (กลางวัน 65 ราย กลางคืน 12 ราย) 2.ถนนประดิพัทธ์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 67 ราย (กลางวัน 12 ราย กลางคืน 55 ราย) 3.ถนนประดิพัทธ์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 21 ราย (กลางคืน 21 ราย) ส่วนอีก 1 จุด บริเวณหน้า ปปส. ถนนดินแดง ผู้ค้า 44 ราย (กลางวัน 44 ราย) ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักเทศกิจเสนอขอความเห็นชอบให้เป็นจุดผ่อนผันต่อเจ้าพนักงานจราจร ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 108 ราย (ผู้ค้าเก่า 49 ราย ผู้ค้าใหม่ 59 ราย) ได้แก่ 1.บริเวณถนนสาลีรัฐวิภาค ถึงโรงพยาบาลเปาโล ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 54 ราย (เก่า 32 ราย ใหม่ 22 ราย) 2.หน้าอาคาร S.M.Tower (หน้าโรงพยาบาลพญาไท) 2 ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 28 ราย (เก่า 9 ราย ใหม่ 19 ราย) 3.ซอยพหลโยธิน 9 ผู้ค้า 17 ราย (เก่า 3 ราย ใหม่ 14 ราย) 4.หน้าโรงแรม Tower Inn ผู้ค้า 9 ราย (เก่า 5 ราย ใหม่ 4 ราย) ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้า 175 ราย ได้แก่ 1.ซอยพหลโยธิน 6-8 (หน้าอาคารพหลโยธินเพลส) ผู้ค้า 113 ราย 2.หน้าคอนโดออร์นิคส์ ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 29 ราย 3.หลังแฟลตสวัสดิการทบ. ผู้ค้า 17 ราย 4.บริเวณใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ถนนพหลโยธิน (ขาเข้า) ผู้ค้า 16 ราย โดยผู้ค้าได้ย้ายไปทำการค้าในพื้นที่ของการทางพิเศษฯ และตลาดอื่นๆ ที่รองรับ ผู้ค้าบางส่วนเลิกทำการค้า ส่วนในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้แก่ 1.หน้าอาคาร S.M.Tower (หน้าโรงพยาบาลพญาไท) 2 ผู้ค้า 28 ราย 2.หน้าโรงพยาบาลเปาโล ซึ่งเดิมควบรวมกับจุดถนนสาลีรัฐวิภาค ผู้ค้า 32 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) จัดทำ Hawker Center บริเวณพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จัดกิจกรรมเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2-3 วัน ต่อมาได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ให้ใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคาร 10 จัดทำ Hawker Center รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จัดกิจกรรมเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 วัน (สัปดาห์เว้นสัปดาห์)

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าในการจัดระเบียบพื้นที่บริเวณซอยพหลโยธิน 7 ซึ่งผู้ค้ายินดีให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ตั้งวางสินค้าอยู่ในแนวเส้นที่กำหนด จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ สุ่มสแกนคิวอาร์โค้ดตรวจสอบตัวตนของผู้ค้าที่ได้ลงทะเบียนทำการค้าไว้กับทางเขตฯ โดยให้ผู้ค้าติดบัตรแสดงตัวตนทุกครั้งที่ทำการค้า เพื่อป้องกันบุคคลอื่นแอบสวมรอยเข้ามาทำการค้า รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ หรือจุดที่เขตฯ จัดทำ Hawker Center ทั้ง 2 แห่ง


จากนั้นติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการเวีย อารีย์ (Via ARI) ซอยอารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 26 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง ดังนี้ เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำในช่วงเวลาที่มีการก่อสร้าง ฉีดล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษดินเศษทรายตกค้าง จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนที่ผ่านเข้าออกโครงการ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละอองพร้อมจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) 2 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 8 แห่ง ประเภทโรงงานจำพวก 3 (ผลิตยา) 1 แห่ง ประเภทโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 3 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ (SME BANK) ถนนพหลโยธิน พื้นที่ 40,794.17 ตารางเมตร บุคลากร 1,100 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ใหพนักงานคัดแยกขยะเศษอาหาร ตั้งถังขยะรองรับขยะอินทรียทุกชั้น แม่บ้านจะรวบรวมขยะเศษอาหารมาไวบริเวณชั้น G เพื่อนำขยะเศษอาหารมาใส่เครื่องย่อยเศษอาหาร เพื่อเปลี่ยนเป็นปุยอินทรียแจกจ่ายให้พนักงาน 2.ขยะรีไซเคิล โครงการทิ้งถูกที่มีแต่ความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะในหน่วยงาน โดยตั้งถังขยะคัดแยกทุกชั้น ขยะประเภทกระดาษและขวดพลาสติกมอบให้พนักงานเก็บขยะของเขตฯ จำหน่ายเป็นรายได้ของพนักงานเก็บขยะ 3.ขยะทั่วไป ตั้งถังขยะรองรับมูลฝอยทั่วไปทุกชั้น แม่บ้านจะรวบรวมขยะมาไว้บริเวณจุดพักขยะ เพื่อรอการจัดเก็บจากเขตฯ 4.ขยะอันตราย มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะอันตรายโดยเฉพาะ ประสานเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 6,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5,504 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 400 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 66 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน

สุดท้ายติดตามการพัฒนาสวน 15 นาที บริเวณสวนหย่อมร่วมมิตร ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตพญาไท ได้ร่วมกันปลูกต้นทองอุไร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตลอดจนเพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว ในพื้นที่เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนพญาไทภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2.สวนอารีสัมพันธ์ พื้นที่ 9 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมร่วมมิตร พื้นที่ 3 งาน 47 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดินวิ่งออกกำลังกาย และปลูกต้นไม้เพิ่มเติม 2.สวนอินทามระ 14 พื้นที่ 1 งาน ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ ปูหญ้า ทำทางเดิน จัดวางชุดโต๊ะสนาม 3.สวนหย่อมปากซอยถนนพระราม 3 ซอย 41 หม่อมแผ้ว พื้นที่ 200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ ออกแบบสวนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และลักษณะของต้นไม้เดิม สำหรับสวน 15 นาที เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร

ในการนี้มี นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง ผู้อำนวยการเขตพญาไท พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพญาไท สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—–  (จิรัฐคม…สปส./ขวัญชนน์ นศ.ฝึกงาน รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200