Flag
Search
Close this search box.
พัฒนาสวน 15 นาที สวนริมถนนอุทยานเชื่อมต่อศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์โคกหนองนา ชูต้นแบบคัดแยกขยะโรงเรียนคลองบางพรหม คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างหมู่บ้านมัณฑนาย่านทวีวัฒนา 

 

(26 มี.ค. 67) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทวีวัฒนา ประกอบด้วย 

 

พัฒนาสวน 15 นาที สวนริมถนนอุทยาน ซึ่งเขตฯ ได้รับมอบพื้นที่จากสำนักสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 จากนั้นเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ โดยประสานสำนักการโยธาขุดบ่อแหล่งน้ำภายในสวน พร้อมทั้งปรับระดับพื้นดินให้มีความเหมาะสม สร้างศาลาที่พักภายในสวนแล้วเสร็จ 3 หลัง จัดทำแปลงผักสวนครัวบริเวณศาลาที่พักหลังที่ 3 รวมถึงได้รับการสนับสนุนต้นไม้จากภาคเอกชนและประชาชน ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการปรับสภาพพื้นที่เพิ่มเติม จัดวางขอบคันหินกับทางเดินเท้าภายในสวน ปูสนามหญ้า ลานจอดรถ ลานอเนกประสงค์ ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างศาลาที่พักหลังที่ 4 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2567 ทั้งนี้สวน 15 นาที สวนริมถนนอุทยาน มีพื้นที่เชื่อมต่อกับศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์โคกหนองนา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบผสมผสาน มีบ่อเลี้ยงปลา มีคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำในบ่อไปหล่อเลี้ยงแปลงนา มีแปลงข้าวโพด แปลงผักอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ โรงเรือนเพาะเลี้ยงไก่ไข่ และเป็ดไข่ โรงเรือนเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่าง ๆ บ่อซีเมนต์สาธิตการเลี้ยงหอยขม กุ้งฝอย และปูนา พื้นที่ปลูกไม้เบญจพรรณชนิดต่าง ๆ เช่น ยางนา ประดู่ พะยูง พะยอม มะฮอกกานี แคนา นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชในท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์พรรณพืช คือ ต้นจันอิน ซึ่งเป็นต้นไม้โบราณหายากที่ปัจจุบันใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นไม้ผลที่มีลักษณะเฉพาะ โดยต้นเดียวกันสามารถออกผลได้ 2 แบบ ผลลูกกลมป้อมขนาดใหญ่เรียกว่าลูกอิน ผลลูกแบนและแป้นขนาดเล็กเรียกว่าลูกจัน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 12 ไร่ 42 ตารางวา 2.สวนคลองบ้านไทร พื้นที่ 18 ไร่ 3.สวนบัวแดง พื้นที่ 12 ไร่ 4.สวนชานบ้าน พื้นที่ 12 ไร่ 5.สวนหย่อมหน้าศูนย์สันกฤตศึกษา พื้นที่ 3 งาน 42 ตารางวา 6.สวนร่มเกล้าชาวทาง พื้นที่ 11 ไร่ 7.สวนริมถนนอุทยาน พื้นที่ 5 ไร่ 99 ตารางวา 8.สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า พื้นที่ 31 ไร่ 9.สวนหย่อมวัดอุดมธรรมวิมุตติ พื้นที่ 2 ไร่ 10.สวนชุมชนหลังสถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ พื้นที่ 83.76 ตารางวา อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดิน 

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนคลองบางพรหม พื้นที่ 6 ไร่ 43 ตารางวา มีครู บุคลากร และนักเรียน รวม 279 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ จัดการขยะตามหลัก 3 Rs และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารจัดการ ส่งเสริมให้ครูบุคลากรและนักเรียนคัดแยกขยะตามหลัก 3 Rs โดยลดการใช้ คัดแยก และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ กิจกรรมรณรงค์รับประทานหมดลดขยะ เพื่อลดปริมาณขยะต้นทาง ส่วนขยะอินทรีย์ที่เหลือจะนำกลับมาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ กิจกรรมขยะ (อินทรีย์) ล่องหน ได้แก่ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง 2.ขยะรีไซเคิล ส่งเสริมการคัดแยกขยะรีไซเคิล และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ตามหลัก 3 Rs โดยจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม ดังนี้ กิจกรรมขยะแปลงร่าง กิจกรรมธนาคารขยะ Recycle กิจกรรมรณรงค์ลดการใช้พลาสติกแบบ Single Use 3.ขยะทั่วไป ส่งเสริมการคัดแยกขยะทั่วไปโดยจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม ดังนี้ กิจกรรมสิ่งประดิษฐ์จากไม้ไอศกรีม กิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกโฟมและการใช้พลาสติกแบบ Single Use ส่วนขยะทั่วไปที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะจัดเก็บรวบรวมในถังขยะทั่วไป เพื่อจัดส่งให้เขตฯ นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี 4.ขยะอันตราย ส่งเสริมการคัดแยกขยะอันตราย อบรมให้ความรู้เรื่องการคัดแยกและจัดเก็บขยะอันตราย เพื่อรวบรวมส่งให้ทางเขตฯ นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี จัดกิจกรรมลดการใช้ขยะอันตราย โดยเลือกใช้วัสดุที่สามารถใช้ได้หลายครั้ง เช่น การใช้ปากกาเคมีแบบเติมหมึก การใช้ถ่านชาร์จ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 7 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 4 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน 

 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรมัณฑนา ดำเนินการโดยบริษัท แอลเอช แอสเซท จำกัด บริเวณซอยศาลาธรรมสพน์ 39 พื้นที่ 41 ไร่ 1 งาน มีอาคารพักอาศัย 88 หลัง อาคารสโมสร 1 หลัง อาคารป้อมยาม 1 หลัง อาคารพักขยะ 1 หลัง ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ดังนี้ 1.จัดทำรั้วป้องกันฝุ่นโดยรอบโครงการ 2.ฉีดพรมน้ำบริเวณทางที่มีรถวิ่งและทำให้เกิดฝุ่น 3.ดำเนินการเทคอนกรีตส่วนที่เป็นถนนให้แล้วเสร็จ 4.ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง 5.ตรวจวัดควันดำรถบรรทุก รถโม่ปูน รถยนต์รับส่งคนงานที่ผ่านเข้าออกตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 14 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 1 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 9 แห่ง ประเภทสถานที่ถมดิน 2 แห่ง ประเภทอู่รถยนต์ ขสมก. บริษัทขนส่ง 2 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

 

ในการนี้มี นางกฤติมา นิ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทวีวัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

 

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี 

—–  (จิรัฐคม…สปส./ขวัญชนน์ นศ.ฝึกงาน รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200