Search
Close this search box.
กทม.-สปสช.แก้ปมใบส่งตัวผู้ป่วย ยันของเดิมใช้ได้จนกว่าจะหมดอายุ

กทม.-สปสช. ยันใบส่งตัวสถานพยาบาลของกทม.เดิมใช้ได้จนกว่าจะหมดอายุ/แนวทางศบส.กทม. พร้อมดูแลสิทธิบัตรทอง

วันที่ 25 มี.ค. 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ ศาลาว่าการกทม. ถึงแนวทางแก้ปัญหาการออกใบส่งตัว ผู้ป่วยจากโรงพยาบาลปฐมภูมิไป โรงพยาบาลต่างๆ ว่า จากการเปลี่ยนระบบการให้บริการเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะเรื่องใบส่งตัวจากโรงพยาบาลปฐมภูมิไปยังโรงพยาบาลต่างๆ จึงเกิดประเด็นโรงพยาบาลให้ทำใบส่งตัวใหม่ ซึ่งประชาชนอาจไม่เข้าใจ จึงมาขอใบส่งตัวใหม่จากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จากการประชุมหารือกับ สปสช.ครั้งนี้ สรุปว่าใบส่งตัวที่เคยออกให้ประชาชนไปแล้ว สามารถใช้ได้ตามปกติ ไม่ต้องขอใหม่ จนกว่าใบจะหมดอายุ ถือว่าใบส่งตัวที่ กทม.ให้ไว้กับโรงพยาบาลสังกัดกทม.ทั้งหมด สามารถใช้การได้

ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายจากคลินิกหรือโรงพยาบาล สปสช.จะเป็นผู้จัดการ ซึ่ง กทม.พร้อมให้ความร่วมมือปฏิบัติตามแนวทาง ของ สปสช. โดยระบบส่งตัวเริ่มจากผู้ป่วยเข้ารับบริการคลินิก อบอุ่นใกล้บ้าน หากคลินิกพิจารณาแล้วว่ารักษาต่อไม่ไหว จะมีการส่งตัวให้ศูนย์บริการสาธารณสุข และหากศูนย์บริการสาธารณสุขพิจารณาแล้วว่ารักษาต่อไม่ไหว จึงจะส่งต่อไปยัง โรงพยาบาล ซึ่งเป็นไปตามระบบการส่งต่อ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคน ต้องไปที่โรงพยาบาลเป็นอันดับแรก แต่จะไปหรือมีการส่งต่อไปที่ โรงพยาบาลตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล

ด้าน นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาเรื่อง ใบส่งตัวเดิม ที่เคยส่งตัวไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้วเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน จึงมีการเรียกกลับมารับใบส่งตัว ปัจจุบันได้สรุปว่า สถานพยาบาลในสังกัดกทม.ให้ดำเนินการจนกว่าใบส่งตัวเดิมจะหมด โดย สปสช.จะไปทำความเข้าใจกับหน่วยบริการส่งต่อต่างๆ เพราะมีหลายฝ่ายกังวัลว่าถ้าไม่มีใบส่งต่อ ใครจะเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่ง สปสช.จะจัดการเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดทำใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนเพิ่มเติม เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องใบส่งตัวได้ในเร็ววัน

ทั้งนี้ กทม.มีแนวทาง ดูแลรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ใช้ บริการสถานพยาบาลในสังกัด ในส่วนศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) กทม. โดยสำนักอนามัย (สนอ.) ได้จัดประชุมชี้แจง (ศบส.) กทม. ทั้ง 69 แห่ง เพื่อทราบแนวทาง การให้บริการ ผู้ป่วยกรณี New Model 5 เพื่อ ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งกรณีที่ต้องส่งตัว ผู้ป่วยไปรักษายังหน่วยบริการรับ- ส่งต่อเนื่อง จาก สปสช. ได้ปรับรูปแบบการเบิกจ่าย โดยให้หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการส่งต่อ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยไปรับการประเมินอาการจากหน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิก่อน หากเกินศักยภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามสิทธิจะส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายัง โรงพยาบาลรับส่งต่อต่อไป กรณีที่ไม่มีใบส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือใบส่งต่อไม่ตรง ตามสิทธิ ผู้ป่วยสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลรับส่งต่อได้ในกรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน หรือเหตุสมควร ซึ่งโรงพยาบาลจะพิจารณาให้การรักษาตามกรณี

โดยแนวทางของ ศบส. กทม.จะให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ไม่ตรง ตามสิทธิในกรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน หรือเหตุสมควร กรณีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีสิทธิที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่นมารับบริการที่ ศบส. โดย ศบส.จะให้การรักษาใน เบื้องต้นและแนะนำให้ผู้ป่วยไป รับยาต่อเนื่องที่หน่วยปฐมภูมิตามสิทธิ พร้อมส่งประวัติการรักษาพยาบาลให้หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยที่จะได้รับการดูแลแบบใกล้บ้านใกล้ใจที่หน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิของตนเอง

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 มี.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200