นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยผลการประชุมประเด็น การจัดระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีการ ปรับรูปแบบการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อการรับบริการ โดยเฉพาะการส่งต่อรักษาผู้ป่วยบัตรทอง ไปยัง รพ.ตามสิทธิ
นายชัชชาติ ระบุ ข้อสงสัยที่เกิดขึ้น อาทิ รพ.อาจต้องการให้ทำใบส่งตัวใหม่ หรือประชาชนยังไม่เข้าใจ จึงมาขอทำใบส่งตัวใหม่จากศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ของ กทม. โดย สปสช.ให้แนวทางว่า ใบส่งตัวที่ออกไปก่อนหน้าให้ใช้ได้ปกติจนหมดอายุ ส่วนคลินิกหรือ รพ. ต้องเป็นแนวทางปฏิบัติที่ สปสช. จะไปเคลียร์เรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
ทั้งนี้ ในอนาคตระบบส่งตัวจะมีจากคลินิกส่งตัวให้ ศบส. หรือ ศบส.ส่งตัวให้รพ.จะเป็นระบบที่ต้องปฏิบัติตามที่สปสช.กำหนดคือ ต้องเริ่มจากหน่วยปฐมภูมิที่ลงทะเบียนอยู่ จากนั้นการส่งต่อจะเป็นขั้นตอน หากคลินิกเห็นว่ารับมือไม่ไหวก็ส่งศบส. หรือหน่วยระดับสอง หากไม่ไหวก็ส่งต่อไปหน่วยระดับสาม คือรพ. เป็นขั้นตอนที่มีการคัดกรอง เพื่อลดภาระไปรพ.ให้มากที่สุด
ด้าน นพ.จเด็จ ระบุ ที่มีปัญหาเรื่องใบส่งตัวเดิมที่เคยส่งตัวไป รพ.ต่าง ๆ แล้ว อาจเกิดความสับสน เข้าใจไม่ตรงกัน ต้องมีการเรียกกลับมารับใบส่งตัว ในส่วนสังกัดกทม. ผู้ว่าฯสั่งการว่าให้ดำเนินการจนกว่าใบส่งตัวจะหมดอายุ เชื่อว่าจุดนี้จะแก้ปัญหาได้เยอะ ส่วน สปสช.รับปากว่าจะซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยบริการที่รับส่งต่อ ซึ่งบางครั้งประชาชนอาจกังวลว่า ถ้าไม่มีใบส่งต่อแล้วใครจะมาดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่ง สปสช.จะรับนโยบายผู้ว่าฯ ไปซักซ้อมกับหน่วยอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสังกัด กทม. รวมถึงอนาคตที่ใบส่งตัวควรเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับกติกาการเงิน สปสช.มีความชัดเจนว่าส่วนแรกที่จ่าย จะเปลี่ยนเป็นจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวที่ขึ้นทะเบียนในเครือข่าย ดังนั้น เครือข่ายจะมีทั้ง ศบส. คลินิก และมีการส่งต่อไปก็จะตามจ่ายส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด กำหนดครั้งละไม่เกิน 800 บาท กรณีไม่มีใบส่งตัว ในส่วน รพ.ที่รับส่งจะมีกองทุนอีกกองตามไปจ่าย โดยได้ซักซ้อมกับหน่วยบริการ ให้ความมั่นใจว่ามีกลไกการเงินทุกระดับ ไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางไปรับบริการ รพ.ใหญ่ โดยที่ไม่มีระบบ.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 27 มี.ค. 2567 (กรอบบ่าย)