กูรูสิ่งแวดล้อมชี้สาเหตุกลิ่นเหม็นไหม้ลอยทั่ว กทม.ไม่ได้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน คนกรุงสร้างมลพิษเอง ควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์เกิดก๊าซคาร์บอนและซัลเฟอร์สะสมในปริมาณมาก
แจงกลิ่นเหม็นไหม้ในกทม.
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีเมื่อค่ำวันที่ 20 มีนาคม หลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครเกิดฝนตกหนักและมีกลิ่นไหม้ในหลายพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า กรมควบคุมมลพิษ จิสด้า ต่างออกมาเผยแพร่ภาพถ่ายจุดความร้อน พบว่ารอบๆ ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ประเทศกัมพูชาและเมียนมามีจุดความร้อนจำนวนมากเกือบเต็มพื้นที่ประเทศ ทำให้โซเชียลคาดว่ากลิ่นเหม็นไหม้มาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น
ล่าสุด นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า การเกิดเหตุกลิ่นไหม้แสบตาแสบจมูกแบบเจือจางใน กทม. คืนวันที่ 20 มีนาคม น่าจะมาจากสาเหตุดังนี้ 1.สถานการณ์สภาพอากาศใน กทม.วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ฝนตกหนักหลายพื้นที่ในช่วงเช้าและฝนตกเกือบทั้งวัน หลังฝนหยุดตก ทั้งในช่วงกลางคืนเกิดความชื้นสูงมากในบรรยากาศ 2.ก่อนหน้านั้นอากาศร้อนปกคลุม กทม.มาหลายวัน เมื่อมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นพัดเข้าปะทะทำให้ฝนตกลงมาค่อนข้างมาก การที่มวลอากาศเย็นพัดปกคลุมพื้นที่ทำให้อากาศปิดอัตราการระบายอากาศในแนวดิ่งเกิดได้น้อยและลมค่อนข้างนิ่ง มลพิษทางอากาศทั้งฝุ่น PM2.5 และอนุภาคของกำมะถัน คาร์บอนต่างๆ มีปริมาณมากจากรถยนต์ การเผาในที่โล่งและโรงงานต่างๆ ที่เกิดตลอดวันใน กทม. จะลอยไปสะสมอยู่ในบรรยากาศใกล้ผิวโลกเมื่อรวมกับออกซิเจน กลายเป็นซัลเฟอร์และคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น สะสมในบรรยากาศ
นายสนธิกล่าวว่า เมื่ออากาศมีความชื้นสูงจึงทำปฏิกิริยากับก๊าซซัลเฟอร์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลายเป็นกรดซัลฟิวริกและกรดคาร์บอนิก บางส่วนแตกตัวเป็นซัลเฟอร์และคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย กรดซัลฟิวริกปกคลุมผิวดินทำให้เกิดอาการแสบตาแสบจมูกได้ และซัลฟิวริก จะมีกลิ่นคล้ายกำมะถันและกลิ่นไหม้ แต่ทั้งหมดไม่ได้มีอันตรายต่อสุขภาพเพราะเจือจางแล้วเพียงแค่ได้กลิ่น หากความชื้นในอากาศน้อยลงและลมพัดแรงขึ้นเหตุการณ์นี้ก็จะหายไป
ซัดคนในกทม.ก่อมลภาวะ
เมื่อถามว่าที่หลายคนเห็นแผนที่จุด ความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก นายสนธิกล่าวว่า เรื่องกลิ่นเหม็นไหม้ในกรุงเทพฯนั้น ไม่ต้องโทษประเทศเพื่อนบ้าน สาเหตุมาจากการกระทำของคนในกรุงเทพฯเอง
“ถ้ามาจากเขมรก็ต้องเหม็นทั้งวัน และเหม็นอยู่แถบพื้นที่ตะวันออก เมื่อวานทั้งวัน ผมอยู่ จ.ชลบุรี ไม่เห็นได้กลิ่นอะไรเลย ไม่ต้อง โทษใคร สาเหตุอยู่ที่กรุงเทพฯเองนั่นแหละ เหตุผลอย่างที่บอกไปข้างต้น หลักๆ ของการเกิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์มาจากรถยนต์ ในกรุงเทพฯมีรถยนต์ที่จดทะเบียน 3.1 ล้านคัน ไม่รวมที่มาจากต่างจังหวัด และช่วงกลางคืนที่อนุญาตให้รถ 10 ล้อ 18 ล้อ เข้าเมือง พ่นควันดำ มองไม่เห็นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง” นายสนธิกล่าว
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้กรุงเทพฯก็มีฝุ่นและฝนตก แต่ไม่เคยมีกลิ่นเหม็นไหม้ นายสนธิกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน ระหว่างฝนกับฝุ่นที่มีก๊าซคาร์บอนและก๊าซซัลเฟอร์รวมอยู่ด้วย และสะสมอยู่ในปริมาณที่มาก
“จะว่าเราบริหารจัดการคุณภาพอากาศที่ล้มเหลวก็ไม่ผิด แม้กระทั่งร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่หากประกาศใช้แล้ว จะได้ผล อากาศมันจะดีขึ้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราไม่มีเจ้าภาพที่จะมาจัดการเรื่องนี้ชัดเจน น่าเป็นห่วงมาก ยิ่งเราต้องเผชิญกับปรากฏการณ์โลกร้อนโลกเดือด อากาศปรวนแปรด้วย” นายสนธิกล่าว
เมื่อถามว่า ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร นายสนธิกล่าวว่า ต้องมีเจ้าภาพที่เข้ามาทำเรื่องนี้ ชัดเจน แต่เวลานี้ รถควันดำ ตำรวจไม่จับ รถ 10 ล้อ 18 ล้อ วิ่งกันขวักไขว่กลางคืน มอง ไม่เห็นควันดำก็ไม่มีใครทำอะไร ดังนั้น ไม่ต้องโทษ ไม่ต้องไปว่าใคร โทษตัวเราเองนั่นแหละ
เพจเพื่อนชัชชาติชี้3เหตุ
ขณะที่ค่ามลพิษ PM2.5 รายงานโดย IQAir เว็บไซต์รายงานดัชนีคุณภาพอากาศทั่วโลกแบบเรียลไทม์ พบว่ากรุงเทพฯติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง (AQI) อันดับ 7 ของโลก ในเวลา 23.00 น. เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา เพจเพื่อนชัชชาติระบุว่า 3 สาเหตุกลิ่นไหม้ ดังนี้ 1.ทิศทางลมวันที่ 20 มี.ค. เป็นลม ทิศตะวันออก ต่างจากวันอื่นๆ ช่วงนี้ที่มาจากอ่าวไทย ส่วนจุดเผาในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาพบที่ปริมณฑลหลายจุด 2.ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฤดูร้อน ประกอบกับความกดอากาศสูงผ่านทางอีสานมา ส่งผลให้ความสูงของชั้นบรรยากาศผสม (Mixing Height) ลดต่ำลง ฝุ่นละอองเกิดการสะสมตัวเพิ่มมากขึ้น 3.ความชื้นในบรรยากาศทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ทุติยภูมิ (Secondary PM2.5) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่เกิดจากพวกสารประกอบไนโตรเจนและแอมโมเนียจะเกิดปฏิกิริยาได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง
83เมืองอินเดียติดท็อป100โลก
IQAir ยังรายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 มุ่งเน้นไปที่ปริมาณ PM2.5 ใน 7,812 เมือง รวม 134 ประเทศทั่วโลก โดยใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 30,000 แห่ง ระบุว่า ใน 100 เมืองแรกที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกปี 2566 มีเพียง 1 เมืองเท่านั้นที่ไม่ได้อยู่ในเอเชีย และในจำนวนนี้ 83 เมืองอยู่ในประเทศเดียวกันคืออินเดีย เมืองทั้งหมดมีปริมาณ PM2.5 เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศเกินกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดมากกว่า 10 เท่า
แฟรงค์ แฮมเมส ซีอีโอ IQAir Global กล่าวว่า เราเห็นแล้วว่ามลพิษทางอากาศมีผล กระทบกับทุกภาคส่วนของชีวิต โดยปกติแล้วประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดบางประเทศ มีแนวโน้มที่ชีวิตของผู้คนจะลดลงระหว่าง 3-6 ปี แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นผู้คนก็จะต้อง ทนทุกข์ทรมานนานหลายปี ทั้งหมดนี้สามารถป้องกันได้อย่างสิ้นเชิงหากเรามีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น
“เอเชียกลางและเอเชียใต้เป็นภูมิภาค ที่สภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในปีที่ผ่านมา ขณะที่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ปัญหาคุณภาพอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2566 การที่ฤดูฝนล่าช้าไม่อาจบรรเทาผล กระทบจาก PM2.5 ขณะที่แหล่งที่มาหลักของ PM2.5 ในภูมิภาค ไม่ว่าจะการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยานพาหนะ การเผาแบบเปิด ขณะที่ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนกลายเป็นเรื่องวิกฤตและกลายเป็นประเด็นระดับภูมิภาค ทำให้อาเซียนต้องตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนขึ้น” ซีอีโอ IQAir Global กล่าว
ไทยอากาศแย่ที่5อาเซียน
ซีอีโอ IQAir Global กล่าวอีกว่า ในภาพรวม ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ PM2.5 เพิ่มขึ้นใน 8 จาก 9 ประเทศ มีเพียงฟิลิปปินส์ที่ความเข้มข้นของ PM2.5 ลดลงถึง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในภูมิภาคอีกครั้ง อยู่ในอันดับ 14 ของโลก มี PM2.5 เพิ่มขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมา
“ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 37 ของประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกด้วยค่าเฉลี่ย ที่ 23.3 ถือเป็นอันดับ 5 ในอาเซียน ที่มีอินโดนีเซียรั้งอันดับแรก ตามด้วยลาวอันดับ 21 เวียดนาม 22 และมาเลเซีย 25 ส่วนประเทศอาเซียนตามหลังไทยคือ กัมพูชาที่ 37 มาเลเซีย 38 ฟิลิปปินส์ 79 และสิงคโปร์ที่มีสภาพอากาศดีที่สุดในอาเซียนที่ลำดับ 80 หากจำแนกเป็นเมืองหลวงของประเทศต่างๆ คุณภาพอากาศของกรุงเทพฯอยู่ในลำดับที่ 37 ของเมืองหลวงทั่วโลก โดยเมืองหลวงของอาเซียนที่คุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดคือจาการ์ตา อันดับ 7 ของโลก ตามด้วยฮานอยที่ 8 เวียงจันทน์ที่ 21 กัวลาลัมเปอร์ที่ 32 พนมเปญที่ 33 และสิงคโปร์ มีอากาศดีกว่ากรุงเทพฯ อยู่ที่ลำดับ 66
เชียงใหม่-บึงกาฬฝนฉ่ำอากาศดี
ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพอากาศในตัวเมืองเชียงใหม่และอีก 24 อำเภอ ดีขึ้นเป็นลำดับ ดัชนีคุณภาพอากาศระดับโลกจากการตรวจวัดของ AirVisual ตกอยู่อันดับที่ 26 ส่วนคุณภาพอากาศรายชั่วโมงวัดได้ 103 และ ค่า PM2.5 วัดได้ 38.5 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐานมาเล็กน้อย ท้องฟ้าสดใสมีเมฆ หลังมีพายุฤดูร้อนส่งผลให้มีฝนตก ลมแรง และลูกเห็บตกหลายพื้นที่ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา
ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เชียงใหม่ รายงานพบจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2567 รอบเช้า จำนวน 2 จุด ในพื้นที่ อ.ฮอด ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
ที่ จ.บึงกาฬ เช้าวันนี้สภาพอากาศดีมาก ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไร้หมอกควันฝุ่นละอองขนาดเล็ก หลังตลอด 2 วันที่ผ่านมา พายุฤดูร้อน ได้นำพาฝนมาตกในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดบึงกาฬ ช่วยลดฝุ่นและหมอกควันลงได้มาก โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ สวนสาธารณะหนองบึงกาฬ ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ วัดโดยกรมควบคุมมลพิษ ค่าฝุ่น PM2.5 เช้าวันนี้ วัดได้ 6.6 มคก./ลบ.ม. เช่นเดียวกับที่บริเวณด่านศุลกากร บ้านพันลำ ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ อากาศปลอดโปร่ง ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างไทยลาว ขึ้นลงแพขนานยนต์ได้สะดวก และเดินเรือ ในแม่น้ำโขงง่ายขึ้น ไม่ต่างจากด่านศุลกากรที่ขนส่งผู้โดยสาร ไทย-ลาว และสินค้าขนาดเล็ก ทัศนวิสัยการมองเห็นไกลขึ้น มองเห็นฝั่ง สปป.ลาว และสามารถหลีกเลี่ยงล่องน้ำตื้น หรือหาดทรายที่โผล่ขึ้นกลางแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน เดินเรือขนส่งผู้โดยสารปลอดภัยสะดวกมากยิ่งขึ้น
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 22 มี.ค. 2567