BTS เฮ! เงินสดตุงกระเป๋า หลังกรุงเทพมหานครจ่ายคืนหนี้ระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย รวดเดียว 2.3 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน มี.ค.นี้ เร็วกว่ากำหนดเดิม 9 เม.ย. ผู้บริหารระบุชัด นำไปล้างหนี้สถาบันการเงิน-หุ้นกู้ และเสริมสภาพคล่องกิจการ ด้าน VGI เด้งแรง 11.81% เก็งข่าวดีขายล้างพอร์ตหุ้น “เคอรี่” เกลี้ยงภายใน 22 มี.ค.นี้ ตัดปัญหาตั้งด้อยค่าเงินลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ได้เผยแพร่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยที่กรุงเทพฯ มีความจำเป็นต้องจ่ายรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
เรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพฯ เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 กรุงเทพฯ โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพฯ จึงตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพฯ นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษจำนวน 23,488,692,200 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนกดังนี้ งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ สำนักการจราจรและขนส่ง รวม 23,488,692,200 บาท, งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐาน 23,488,692,200 บาท, ผลผลิตระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ 23,488,692,200 บาท
ข้อ 4 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ควบคุมการใช้จ่ายเงินและการบริหารงบประมาณตามรายการ และจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ข้อ 5 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ รักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพฯ นี้ ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ล่าสุดทาง BTS ประเมินว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะชำระหนี้ระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรืองาน E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 23,488.69 ล้านบาท ภายในเดือนมีนาคมนี้ เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมที่เคยเจรจากับกทม.ไว้ว่าจะต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 9 เมษายน 2567
ทั้งนี้ หลังจากที่สภากทม.ลงมติเห็นชอบหลักการการชำระเงินค่า E&M แล้ว ทางกทม.และ BTS ได้หารือร่วมกันมาแล้วหลายครั้ง เพื่อจัดเตรียมรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้พร้อมต่อการชำระหนี้ ซึ่งจากที่เคยเจรจากับกทม.นั้น ทางกทม.จะชำระหนี้แบบทั้งวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ในครั้งเดียว ไม่แบ่งทยอยชำระเป็นรายงวด เพื่อมิให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก
ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ย้ำว่าการได้รับชำระหนี้ E&M จะช่วยเพิ่มกระแสเงินสด เสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่ BTS อย่างมาก และทำให้ BTS มีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากขึ้น จากที่ต้องกู้ยืมสถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้ต่าง ๆ เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องมิให้การบริการสะดุด อย่างไรก็ตามไม่ได้บันทึกเป็นกำไรพิเศษในไตรมาสที่ 4/2566 (ม.ค.-มี.ค. 2567) เนื่องจากได้เคยบันทึกไปก่อนหน้านี้แล้ว
“ประเมินเบื้องต้นขณะนี้เชื่อว่ากทม.น่าจะชำระหนี้ให้เราได้ภายในเดือนนี้ เร็วกว่าที่เคยเจรจากันไว้ว่าจะต้องชำระภายในวันที่ 9 เม.ย. 2567 เพราะวานนี้ได้มีการประกาศลงพระราชกิจจานุเนกษาแล้ว และจากที่เคยคุยกันไว้ กทม.จะชำระทั้งก้อนทีเดียว ไม่แบ่งจ่าย เพื่อไม่ให้เกิดภาระดอกเบี้ยตามมาอีก” นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 เรื่องการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ โดยให้กระทรวงมหาดไทยโดยกทม.เจรจากับ BTSC ส่งผลให้กทม.ยุติการชำระค่างานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) กับงาน E&M ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสถานีสะพานตากสิน-บางหว้า กับอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 แก่ BTSC จนกว่าการต่อสัญญาจะได้ข้อยุติ แต่จนถึงปัจจุบันเรื่องการต่อสัญญาก็ยังไม่ได้ข้อสรุปและยังคงค้างอยู่ในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน สมัยที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ BTS มิได้รับค่าจ้างเดินรถ และงาน E&M เป็นเงินรวมราว 40,000 ล้านบาท
โดยกทม.สมัยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่ากทม. จึงพยายามเร่งหาทางออก เพื่อชำระหนี้ให้แก่ BTSC เป็นบางส่วนก่อน โดยมีการจัดประชุมสภากทม.เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 เพื่อเสนอขอความเห็นชอบในโครงการรับมอบงาน E&M รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 มาเป็นของกทม. พร้อมชำระหนี้ค่างาน E&M แก่ BTSC ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเสียงข้างมาก 44 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 45 คนเห็นชอบเรื่องดังกล่าว
จากนั้นสภากทม.ได้ประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 มกราคม 2567 เพื่อพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพฯ เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากกทม.มีความประสงค์รับมอบงาน E&M เป็นของกทม. และชำระค่างานซื้อขายพร้อมติดตั้งตามความจำเป็นแก่ BTSC โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาด พร้อมลงมติเสียงข้างมาก 46 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 47 คน เห็นชอบด้วยหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติกทม.ดังกล่าว และได้มีการประกาศลงเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 เพื่อชำระเงินแก่ BTSC ตามขั้นตอนต่อไป
เก็งวีจีไอขายเคอรี่ทิ้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 มี.ค. 2567) ราคาหุ้น BTS ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.85% ปิดที่ 5.40 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 934.43 ล้านบาท ขณะที่หุ้นบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.81% ปิดที่ 1.61 บาท มูลค่าซื้อขาย 877.96 ล้านบาท
ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด กล่าวว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX คือ S.F. Holding Co., Ltd. จะทำ Tender Offer หุ้น KEX ในวันที่ 22 มี.ค. เพื่อปรับโครงสร้างการถือหุ้น ก็จะเห็นความชัดเจนแล้วว่า บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI จะขายหุ้น KEX ที่ถืออยู่ 15% ออกไปทั้งหมดหรือไม่ เพื่อลดผลขาดทุนที่เกิดจาก KEX
ขณะที่ VGI รับรู้ผลขาดทุนจาก KEX ราว 640 ล้านบาทต่อปี หากตัดขายหุ้น KEX ทั้งหมดก็จะช่วยให้ผลการดำเนินงานของ VGI ดูดีขึ้น หรือผ่านจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้ว และปัจจุบันแม้จะปรับตัวขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาเป้าหมายของที่ 1.99 บาท โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ”
ด้านบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (“ผู้ทำคำเสนอซื้อ”) ได้ยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหลักทรัพย์ของกิจการ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 โดยกำหนดระยะเวลารับซื้อทั้งสิ้น 28 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2567 นั้น
ล่าสุดบริษัท เอสเอฟฯ แจ้งว่า จำนวนและสัดส่วนของหลักทรัพย์ที่ถืออยู่เดิมและที่มีผู้แสดงเจตนาขายจนถึงสิ้นวันที่ 12 มีนาคม 2567 มีจำนวน 2,786,620 หุ้น คิดเป็น 0.16% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ
รายงานข้อมูลจาก Refinitiv consensus ของ BTS ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 17,943.75 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,233.02 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 8.18 บาท จาก 9 โบรกเกอร์
ที่มา: นสพ.ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 14 มี.ค. 2567