Search
Close this search box.
กทม.ร่วมกับการเคหะนำร่องการปิดปล่องของแฟลตดินแดง 4 แห่ง และส่งเสริมการคัดแยกขยะ

 

 

(13 มี.ค. 67) นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) นำคณะลงพื้นที่พูดคุยและรับฟังปัญหาจากประชาชนผู้พักอาศัยในอาคารแฟลตเคหะชุมชนดินแดง 2 (แฟลต 63-64) พร้อมขอความร่วมมือผู้พักอาศัยลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทิ้งและการจัดเก็บขยะ จากการทิ้งลงปล่องภายในอาคารเปลี่ยนเป็นการนำลงมาทิ้งในจุดพักขยะที่กำหนด เพื่อเป็นการนำร่องขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะในอาคารแฟลตเคหะชุมชนดินแดง ตามนโยบายกรุงเทพมหานครในการส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะต้นทาง และการแยกขยะเศษอาหาร “ไม่เทรวม” 

 

 

จากการพูดคุยและรับฟังปัญหาจากประชาชนผู้พักอาศัยในอาคารแฟลตเคหะชุมชนดินแดง 2 พบว่าเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทิ้งและจัดเก็บขยะ จากการทิ้งลงปล่องขยะภายในอาคารเป็นการนำลงมาทิ้งในจุดพักขยะที่กำหนด เพื่อให้เกิดความสะอาดและสุขลักษณะที่ดีแก่ผู้พักอาศัย เนื่องจากอาคารแฟลตเคหะชุมชนดินแดง 2 เป็นอาคารรูปแบบเก่า มีจำนวนห้องพักอาศัยแฟลตละ 48 ห้อง มีจำนวนฝาขยะสำหรับทิ้งขยะลงปล่องอยู่ภายในห้องทุกห้อง และมีปล่องขยะจำนวน 12 ปล่อง โดยการที่มีฝาเปิดสำหรับทิ้งขยะอยู่ภายในห้องทำให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นขยะ รวมถึงมีสัตว์กัดแทะต่าง ๆ เข้ามาภายในห้องพักได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อโรคและส่งผลกับสุขภาพของผู้อยู่อาศัย 

 

นายพรพรหม กล่าวว่า ในปัจจุบันการทิ้งขยะลงปล่อง ทำให้เกิดปัญหาต่อการเก็บขนขยะมูลฝอยล่าช้า เนื่องจากพนักงานเก็บขยะต้องใช้เวลาในการเก็บขยะจากปล่อง ก่อนขนย้ายไปใส่ถังขยะ จากนั้นนำถังขยะไปเทใส่รถเก็บขนขยะอีกครั้ง เนื่องจากเป็นชุมชนแออัด รถเก็บขยะจึงไม่สามารถเข้าถึงในเขตชุมชนได้ ทำให้เขตดินแดงจึงยังเป็นเขตเดียวในกรุงเทพฯ ที่รถเก็บขยะเข้าไปเก็บขยะได้แค่หนึ่งรอบต่อสัปดาห์ ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะล้นปล่อง เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยในอาชีพของพนักงานเก็บขน อีกทั้งการมีขยะสะสมในปล่องก็ส่งผลต่อสุขลักษณะของชุมชน เกิดเป็นแหล่งพาหะนำโรค กทม. จึงได้ร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติและสำนักงานเขตดินแดง นำร่องปิดปล่องที่แฟลตดินแดง และจะขยายผลไปในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่จากสำนักสิ่งแวดล้อม ได้แนะนำวิธีการคัดแยกขยะเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ประชาชนชาวแฟลตดินแดงช่วยกันคัดแยกขยะก่อนทิ้งตามประเภท 4 ประเภท 4 สี เพื่อลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นจากต้นทางซึ่งสามารถนำขยะที่คัดแยกได้ไปจัดการอย่างถูกวิธี เช่น นำไปทำปุ๋ยหมัก หรือนำไปขายสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ และสำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยในแฟลตดินแดงที่อาจมีปัญหาในการขนย้ายขยะลงมาทิ้งด้านล่าง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติมาช่วยดูแลจัดการขยะให้ 

 

 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้มอบถังขยะแยกประเภท 4 สี 4 ประเภท ได้แก่ ถังสีเขียว สำหรับทิ้งขยะอินทรีย์ ถังสีน้ำเงิน สำหรับทิ้งขยะทั่วไป ถังสีเหลือง สำหรับทิ้งขยะรีไซเคิล และถังสีส้ม สำหรับขยะอันตรายจำนวนแฟลตละ 11 ใบ พร้อมถุงขยะสีดำและถุงแยกเศษอาหารสำหรับแจกจ่ายให้ผู้พักอาศัยในอาคารแฟลตการเคหะชุมชนดินแดง 2 (แฟลต 63-64) โดย กรุงเทพมหานคร ต้องขอความร่วมมือจากทุกคน ช่วยกันแยกทิ้งขยะตามประเภทและนำไปทิ้งในถังขยะ ณ จุดพักขยะที่สำนักงานเขตดินแดงจัดเตรียมไว้

 

 

ด้านนายสุรพล อริยบัญโญทัย ผู้อำนวยการฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง การเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากที่การเคหะแห่งชาติได้รับการประสานและแจ้งนโยบายการจัดการขยะของ กทม. ในการส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะต้นทาง และการแยกขยะเศษอาหาร “ไม่เทรวม” ก็เร่งหารือภายในกับผู้บริหารเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือในการแยกขยะของอาคารแฟลตการเคหะ โดยกำหนดดำเนินการในรูปแบบพื้นที่โครงการนำร่องในอาคารแฟลตเคหะชุมชนดินแดง 1 และ 2 ก่อน พร้อมยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตดินแดง

 

ในส่วนของนายประเทืองวิทย์ ดีใจ ผู้อำนวยการเขตดินแดง กล่าวว่า เขตดินแดงจะกำชับเรื่องเวลาการเข้าจัดเก็บขยะมูลฝอยไม่ให้เกิดความล่าช้า โดยขอความร่วมมือจากผู้พักอาศัยทุกคน ช่วยกันแยกขยะทิ้งตามประเภทและนำไปทิ้งในถังขยะ ณ จุดพักขยะที่สำนักงานเขตดินแดงจัดเตรียมไว้ให้ 

 

 

การลงพื้นที่ในวันนี้มีเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม นำโดย นายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ นำโดย นายสุรพล อริยบัญโญทัย ผู้อำนวยการฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดินแดง นำโดย นายประเทืองวิทย์ ดีใจ ผู้อำนวยการเขตดินแดง

 

#ไม่เทรวม #สิ่งแวดล้อมดี

 

—————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200